สวยัมภูลึงค์บนเขาคา : ลิงคบรรพตแห่งไศวภูมิมณฑล เมืองนครศรีธรรมราช

1133
views
สวยัมภูลึงค์บนเขาคา

โบราณสถานเขาคา (Khao Ka Ancient Remains) หมู่ที่ ๑๑ ตำบลสำเภา อำเภอสิชล จังหวันครศรีธรรมราช เขาคา เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอายุกว่า ๑,๕๐๐ ปี ชุมชนโบราณเขาคาสันนิษฐานกันว่าเกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ เขาคาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับ ประกอบพิธีกรรมในศาสนาพราหมณ์ฝ่ายไศวะนิกายปศุตะ โดยพบร่องรอยหลักฐานสถาปัตยกรรมเทวาลัยตามแนวสันเขา โดยเรียกชื่อโบราณสถานที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาว่า “ไศวภูมิมณฑล” มาใช้เป็นชื่อเรียกกลุ่มโบราณสถานและชุมชนโบราณในพื้นที่บริเวณโดยรอบเขาคา

ลิงคบรรพต ( lingaparvata ) ศิวลึงค์พิเศษประเภท สวยัมภูวลึงค์ ( ศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ) ซึ่งลึงคบรรพตนั้น จะมีลักษณะพิเศษก็คือ
๑. มีความสูงเหนือศรีษะมนุษย์
๒. ตั้งอยู่บนยอดสันเขา
๓. ภูเขาที่มีลึงคบรรพต จะต้องมีแม่น้ำ หรือ สายน้ำสำคัญไหลผ่าน

คุณสมบัติทั้งสามประการนั้น คือการนำเอาเขาไกรลาศ มาเป็นตัวพิจารณา ซึ่งพระศิวะมหาเทพทรงประทับในรุทระโลก หรือ ศิวะโลก ซึ่งมีเขาไกรลาศเป็นประธาน และพระศิวะมหาเทพ ก็ทรงบำเพ็ญพรตอยู่บนยอดเขาไกรลาศแห่งนั้น ซึ่งลึงคบรรพตที่โบราณสถานเขาคา ถือว่ามีครบตามคุณสมบัติทั้งสาม กล่าวคือ ลิงคบรรพตของไศวภูมิมณฑลตั้งบนสันเขาทางตอนเหนือสุดของเขาคา ขนาดของลิงคบรรพตใหญ่กว่ามนุษย์ และ ด้านล่างของที่ราบทางตอนเหนือของเขาคา มีสายคลองท่าทนไหลผ่าน

พ.ศ. ๒๕๒๕ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจศึกษาชุมชนโบราณในบริเวณเขาคา ได้พบหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายของชุมชนเขาคา โดยเรียกชื่อโบราณสถานที่ใช้ประกอบพิธีทางศาสนาว่า “ไศวภูมิมณฑล” มาใช้เป็นชื่อเรียกกลุ่มโบราณสถานและชุมชนโบราณในพื้นที่บริเวณโดยรอบเขาคา

เมื่อครั้งเขาคายังรุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๔ นั้น ลิงคบรรพตถือเป็นสิ่งเคารพสูงสุดของอาณาจักรตามพรลิงค์ ลิงค บรรพต มีสถานะเปรียบได้ดั่งองค์พระศิวะบนโลกมนุษย์ พราหมณาจารย์ และผู้ปกครองตามพรลิงค์จึงบูชาลิงคบรรพต ด้วยการหุ้มทองแดงถวาย จนเป็นที่มาของชื่อ ” ตามพรลิงค์ ” พิธีกรรมแห่งพราหมณ์ไศวะนิกายที่เขาคารุ่งเรืองอยู่ราว ๓๐๐ ปี ก็มีอันอวสานตามกฎไตรลักษณ์ ทำให้สิ่งสักการะอันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ต้องมีอันรกร้างอยู่กลางป่า ยาวนานเกือบพันปี

พระสวยัมภูลึงค์บนเขาคา (Svayambhuva – lingas) ประดิษฐานที่ศาสนสถาน บนยอดทางด้านทิศเหนือของเขาคา หมู่ที่ ๑๑ ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

ลักษณะเป็นก้อนหินธรรมชาติที่มีลักษณะคล้ายกับศิวลึงค์ มีร่องรอยการก่อสร้างกำแพงเพื่อกำหนดขอบเขตศาสนถานขนาดความกว้าง ๓๕ x ๓๕ เมตรล้อมรอบ และมีการยกพื้นสูง ๗๐ เซนติเมตร ขนาด ๑๔.๒๐ x ๑๖ เมตร บริเวณองค์สวยัมภูลึงค์ โดยศาสนสถานในบริเวณสวยัมภูวลึงค์นี้ สร้างจากหินธรรมชาติทั้งหมด พระสวยัมภูลึงค์ ณ ศาสนสถาน แห่งนี้อาจได้รับการถาปนาเป็นศาสนวัตถุมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยคณะพราหมณ์จากชมพูทวีปที่เดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยโบราณ ปัจจุบันยังอยู่ในภาพบูรณ์

ความสำคัญของพระสวยัมภูวลึงค์ สวยัมภู แปลว่า ผู้เป็นเอง

เป็นพระศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ตามความเชื่อทางศาสนาฮินดูไศวนิกายเชื่อว่า เป็นศิวลึงค์ี่พระศิวะเจ้าประทานให้แก่มวลมนุษยชาติ มีลักษณะเป็นอจลลึงค์ คือลึงค์ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ นับเป็นสิ่งศักดิ์ิสิทธิ์ ที่หาได้ยากและไ่ม่กี่แห่งในโลกเพียง โดยในชมพูทวีปมี ๖๘ แห่ง โดยมีความเชื่อว่าหากพระสวยัมภูวลึงค์นี้ถูกเคลื่อนย้าย หรือถูกทำลาย เสียหายต้องซ่อมด้วยทองคำหรือทองแดงเ่ท่านั้น ไม่งั้นจะเกิดอาเพศต่อบ้านเมือง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แม้จะพบหลายที่ ที่เป็นลักษณะการบูชาวยัมภูลึงค์ แต่นับว่าที่นี่มีความชัดเจนมากกว่าที่อื่น

บทความต้นฉบับ – เขาคา นครศรีธรรมราช, ศฺรี

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE