แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แนะวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้ใหญ่ ฉีดไว้เพิ่มภูมิคุ้มกัน มีอะไรบ้าง

1189
views

โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพราะตอนเป็นเด็กฉีดวัคซีนครบแล้ว ร่างกายก็คงมีภูมิคุ้มกันโรคอยู่แล้ว แต่มีเหตุผลหลายประการที่วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ยังคงต้องรับวัคซีนบางชนิด

วัคซีนหลายชนิดที่เคยฉีดนั้นไม่สามารถป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต ภูมิคุ้มกันโรคจากวัคซีนที่เคยได้รับในวัยเด็กลดลงตามเวลา อาจนำไปสู่การติดเชื้อได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ถุงลมโป่งพอง หอบหืด ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ที่ตัดม้าม เป็นต้น

วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบ ก็ใช้โอกาสนี้รับวัคซีนเพิ่มเติม โรคติดเชื้อบางชนิดอาจเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันมีวัคซีนชนิดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ซึ่งการฉีดวัคซีนช่วยลดโอกาสการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้อีกด้วย

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ Influenza vaccine แนะนำให้ฉีดทุกปี เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี โดยฉีดปีละ 1 ครั้ง ช่วงก่อนมีการระบาด ในประเทศไทยมักระบาด 2 ช่วงคือ ช่วงฤดูฝนและช่วงฤดูหนาว

วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ Hepatitis A vaccine โรคนี้ติดต่อจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคตับเรื้อรัง ผู้ที่มีอาชีพประกอบอาหาร หรือผู้อาศัยอยู่ในที่ที่มีผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างแออัด โดยฉีด 2 ครั้งห่างกัน 6-12 เดือน เชื่อว่าจะมีภูมิคุ้มกันนานเกิน 10 ปี หรือวัคซีนชนิดเชื้อเป็นฉีดเพียงครั้งเดียว

วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี Hepatitis B vaccine แนะนำให้ฉีด เนื่องจากคนที่ติดเชื้อส่วนหนึ่งเมื่อหายจากตับอักเสบอาจกลายเป็นพาหะของโรค สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ทางเลือดและสารคัดหลั่ง เช่น ทางเพศสัมพันธ์ จากแม่สู่ลูกขณะคลอด ทางการให้เลือด หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน อีกทั้งผู้ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลานานอาจเป็นตับอักเสบเรื้อรัง และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับในอนาคต โดยวัคซีนไวรัสตับอักเสบ บีต้องฉีดทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งที่ 2 ห่างครั้งแรก 1-2 เดือน ครั้งที่ 3 ห่างครั้งแรก 6-12 เดือน

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดไร้เซลล์ Tdap หรือ TdaP แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักในคนทั่วไป 3 ครั้ง โดย 1 ใน 3 ครั้ง ควรเป็นวัคซีน Tdap หรือTdaP และฉีดกระตุ้นบาดทะยักทุก 10 ปี
วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส Varicella vaccine ฉีดในผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน โดยฉีด 2 ครั้งห่างกัน 4-8 สัปดาห์ หญิงวัยเจริญพันธุ์ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 1 เดือนหลังฉีดวัคซีน

วัคซีนป้องกันงูสวัด Herpes zoster แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดสูงสุด ผู้ป่วยที่มีอายุ 50 – 59 ปีที่มีความประสงค์จะรับวัคซีนนี้ ควรปรึกษาแพทย์เนื่องจากวัคซีนนี้สามารถป้องกันโรคงูสวัดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในช่วง 5 ปีแรก แนะนำฉีดเพียงครั้งเดียวไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้นซ้ำ

วัคซีนป้องกันเอชพีวีในผู้หญิง HPV vaccine เป็นวัคซีนที่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70% แนะนำให้แก่ผู้หญิงอายุ 9-45 ปี ไม่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ หลังฉีดวัคซีนแล้วยังต้องมารับการตรวจภายในและตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ

วัคซีนป้องกันเอชพีวีในผู้ชาย HPV vaccine ป้องกันการติดเชื้อบริเวณทวารหนัก โรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งของทวารหนัก

วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม Measles-Mumps-Rubella vaccine : MMR ในผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยป่วยเป็นโรคทั้ง 3 นี้มาก่อน รวมทั้งผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 ครั้ง ควรได้รับวัคซีนรวมอย่างน้อย 1 ครั้ง หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันมาก่อน ควรได้รับวัคซีนหัดเยอรมันหรือวัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูมอย่างน้อย 1 ครั้ง และหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 3 เดือนหลังฉีดวัคซีน

วัคซีนนิวโมคอคคัส Pneumococcal vaccine เพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคติดเชื้อในกลุ่มผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กเล็กและผู้อายุมากกว่า 65 ปี ผู้ที่ไม่มีม้าม หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยในผู้ใหญ่ฉีดวัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ ฉีดเพียงครั้งเดียว และอาจฉีดกระตุ้นด้วยชนิด 23 สายพันธุ์อีกครั้งหลังฉีดครั้งแรก 1 ปีขึ้นไป

วัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ แต่มีบางรายที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนที่จะตั้งครรภ์ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดโรค ซึ่งวัคซีนที่แนะนำให้ฉีดมีดังนี้

วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก Tdap ในปัจจุบันได้พบการระบาดของโรคคอตีบในประเทศไทยและพบไอกรนมากขึ้น ซึ่งเด็กทารกที่คลอดออกมา กว่าจะมีภูมิคุ้มป้องกันโรคได้จะต้องได้รับวัคซีน 3 ครั้งจึงจะป้องกันโรคได้ (อายุ 6 เดือน) การให้วัคซีนในมารดา จะช่วยป้องกันการติดเชื้อในทารกช่วงแรกได้ โดยอายุครรภ์ที่เหมาะสมคือ 27-36 สัปดาห์ (ไตรมาสที่ 3)โดยในหญิงตั้งครรภ์จะได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก 2 ครั้ง ในครั้งที่ 2 ให้ฉีดเป็นวัคซีน Tdap หรือ TdaP และในทุกการตั้งครรภ์ควรได้ Tdap หรือTdaP 1 ครั้ง ถึงแม้จะเคยได้รับมาก่อนก็ตาม

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ทำอันตรายสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะหากเป็นแล้วจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวม เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรือหัวใจวายได้ จึงแนะนำให้วัคซีนนี้ฉีด 1 เข็ม ป้องกันได้ 1 ปี

ดังนั้น ควรหมั่นดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ตลอดจนหมั่นมาตรวจสุขภาพร่างกายเพื่อค้นหาความผิดปกติแต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงค่อยมาพบแพทย์เพื่อรักษา ซึ่ง“วัคซีน”ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้สามารถป้องกันการติดเชื้อจากโรคที่สามารถป้องกันได้

ดูข่าวต้นฉบับ

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE