ประเพณีขันหมากพระปฐม งานบุญวิวาห์จำลอง งานที่มีแบบอย่างมาจากพระพุทธประวัติ ที่หาดูยากยิ่งในปัจจุบัน

7243
views

ประเพณี “ยกขันหมากปฐม” บางท้องที่เรียกว่า “ยกขันหมากพระถม” เป็นงานบุญอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านและวัดร่วมกันจัดขึ้นเพื่อเรี่ยไรเงินเข้าวัด คล้ายกับงานทอดผ้าป่าหรือทอดกฐิน – อานิสงน์บุญส่งผลในด้านความรัก มีแต่ความสุขความสมหวัง

ขันหมากปฐม

“ยกขันหมากปฐม” โดยการสมมุติเหตุการณ์ย้อนหลังไปครั้งพุทธกาล อาศัยเค้าเรื่องจากพุทธประวัติในคัมภีร์พระปฐมสมโพธิ ตอนวิวาหมงคลระหว่างพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางสิริมหามายา มีการสมมุติคู่บ่าวสาวขึ้นแทนพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา และสมมุติบุคคลอื่น ๆ เป็นเครือญาติตามพุทธประวัติ เช่น พระมาตุจฉา พระมาตุลา พระปิตุจฉา พระปิตุลา เป็นต้น ด้วยเหตุที่งานบุญนี้มีการยกขันหมากเหมือนงานแต่งงานจริง ประกอบกับจัดโดยอาศัยเค้า พุทธประวัติในคัมภีร์พระปฐมสมโพธิจึงเรียกว่า “ยกขันหมากปฐม”

ขันหมากพระปฐม

“ยกขันหมากปฐม” จะสมมุติเอาวัด (อาจเป็นโรงเรียนหรือสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ตามที่เห็นสมควร) เป็นสถานที่ประกอบพิธีแต่งงาน โดยจัดพิธีตามขนบประเพณีของท้องถิ่น บรรดาสิ่งของที่นำมาจัดขันหมากก็ดี เงินสินสอดก็ดี เงินขวัญถุงที่บรรดาผู้ไปร่วมงานมอบให้แก่คู่บ่าวสาวก็ดี จะรวบรวมถวายวัดหรือบำรุงการกุศล

ขันหมากพระปฐม

“ยกขันหมากปฐม” จะจัดขึ้นเมื่อใดแล้วแต่ความพร้อมของวัดและชาวบ้าน จัดได้ทุกเดือน ทุกฤดูกาล เว้นระยะเข้าพรรษา แต่ส่วนมากนิยมจัดกันหลังฤดูเก็บเกี่ยว ประมาณเดือนมีนาคม เป็นต้นไป

ขันหมากพระปฐม

ส่วนคู่บ่าวสาว ผู้ที่เลือกเฟ้นมาสมมุติเป็นตัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาว จะเลือกจากคนโสดที่มีลักษณะดี สวยงาม กล้าและฉลาดในการเรี่ยไร บางแห่งต้องการจัดให้เป็นงานใหญ่ หาเงินได้มาก จะสมมุติให้มีการสมรสพร้อมกันหลายคู่ คู่บ่าวสาวสมมุติอาจเป็นชายจริงหญิงแท้หรือเป็นหญิงทั้งคู่ เป็นชายทั้งคู่ก็ได้ จะใช้เด็กเล็กๆ ก็ได้

ขันหมากพระปฐม

ขันหมากพระปฐม

เจ้าภาพหรือผู้ใหญ่ ผู้ที่จะสมมุติเป็นบิดาและมารดาของเจ้าบ่าวเจ้าสาว มักเลือกเอาผู้ที่มีคนนับหน้าถือตามากๆ ถ้ามีฐานะดีด้วยก็ยิ่งดี เพราะจะได้เพิ่มค่าสินสอดหรือค่าเงินใส่หัวขันหมาก ได้สูงยิ่งขึ้น บางครั้งจะเลือกผู้เป็นเจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวให้เป็นคนต่างละแวกกัน เพื่อเสริมสร้างสามัคคีและขยายงานให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในกรณีคู่บ่าวสาวที่สมมุติเป็นพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายานั้น ผู้ที่สมมุติให้เป็นวงศาคณาญาติจะเลือกเฟ้นกันเป็นพิเศษ และถือเป็นเกียรติอย่างสูงของผู้ที่ได้รับการสมมุติ

ขันหมากพระปฐม

ต้องแต่งกายอย่างกษัตริย์ ซึ่งอาจหยิบยืมเครื่องแต่งกายจากคณะโนราหรือคณะลิเก บางรายศรัทธาแก่กล้าถึงกับยอมลงทุนจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เสร็จพิธีแล้วถวายเป็นสมบัติของวัดไปก็มี

การจัดขันหมากปฐม เมื่อใกล้ถึงวันกำหนด ทั้ง ๒ ฝ่ายจะจัดเตรียมขันหมาก จัดตกแต่งอย่างสวยงาม สิ่งที่ใส่ในขันหมากมีหมากและพลู (ไม่ใช้ขนม) นิยมจัดหมากและพลูให้มีอัตราส่วนเป็นพลู ๑ แบะ (แถว) ต่อหมาก ๕ ผล จะมีจำนวนพลูกี่แบะก็ได้โดยให้หมากเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วน นอกนั้นก็มีคล้ายขันหมากแต่งงานจริง (แต่งงานจริงอาจจัด ๙ หรือ ๑๑ ขัน)

ขันหมากปฐม

เงินสินสอดและเงินหัวขันหมาก หัวใจของงานยกขันหมากปฐมคือ “เงินใส่หัวขันหมาก” เป็นเงินที่ทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแข่งขันกันจัดหาให้ได้มากที่สุด และมักปิดไว้เป็นความลับ ค่อยรู้กันตอนเปิดดูเงินหัวขันหมากในพิธี เงินจำนวนนี้สมมุติให้เป็นเงินที่ผู้ใหญ่ทั้ง ๒ ฝ่ายมอบให้แก่คู่สมรสเพื่อนำไปใช้ก่อร่างสร้างตัวเป็นครอบครัวใหม่ แต่ที่จริงก็คือเงินที่จะถวายวัด หรือเพื่อการกุศลนั่นเอง จึงอาจได้มาจากผู้ที่เป็นเจ้าภาพและญาติมิตรร่วมกันอนุโมทนาหรือจัดหา ยิ่งหาได้มากเท่าใดถือเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของบรรดาญาติมิตรของผู้ที่สมมุติเป็นญาติผู้ใหญ่ของคู่สมรส

ขันหมากปฐม

เงินอีกส่วนหนึ่งคือ “เงินสินสอด” เงินจำนวนนี้อาจช่วยกันกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีเท่าใด เมื่อกำหนดแล้วจะต้องจัดหามาให้ครบ แต่ส่วนมากจะกำหนดให้พอเหมาะตามฐานะ และภาวะเศรษฐกิจของท้องถิ่นในขณะนั้น “เงินสินสอด” นี้ เป็นหน้าที่ของผู้ที่สมมุติตัวเป็นเจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าว

ขันหมากปฐม

ขั้นตอนพิธีกรรม เมื่อถึงวันกำหนดนัดจะปฏิบัติเหมือนประเพณีแต่งงานจริงของแต่ละท้องถิ่น คือ

๑. ฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะจัดเตรียมขันหมาก และยกขันหมากออกจากบ้านไปที่วัด หรือสถานที่อื่น ๆ ที่กำหนดขึ้น

ขันหมากปฐม

๒. ให้ขบวนของฝ่ายเจ้าสาวไปถึงก่อน เพราะสมมุติเอาสถานที่นั้นเป็นเสมือนบ้านของ เจ้าสาว (บางท้องถิ่นให้ฝ่ายเจ้าสาวจัดเตรียมแต่งตัวในสถานที่นั้น ๆ เลยก็ได้โดยไม่ต้องเข้าขบวนแห่ก็มี)

๓. เมื่อเจ้าสาวพร้อมแล้วขบวนขันหมากของเจ้าบ่าวจึงถึงมาทีหลัง
การแห่ขันหมากนับว่าเป็นตอนที่สวยงามและเป็นที่สนุกสนานของชาวบ้าน อาจมีผู้นำเงินมาสมทบใส่หัวขันหมากเพิ่มเติมได้ตลอดทาง

ขันหมากปฐม

๔. เมื่อขบวนขันหมากของฝ่ายเจ้าบ่าวมาถึงใกล้เขตจัดพิธี ฝ่ายเจ้าสาวอาจจะนำผ้าหรือเชือกมากั้นขวางไว้ ไม่ยอมให้ขบวนเข้าไปจนกว่าจะมีผู้นำเงินมาให้เท่าจำนวนที่เรียกร้อง อาจต่อรองกันอย่างสนุกสนานเหมือนธรรมเนียมการแต่งงานจริง ซึ่งเป็นอีกช่วงหนึ่งที่จะเรี่ยไรเงินเข้าวัดได้เพิ่มขึ้น

ขันหมากปฐม

๕. เมื่อขบวนขันหมากและญาติมิตรของทุกฝ่ายถึงที่ประกอบพิธีพร้อมแล้ว (มักประกอบพิธีที่โรงธรรมหรือที่ที่ปลูกขึ้นเฉพาะ ไม่นิยมจัดในอุโบสถ) แล้วดำเนินพิธีเช่นเดียวกันกับการแต่งงานจริง

ขันหมากปฐม

๖. เสร็จแล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่ละคู่ก็จะแยกย้ายกันกราบไหว้บิดามารดา (สมมติ) ญาติผู้ใหญ่ (สมมติ) ของแต่ละฝ่าย บิดามารดาญาติผู้ใหญ่แต่ละคนก็จะให้พรและมอบของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาว (ซึ่งส่วนมากเป็นเงิน มากน้อยตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน)

๗. จากนั้นก็ดำเนินพิธีทางศาสนา คู่บ่าวสาวกราบพระ พระสวดให้ศีลให้พร อาจมีการฟังเทศน์ฟังธรรมด้วย

ขันหมากปฐม

๘. เสร็จแล้วคู่บ่าวสาวก็จะกราบไหว้ผู้ที่ไปร่วมงานทุกคน ซึ่งล้วนสมมุติว่าเป็นญาติมิตรทั้งสิ้น เมื่อกราบไหว้ผู้ใดผู้นั้นก็จะต้องมอบเงินให้เป็นของขวัญมากน้อยตามกำลังเช่นเดียวกัน

๙. นำเงินซึ่งเป็นของขวัญทั้งหมดมารวมกับเงินหัวขันหมาก เงินสินสอดถวายวัดหรือมอบไว้เพื่อการกุศลตามเจตนาของการจัดงานต่อไป

๑๐. เสร็จแล้วก็รับประทานอาหารร่วมกัน เป็นอันเสร็จพิธี

ขันหมากปฐม

ประเพณียกขันหมากปฐมในบางท้องถิ่นมีพิธีเรียงสาดเรียงหมอนด้วย โดยนำของต่าง ๆ มาวางไว้แล้วให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวเสี่ยงทายเลือกของนั้น ตามประเพณีถือว่าเป็นการเสี่ยงเพื่อทายอุปนิสัย แต่ผู้ร่วมพิธีคนอื่น ๆ อาจอธิษฐานให้ผลจากการเสี่ยงทายนั้นเป็นนิมิตหมายบอกอุปนิสัยของคนที่ตนเองปรารถนาจะรู้ ของที่นำมาประกอบการเรียงสาดเรียงหมอนและคำทำนายกำหนดไว้ดังนี้คือ

ดอกไม้ ทายว่า คู่สมรสจะสดชื่นอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

ธูปเทียน ทายว่า คู่สมรสเป็นคนใจบุญ โอบอ้อมอารี

กรรไกร ทายว่า เป็นคนเรียบร้อย

ขันหมากปฐม

มีดโกน ทายว่า มีความฉลาดแหลมคม

หินลับมีด ทายว่า เป็นคนที่จะต้องคอยตักเตือนจึงจะทำทุกสิ่งทุกอย่างได้

รวงข้าว ทายว่า ทำการทำงานดี อุดมสมบูรณ์

แหวน ทายว่า จะมีฐานร่ำรวย

ประเพณียกขันหมากปฐม นับว่าเป็นงานบุญที่ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคีขึ้นในท้องถิ่น ทำให้แต่ละคนสามารถเข้าร่วมงานบุญนี้ได้ตามกำลังความสามารถของตน ทั้งยังช่วยอนุรักษ์ประเพณีการแต่งงานของท้องถิ่นได้ส่วนหนึ่ง เปิดโอกาสให้คนต่างเพศต่างวัยและต่างถิ่นได้ใกล้ชิดสนิทสนมกัน และสนุกสนานร่วมกัน และยังเป็นทางที่จะจรรโลงศาสนาได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าประเพณีนี้นับวันแต่จะหาดูได้ยาก

ที่มา : MedeeTV | Ying Sangjan | oknation.nationtv.tv | tasak.go.th

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE