วันมาฆบูชา เกิด ๔ เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน เป็น จาตุรงคสันนิบาต

1768
views

‘วันมาฆบูชา’ หรือ ‘วันจาตุรงคสันนิบาต’ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปฏิโมกข์ และมี ๔ เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน

จาตุรงคสันนิบาต หมายถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 อย่างในวันเดียวกัน คือเกิดในสมัยพุทธกาลในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ตอนที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ ซึ่งต่อมาถือกันว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า วันมาฆบูชา เหตุการณ์ 4 อย่าง คือ

1.พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย

2.พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา

3. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ

4. วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)

ซึ่งในโอกาสนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า โอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ 20 พรรษาแรก เฉพาะครั้งแรกในวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3) หลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน เป็นการแสดงปาติโมกข์ที่ประกอบด้วยองค์ 4 เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งๆ หรือจะเรียกว่าเป็นการประกาศตั้งศาสนาก็ได้ (อรรถกถาแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” นี้ ด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอด 20 พรรษาแรก หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง “อาณาปาติโมกข์” แทน)

โอวาทปาติโมกข์ หลักปฏิบัติ ในการเผยแผ่ประกาศธรรม พระพุทธเจ้ากี่พระองค์ ตรัสแสดงเหมือนกันหมด

โอวาทปาติโมกข์ หลักปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสงฆ์ สำหรับพิชิตความยากลำบาก ในการเผยแผ่ ที่ต้องผจญกับมานะทิฐิ บนหลากหลายความเชื่อ ของบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ทุกยุคทุกสมัย แม้พระภิกษุสงฆ์ ผู้เผยแผ่จะเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ตาม ก็ต้องมีหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการ ดังนี้

ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา : ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง

นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา : พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นเยี่ยม

น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี : ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ : ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

สพฺพปาปสฺส อกรณํ : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง

กุสลสฺสูปสมฺปทา : การบำเพ็ญแต่กุศลให้ถึงพร้อม

สจิตฺตปริโยทปนํ : การทำจิตของตนให้ผ่องใส

อนูปวาโท อนูปฆาโต : การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย

ปาติโมกฺเข จ สํวโร : ความสำรวมในปาติโมกข์

มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ : ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร

ปนฺตญฺจ สยนาสนํ : ที่นั่งนอนอันสงัด

อธิจิตฺเต จ อาโยโค : มีความเพียรในอธิจิต

โอวาทปาติโมกข์ หลักธรรมคำสอนที่สำคัญ หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ หลักธรรม ๓ อุดมการณ์ ๔ และ วิธีการ ๖

โอวาทปาติโมกข์ เป็นเสมือน คาถาศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้รับรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ประทาน ไว้เหมือนกันหมด เมื่อต้องเผยแผ่ประกาศพระศาสนา ให้มั่นคงและเจริญรุ่งเรือง เป็นที่พึ่งของมนุษย์และเทวดา…

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE