การบริหารธุรกิจสินเชื่อของสหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอ ในเมืองคอน

769
views

สินเชื่อ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งต่อผู้บริโภค หน่วยธุรกิจ สถาบันการเงินและรัฐบาล ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับการบริหารสินเชื่อเพื่อให้ดำเนินงานเกี่ยวกับการพิจารณาสินเชื่อและการใช้สินเชื่อให้เกิดประโยชน์ และทรงคุณค่าแก่ทุกฝ่าย การบริหารสินเชื่อเป็นเรื่องเกี่ยวข้องทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารสินเชื่อทุกคนจะต้องศึกษาทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อนำไปสู่ภาคการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ส่วนที่กล่าวว่าการบริหารสินเชื่อเป็นศาสตร์นั้น หมายความว่า จะต้องนำหลักเกณฑ์ทางการทฤษฎีต่าง ๆ มาเป็นหลักคิดพิจารณาเพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการดำเนินงานหรือใช้ประกอบการตัดสินใจ ในส่วนที่ถือว่าการบริหารสินเชื่อเป็นศิลป์ นั้น หมายความว่าในการนำเอาหลักคิดทฤษฎีต่าง ๆ ทางสินเชื่อมาสู่วิธีการปฏิบัตินั้น จะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์หรือวิธีการที่เหมาะสม โดยผนวกเข้ากับประสบการณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องในการบริหารสินเชื่อเพื่อให้ประสบผลสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ โดยทั่วไปยังคงใช้กระบวนการตามหลักการบริหารทั่วไปร่วมกับหลักบริหารเฉพาะที่ใช้กับสินเชื่อด้วย เพื่อให้ประสบผลสำเร็จ โดยนำหลักการบริหารทั่วไป มาใช้ในการดำเนินธุรกิจสินเชื่อของสหกรณ์ ประกอบด้วย

1. การวางแผน (Planning) คือ ต้องการให้ผู้ขอกู้หรือผู้ขอรับสินเชื่อได้รับเงินกู้แล้ว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้เต็มที่ มีผลคุ้มค่ากับดอกเบี้ย จนสามารถส่งชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยได้ในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้น การวางแผนจะต้องกำหนดนโยบายเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจนเพื่อให้ดำเนินการบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่วางไว้รวมทั้งต้องคำนึงถึงการจัดเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน
2. การจัดองค์การ (Organizing) คือ การจัดองค์การให้เหมาะสมกับรูปแบบการบริหารสินเชื่อตามที่ได้กำหนดไว้ในเป้าหมายและวัตถุประสงค์การจัดประเภทงานและสายงานให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภารกิจวัตถุประสงค์ และสามารถดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
3. การจัดกำลังคนให้เหมาะสมกับงาน (Staffing) การจัดคนให้เหมาะสมกับงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการบริหารงานสินเชื่อ ดังนั้น จึงควรเลือกคนที่มีความเหมาะสมกับงานเพื่อให้สามารถทำงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งยังต้องพิจารณาในเรื่องปัญหาความขัดแย้ง ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละสายงาน เพื่อให้ทุกคนทำงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันขององค์การเป็นสำคัญ
4. การกำหนดสายการบังคับบัญชา (Directing) เป็นการกำหนดความรับผิดชอบของ
คนในองค์การว่าใครขึ้นตรงต่อใคร เพื่อประสานการปฏิบัติงานให้มีความคล่องตัวมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
5. การควบคุม (Controlling) เป็นการกำหนดหน้าที่ในการควบคุมประสิทธิภาพของ การบริหารจัดการ ว่าภารกิจได้ดำเนินงานไปตามขั้นตอนและแผนงานที่วางไว้หรือไม่ หากมีข้อบกพร่องหรือปัญหาในขั้นตอนใด ก็สามารถนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขได้ถูกต้องและทันต่อเวลา ซึ่งในการควบคุมนั้นจำเป็นจะต้องอาศัยข้อมูลตัวเลข ดัชนี อัตราส่วน และวิธีการทางสถิติต่าง ๆ ตามความเหมาะสมเพื่อสามารถแยกแยะผลการดำเนินงาน และปัญหาในแต่ละด้านได้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การค้นหาปัญหาและสาเหตุที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานเพื่อจะได้กำหนดวิธีการแก้ไขได้อย่างถูกต้องตรงจุดของปัญหา นอกจากการนำหลักการบริหารทั่วไปมาใช้ในการบริหารสินเชื่อแล้ว เรายังต้องมีหลักบริหารเฉพาะกับสินเชื่อมาใช้ควบคุมไปด้วย เพราะในการบริหารธุรกิจสินเชื่อนั้นจะต้องแตกต่างจากธุรกิจการค้าและการให้บริการทั่วไปในธุรกิจการค้าเมื่อมีการส่งมอบสินค้าหรือบริการเกิดขึ้นก็จะมีการชำระราคาของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ใช้บริการ แต่การให้บริการสินเชื่อนั้นเมื่อมีการส่งมอบสินเชื่อแล้ว การชำระราคา (ดอกเบี้ย) และการส่งคืนต้นเงินกู้จะเกิดขึ้นในภายหลังโดยมีข้อตกลงกันว่ามีการส่งชำระคืนเมื่อใดและจะชำระราคากันอย่างไร ดังนั้นในช่วงเวลาที่ยังไม่มีการชำระราคา (ดอกเบี้ย) หรือส่งคืนเงินต้นกู้ผู้ให้กู้ต้องมีความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระหนี้คืนภายในระยะเวลาที่ตกลงกัน

ดังนั้นในการดำเนินงานเกี่ยวกับด้านสินเชื่อต้องมีหลักเกณฑ์ที่ต้องควรพิจารณาเพิ่มเติมดังนี้
(1) การควบคุมลูกหนี้ให้ใช้เงินกู้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์
(2) การควบคุมให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงผู้ให้กู้
(3) การช่วยเหลือดูแลการดำเนินงานของลูกหนี้โดยการติดตามผลการประกอบการ
(4) การดูแลหลักประกันไม่ให้เสื่อมค่า
(5) การดูแลอายุความและความสมบูรณ์ของเอกสารสัญญาเอกสารสัญญาหรือข้อตกลงต่าง ๆ
(6) การเตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี หากพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับลูกหนี้

ซึ่ง การบริหารธุรกิจสินเชื่อของสหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช อาจนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละสหกรณ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจสินเชื่อได้ ดังนี้
1. ชี้แจงทำความเข้าใจในที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์เพื่อดำเนินการพร้อมแต่งตั้งคณะปฏิบัติการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาธุรกิจสินเชื่อของสหกรณ์
2. สหกรณ์ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไปกำหนด
แนวทางการแก้ไขปัญหา กำหนดแผนต่าง ๆ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม
3. สหกรณ์จัดทำแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินค้างชำระของสหกรณ์ และแผนธุรกิจสินเชื่อ
ของสหกรณ์ แผนป้องกันการเกิดซ้ำ แผนพัฒนาอาชีพสมาชิก เพื่อกำหนดรายละเอียดและหาความคุ้มค่าและรายรับ – รายจ่ายของธุรกิจสินเชื่อของสหกรณ์ ดำเนินการกำหนดตัวผู้รับผิดชอบ เป้าหมาย การสอบทานหนี้ วิเคราะห์ลูกหนี้และกำหนดศักยภาพ
4. จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินค้างชำระของสหกรณ์และแผนธุรกิจสินเชื่อของสหกรณ์แผนป้องกันการเกิดซ้ำ แผนพัฒนาอาชีพสมาชิก และการเชื่อมโยงธุรกิจภายในของสหกรณ์
5. ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการการเร่งรัดหนี้และการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระ แผนป้องกันการเกิดซ้ำ แผนพัฒนาอาชีพสมาชิก และการเชื่อมโยงธุรกิจภายในของสหกรณ์
6. ติดตามประเมินผล ทบทวนแผน ตามระยะเวลาที่กำหนด สรุปผลการดำเนินการ

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE