กรมศิลปากรขึ้นทะเบียน “วัดสวนหลวง” เมืองนครศรีธรรมราช เป็นโบราณสถาน

424
views

เมื่อ 8 มิ.ย.2566 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน…

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดสวนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้มีพื้นที่โบราณสถาน พื้นที่ ก. ประมาณ 1 ไร่ 62.91 ตารางวา พื้นที่ ข. ประมาณ 3 งาน 37.50 ตารางวา รายละเอียดดังปรากฏตามแผนผังแนบท้ายประกาศนี้

ประกาศ ณ วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2566

พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร

ดูประกาศ ► https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D134S0000000000800.pdf

ความเป็นมาของ วัดสวนหลวง

เดิมวัดสวนหลวงมีเนื้อที่ถึง 50 ไร่ แต่เมื่อ พ.ศ. 2450 ทางราชการได้ตัดถนน นคร — ร่อนพิบูลย์ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ถนนราชดำเนิน” จึงทำให้วัดสวนหลวง ถูกแบ่งออกเป็น 2 วัด คือ วัดสวนหลวงออก — วัดสวนหลวงตก เมื่อ พ.ศ. 2487 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดสวนหลวงออกได้ร้างไป เหลือเพียงวัดสวนหลวงตกเท่านั้น เจ้าอาวาสสมัยนั้น จึงใช้เรียกนามวัดในทางราชการและคณะสงฆ์ว่า “วัดสวนหลวง” แต่นั้นมา

โบราณสถานหรือโบราณวัตถุที่สำคัญ

1. สถูปองค์เล็ก ซึ่งสถูปโบราณที่เก่าแก่องค์หนึ่งสร้างมาพร้อมวัด
2. โบสถ์มหาอุต สร้างสมัยอยุธยา มีพระประธานเป็นปูนปั้น 5 องค์ ตามฝาผนังเป็นปูนปั้นนูนต่ำฝีมือช่างชาวบ้าน
3. พระพุทธรูป 1 องค์ นามว่า “พระศรีธรรมาโศกราช”
4. บ่อน้ำโบราณ ซึ่งทำจากดินเผาเป็นปล้อง
5. สมเด็จเจ้าลาวทอง

พระพุทธรรูปปางอุ้มบาตร ที่เรียกกันว่า “พระลาก” ชื่อ สมเด็จเจ้าลาวทอง เก่าแก่ตั้งแต่สมัย อยุธยา ว่ากันว่าเป็นพระที่ลอยน้ำมาองค์หนึ่ อยู่ที่วัดสวนหลวง อีกองค์หนึ่งอยู่ที่วัด พัทธสีมา, ลานสกา องค์นี้เป็นต้นแบบของพิธีชักพระ หรือลากพระทางบก ส่วนอีกองค์ที่วัดพัธสีมาเป็นต้นแบบของ พิธีชักพระทางน้ำ สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน – เป็นพระพุทธรูป 1ใน 5 ของพระพุทธรูปที่ควรกราบไหว้เมื่อมาถึงเมืองนครศรีธรรมราช

ที่ใจกลางของวัดสวนหลวงนี้เราจะพบกับ อุโบสถประตูสีแดงเปล่ง สวยงามและสดใส อยู่ท่ามกลางหมู่ไม้และอากาศที่เย็นสดชื่น อุโบสถหลังนี้เป็นอุโบสถที่ใช้โครงสร้างแบบสมัยอยุธยา ที่เรียกว่า เครื่องประดุ หรือม้าต่างไหม (คือลักษณะการสร้างสถาปัตยกรรมงานไม้แบบโบราณ)

เมื่อพิจารณาจากใบเสมารอบอุโบสถ และพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายใน คาดว่าน่าจะสร้างในสมัย พุทธศตวรรษที่ 23 (กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย)

อุโบสถหลังนี้มี งานศิลปกรรมที่น่าสนใจ 2 จุด

ผนังด้านหน้าอุโบสถ เป็นภาพปูนปั้นนูนต่ำ แสดงภาพพระพุทธเจ้ายืนอยู่เหนือทิวเขา ซึ่งมีบันไดทอดยาวลงมา คาดว่าน่าจะเป็น #เขาสุมนกูฏ กลางเกาะลังกา (ภูเขาสูงที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทอยู่ด้านบน) – เชื่อว่าศิลปินอาจเคยได้ไปหรือเคยได้รับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับ เขาสุมนกูฏ มาบ้าง และรูปปั้นประกอบอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวเนื่องกัน แสดงถึงการแสดงความเคารพพระพุทธเจ้า ของสัตว์ต่างๆ มนุษย์ และเทวดา (สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ)

ด้านในเป็นภาพปูนปั้น แสดงเรื่องราวถึง การเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า ว่าด้วย “พระพุทธเจ้าทรงพาหนะใด ในการเสด็จออกบวช” มี ช้าง ม้า พระราชรถ พระมหาปราสาท พระบาท และวอ แต่ภาพสุดท้ายไม่ปรากฏว่าเป็นภาพใดเนื่องจาก ชำรุดเสียหายหรือ ช่างปั้นไม่เสร็จก็ไม่อาจทราบได่

สิ่งที่น่าสนใจคือ รูปปั้นนูนต่ำ รูปด้านซ้ายสุด (ทิศใต้) เป็นรูปปั้นแสดง การออกมหาภินษกรมณ์ (เสด็จออกบวช) ด้วยพาหนะทรงม้า เป็นต้นแบบของรูปภาพปูนปั้น ที่อยู่ด้านข้างทางบันไดขึ้น ลานประทักษิณ ในวิหารพระทรงม้า ที่วัดพระมหาธาตุ นั่นเอง

ที่มา – วารสารเมืองโบราณ ฉบับที่ 45 “พระเวียง เมืองตามพรลิงค์ บนหาดทรายแก้ว”

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE