สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง ร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช

4270
views

สถานีชุมทางเขาชุมทอง ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพ ระยะทาง 781.01 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่ทางหลวงสาย 4018 ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถานีชุมทางรถไฟสายใต้แห่งที่ห้า ถัดมาจากสถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน สถานีรถไฟชุมทางหนองปลาดุก สถานีรถไฟชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ และสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง อีกทั้งยังเป็น 1 ใน 15 สถานีชุมทางรถไฟในประเทศไทย

สถานีชุมทางเขาชุมทอง สร้างขึ้นในพุทธศักราช 2457 เพื่อเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟนครศรีธรรมราช สถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง และสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ แต่ก่อนสถานีชุมทางเขาชุมทอง ใช้เป็นสถานีเติมน้ำและฟืนสำหรับรถจักรไอน้ำ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกการใช้รถจักรไอน้ำ รถจักรดีเซลเข้ามาแทนที่ เมื่อปี พ.ศ. 2525 จึงได้ถอดถอนถังน้ำออกไป

สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง เดิมเรียกว่า “สถานีสามแยกนคร” ต่อมาในพุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชานุญาตให้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง” ตามคำแนะนำของกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง

สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง เป็นสถานีรถไฟที่ขบวนรถไฟซึ่งมีต้นทางและปลายทางที่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช ทุกขบวนที่จะเข้าทางแยกสายนครศรีธรรมราช ต้องจอด รวมไปถึงขบวนรถท้องถิ่นทุกขบวน และรถเร็วบางขบวนได้มีการจอดที่สถานีรถไฟแห่งนี้ด้วย ซึ่งสถานีรถไฟแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของทางรถไฟสายชุมทางเขาชุมทอง-นครศรีธรรมราช มีระยะทาง 35 กิโลเมตร

ปัจจุบัน สถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง เป็นสถานีรถไฟระดับ 3 ภายในย่านสถานีประกอบด้วยอาคารและสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม คือ อาคารสถานีรถไฟ หอสัญญาณประแจกล บ้านพักพนักงานการรถไฟ อาคารที่ทำการแขวงบำรุงทาง และห้องแถวไม้ให้เช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของสถานีรถไฟยังมีชุมชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิมตั้งอยู่ด้วย

อาคารสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองเป็นอาคารไม้ชั้นเดียวหลังคาแฝดวางขนานไปกับทางรถไฟประกอบด้วยส่วนสถานี และส่วนชานชาลา ผังพื้นส่วนสถานีเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 1 ช่วงเสา ยาว 5 ช่วงเสา ประกอบด้วยห้องควบคุมการเดินรถ ห้องทำงานนายสถานี ห้องขายตั๋ว และโถงพักคอย หลังคาส่วนสถานีเป็นหลังคาจั่วผสมปั้นหยา ส่วนชานชาลาเป็นหลังคาจั่ว ทั้งหมดมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ ประตูและหน้าต่างเป็นบานลูกฟักไม้ เหนือบานประตูและหน้าต่างเป็นเกล็ดไม้ระบายอากาศ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายกับอาคารสถานีรถไฟกันตัง

อาคารสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทองเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเนื่องจากได้รับการออกแบบที่สอดคล้องกับการใช้สอยและสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นในประเทศไทย รวมทั้งความงามที่มีการผสมผสานศิลปะแบบตะวันตก โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดูแลรักษาอาคารสถานีรถไฟให้อยู่ในสภาพที่ดี และยังคงบทบาทสำคัญในการรองรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า โดยในพุทธศักราช 2555 สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นให้กับอาคารสถานีรถไฟชุมทางเขาชุมทอง

ชุมทางเขาชุมทอง ภาพยนตร์ไทย ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2508 ในระบบถ่ายทำฟิล์ม 16 มม., สี เป็นผลงานกำกับของ ส.อาสนจินดา ประพันธ์เรื่อง-กำกับการแสดง รัตน์ เศรษฐภักดี อำนวยการสร้าง  เอวันฟิล์ม จัดจำหน่าย -ใบปิดวาดโดย เปี๊ยกโปสเตอร์

โดยเป็นเรื่องราวการแย่งชิงสัมปทานเหมืองแร่ในแถบอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เป็นแหล่งแร่ที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา, พิศมัย วิไลศักดิ์, ส.อาสนจินดา, อดุลย์ ดุลยรัตน์, วิไลวรรณ วัฒนพานิช, เอื้อมเดือน อัษฎา, ชนะ ศรีอุบล, ทักษิณ แจ่มผล, รุจน์ รณภพ, ทัต เอกทัต, สมควร กระจ่างศาสตร์ และอีกมากมาย ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ที่โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง

เครดิตแหล่งข้อมูล : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย บทความโดย อ.ปริญญา ชูแก้ว, วิกิพีเดีย / ภาพถ่ายโดยคุณ สิทธิชัย เอียดสี, ThaiMoviePosters

 

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE