5 พฤติกรรมเสี่ยง และวิธีป้องกัน “นิ้วล็อค”

1507
views
นิ้วล็อค

โรคนิ้วล็อค ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Trigger Finger” เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย พบบ่อยในช่วงวัยกลางคน และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ประมาณ 2-6 เท่า โดยมีสาเหตุมาจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการงอข้อนิ้วมือ ซึ่งอยู่ตรงบริเวณโคนนิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นหนาตัวขึ้น และติดขัดในการเคลื่อนไหวขณะเหยียดนิ้วมือ เมื่ออักเสบรุนแรงมากขึ้นจะเกิดปุ่มตรงเส้นเอ็น เวลางอนิ้วมือปุ่มจะอยู่นอกปลอกหุ้ม แต่ไม่สามารถเคลื่อนเข้าปลอกหุ้ม เวลาเหยียดนิ้วมือกลับไป ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกอยู่ในท่างอ ต้องออกแรงช่วยใน การเหยียด จึงจะสามารถฝืนให้ปุ่มเคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเข้าไปได้

กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อค

1. ผู้ที่มีความจําเป็นต้องทํางานในลักษณะเกร็งนิ้วมือบ่อยๆ เป็นระยะเวลานาน เช่น คนทำสวนที่ใช้กรรไกร มีด ตัดหรือฟันกิ่งไม้ ใช้จอบ เสียม ขุดดิน คนขายของหิ้วสินค้าเดินเร่ขาย ช่างไฟฟ้า ช่างโทรศัพท์ ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างปูน ช่างตัดเสื้อผ้า ช่างทำผม ช่างเจียระไนพลอย ทันตแพทย์ แม่บ้าน คนส่งน้ำขวด คนส่งแก๊ส คนทำขนม นวดแป้งและซาลาเปา พนักงานธนาคารที่หิ้วถุงเหรียญหนักๆ เป็นประจำ นักกอล์ฟ นักแบดมินตัน นักเขียน ครู นักบัญชี เป็นต้น

2.ผู้ที่มีโรคประจําตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคเก๊าท์ หรือโรครูมาตอยด์ เป็นต้น จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ้วล็อคมากขึ้น

5 พฤติกรรมเสี่ยง และวิธีป้องกัน “นิ้วล็อค”

นิ้วล็อค

1.ใช้นิ้วมือในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน เช่น พิมพ์งาน คลิกเม้าส์ เล่นเกมส์ ใช้กรรไกรตัดสิ่งของที่ใช้แรงบีบมาก โดยอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน ควรพักมือเป็นระยะๆ และออกกําลังกายยืดกล้ามเนื้อมือ หรือแช่น้ำอุ่น ร่วมกับการขยับมือกําแบในน้ำเบาๆ

2.หิ้วของหนักเกินไป หรือใช้นิ้วเดียวยกของ หากจำเป็นต้องหิ้วก็ต้องใช้ผ้าขนหนูรองถุงหิ้ว เพื่อให้ช่วยรับน้ำหนักของฝ่ามือ จะช่วยลดการเกิดนิ้วล็อคและเจ็บปวดของมือได้

3.บิดผ้าหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมาก ๆ ยิ่งถ้าบิดผ้าแห้งมากเท่าไร ยิ่งป็นการทำร้ายปลอกเอ็นข้อมือมากเท่านั้น ถ้าทำบ่อยๆ จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นการเกิดนิ้วล็อคได้

4.หากจำเป็นต้องทำงานที่ต้องใช้มือกำ บีบ จับ หรือยกของหนักประจำ เป็นเวลานาน ๆ ควรใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้น ใช้ฟองน้ำหรือผ้านุ่มๆ พันรอบข้อมือขณะจับสิ่งของ ควรระวังการกำหรือบดในขณะที่ต้องใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น เลื่อย ไขควง ค้อน รถเข็น รถลาก เป็นต้น ควรใส่ถุงมือหรือห่อหุ้มด้ามจับให้ใหญ่และนุ่มขึ้น

5.การเล่นกีฬาประเภท ตีกอล์ฟ การตีเทนนิส ตีแบดมินตัน ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดนิ้วล็อคมากกว่ากีฬาประเภทอื่น เพราะต้องใช้กำลังแขนและข้อมือในการตีลูกอย่างแรงและต่อเนื่อง จึงควรใช้ผ้าหุ้มด้ามจับให้หนาและนุ่ม และพยายามหลีกเลี่ยงการเล่นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ

การรักษาโรคนิ้วล็อค

1. ให้ยารับประทาน เพื่อลดอาการปวด บวม อักเสบ และพักการใช้งานของมือ ไม่ใช้งานรุนแรง

2. ใช้เครื่องดามนิ้ว หรือการนวดเบา ๆ การประคบร้อน และการทํากายภาพบําบัด

3. การฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์เฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบ ลดการบวมของเส้นเอ็น แต่การฉีดยาอาจทําให้อาการดีขึ้นได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ และสามารถกลับมาเป็นซ้ําอีกได้ใน ระยะเวลาไม่นาน ข้อจํากัดในการรักษานี้คือ ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 หรือ 3 ครั้งต่อนิ้วที่เป็นโรค

4. การผ่าตัด โดยการตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาอยู่ให้เปิดกว้าง เพื่อให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านได้สะดวก ไม่ติดขัด หลังผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยแผลหลังผ่าตัดห้ามโดนน้ําประมาณ 1-2 อาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดโดยใช้เข็มเขี่ย ซึ่งยังไม่ใช่วิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน

 ท่า บริหารมือง่ายๆ ป้องกัน นิ้วล็อค

3 ท่า บริหารมือง่ายๆ ป้องกัน “นิ้วล็อค”

1. ยืดกล้ามเนื้อแขนขึ้นระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันข้อมือให้กระดกขึ้นและลง ค้างไว้ 10 วินาที เซ็ตละ 6-10 ครั้ง

2. บริหารโดยการแบและกำมือ หรือใช้ลูกบอลช่วยเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ

3. สวมใส่ยางในนิ้วมือ แล้วเหยียดนิ้วออกค้างไว้ 10 วินาที แล้วปล่อยมือ

ดูต้นฉบับ

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE