พระศิวะ คืนเมืองยุครุ่งเรืองจะบังเกิด กับเมืองนครศรีรรมราช

1388
views

นครศรีธรรมราช – นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบพิธีอัญเชิญเคลื่อนย้าย ศิวลึงค์ (รูปเคารพแทนพระศิวะ หรือพระอิศวร) ขนาดสูง 198 ซม. กว้าง 30 ซม.หนัก 385 กก.เป็นศิวลึงค์โบราณอายุกว่า 1,300 ปีคืนสู่นครศรีธรรมราช หลังสูญหายไปจากเมืองนครกว่า 41 ปี

เย็นวันที่ (3 พ.ย.65) ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนางพิชานันท์ เผือกผ่อง เข้าร่วมในพิธีอัญเชิญองค์ศิวลึงค์คืนสู่จ.นครศรีธรรมราช โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่และผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาเข้าร่วมในพิธี

สำหรับองค์ศิวลึงค์ที่ได้อัญเชิญกลับคืนสู่นครศรีธรรมราชนั้น เชื่อว่าเป็นศิวลึงค์องค์สำคัญ ซึ่งมีขนาดใหญ่ ความสูง 198 ซม. กว้าง 30 ซม. มีน้ำหนักโดยประมาณถึง 385 กิโลกรัม เป็นศิวลึงค์โบราณ อายุกว่า 1,300 ปี แกะสลักจากหินทราย ที่มีสภาพสมบูรณ์ โดยคาดว่าถูกเคลื่อนย้ายไปจากจังหวัดนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ. 2524 หรือ 41 ปี ที่ผ่านมา เพื่อนำออกไปนอกประเทศ แต่ไม่สามารถเลื่อนย้ายออกไปนอกประเทศได้ ด้วยสาเหตุผู้ที่นำไปนั้นได้เสียชีวิตลง และได้มีการนำศิวลึงค์องค์ดังกล่าว มาถวายแก่พระครูโสภณประชานุกูล (จรัล อิทธิมนฺโต) เจ้าอาวาสวัดนารายณิการาม ต.เหล อ.กะปง จ.พังงา ซึ่งได้ดูแลเก็บรักษาองค์ศิวลึงค์ไว้เพื่อรอการตรวจสอบและหาที่มา

ในปี พ.ศ. 2557 ทางกรมศิลปกรได้เข้าทำการสำรวจ ตรวจสอบจนแน่นชัดว่าเป็นของแท้ จึงได้ลงในประกาศราชกิจจานุเบกษาและขึ้นทะเบียนศิวลึงค์ดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 หลังจากนั้นได้มีการประสานงานไปตามระเบียบ ขั้นตอนเพื่อทำการส่งมอบศิวลึงค์ดังกล่าวคืนสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้จากขนาดและน้ำหนักของศิวลึงค์แห่งนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) เป็นศิวลึงค์ที่มีขนาดใหญ่กว่าทุกๆศิวลึงค์ ที่มีการค้นพบในจังหวัดนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าเป็นศิวลึงค์องค์สำคัญยิ่งและมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะขอพรต่างๆ ของประชาชนในยุคนั้น อาจเป็นศิวลึงค์องค์ประธานในเทวาลัยขนาดใหญ่หรือเป็นศิวลึงค์ประจำอาณาจักรตามพรลิงค์ ในยุคพุทธศตวรรษที่ 12-15 เป็นช่วงที่ศาสนาพราหมณ์ได้เจริญรุ่งเรือง

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.65 ได้มีการเคลื่อนย้ายศิวลึงค์จากจังหวัดพังงาเพื่อกลับมาสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเบื้องต้นทางจังหวัดนครศรีธรรมราช จะได้จัดเก็บไว้ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช และจะทำการเคลื่อนย้ายอีกครั้งในวันที่ 3 ธันวาคม 2565 เพื่อไปจัดเก็บ ณ โบสถ์พราหมณ์ หอพระอิศวร เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เข้าสักการะกราบไหว้บูชาต่อไป

– สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

ศิวลึงค์ ลึงค์ หรือ ลิงค์ หมายถึง เครื่องหมาย สัญลักษณ์ เพศ องคชาต การอนุมาน คัพภะที่ก่อเกิดลูกหลานชั่วนิรันดร์ เป็นสัญลักษณะของพระศิวะเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ใช้ในการบูชาสักการะในโบสถ์วิหารฮินดู ในศาสนาฮินดูยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าศิวลึงค์เป็นตัวแทนทางกายภาพของเทพเจ้าหรือเป็นเครื่องหมายทางจิตวิญญาณ

ศิวลึงค์ ถูกแปลความว่าเป็นเครื่องหมายแห่งพลังสร้างสรรค์ในบุรุษเพศที่มาจากองคชาต แม้ว่าในปัจจุบันชาวฮินดูส่วนใหญ่จะมองศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายแห่งพลังศักดิ์สิทธิ์มากกว่าเครื่องหมายทางเพศ ศิวลึงค์มักปรากฏอยู่พร้อมกับโยนี สัญลักษณ์ของพระแม่ปารวตีอันบ่งบอกถึงพลังสร้างสรรค์ของสตรีเพศ การที่ศิวลึงค์และและโยนีอยู่ร่วมกันแสดงถึง “ความเป็นสองในหนึ่งเดียวที่แยกออกจากกันไม่ได้ของบุรุษและสตรี อวกาศที่หยุดนิ่งและเวลาซึ่งเคลื่อนที่อันเป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต” ตั้งแต่สิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักวิชาการตีความว่าศิวลึงค์และโยนีเป็นอวัยวะเพศชายและหญิง ขณะที่ชาวฮินดูเห็นว่าทั้งสองสิ่งเป็นเครื่องแสดงถึงหลักการที่ว่าหญิงและชายไม่อาจแยกออกจากกันได้และเป็นเครื่องหมายแห่งการก่อกำเนิด

– จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE