“พังพการ” ตำนานวีรบุรุษแห่งเมืองนคร โดยอาจารย์นะมา โสภาพงศ์

1164
views
"พังพการ" ตำนานวีรบุรุษแห่งเมืองนคร

พังพการ หรือ “ขุนพังพการ” ตามตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช กล่าวว่า มีชีวิตอยู่ในสมัยของพระเจ้าจันทรภานุ เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณ พ.ศ. ๑๘๒๐ เป็นวีรบุรุษผู้กล้า ในตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พังพการ ทำหน้าปกป้องบ้านเมืองนครศรีธรรมราชสามารถฆ่าศัตรูล้มตายวันละ ๓๐-๔๐ คนทำให้กองทัพศัตรูยอมแพ้และล่าถอยยอมแพ้ในที่สุด พระเจ้าจันทรภาณุได้ปูนบำเหน็จรางวัลให้แก่พังพการ โดยแบ่งเมืองกึ่งหนึ่งให้ปกครอง

"พังพการ" ตำนานวีรบุรุษแห่งเมืองนคร

ในอดีต “พังพการ ตำนานวีรบุรุษเมืองนคร” ที่เป็นผลงานของอาจารย์นะมา โสภาพงศ์ (ผู้ล่วงลับ) ผู้ก่อตั้งสารนครศรีธรรมราชท่านหนึ่ง ได้เขียนไว้ในรูปแบบของภาพวาดสีน้ำพร้อมข้อเขียนประกอบภาพ นับว่าเป็นผลงานที่ล้ำค่าที่ควรรักษาไว้อย่างยิ่ง ผู้เขียนได้มีบุญวาสนาเป็นอย่างยิ่งที่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เห็นด้วยตา ชื่นชมในหัวใจ ในขณะที่อาจารย์ได้ผลิตผลงานชิ้นนี้ ท่านวาดภาพพังพการด้วยสีน้ำอย่างมีความสุขยิ่ง และเผยแพร่ต่อสาธารณะ และเป็นที่ประทับใจต่อผู้อ่านทั่วไปมาแล้ว ผู้เขียนได้เก็บรักษาผลงานชื้นนี้ไว้เป็นอย่างดี ด้วยความรักและทนุถนอม และมีความภูมิใจที่ได้นำเสนอผลงานอันล้ำค่าของท่านอีกครั้งหนึ่ง

อาจารย์นะมา โสภาพงศ์ บันทึกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ เอาไว้ส่วนต้นเรื่องว่า

ผู้เขียนได้ใช้เวลาว่างขีดๆ เขียนๆ เรื่องราวย้อนอดีตขึ้นมาเรื่องหนึ่งคือ “พังพการ” ซึ่งอดีตการก็เป็นเพียงตำนานเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับวีรกรรมของผู้สร้างบ้านแปงเมืองอย่างเหี้ยมหาญเอาไว้ เรื่องทั้งหมดนี้เขียนลงหนังสือเป็นตอนๆ จนกว่าจะจบเรื่อง

๑.ในอดีตกาลสมัยที่ศิริธรรมนครยังมีชื่อเรียกอาณาจักร “ตามพรลิงค์” อยู่นั้นกษัตริย์จันทรภาณุขึ้นครอบครองราชย์สมบัติสืบแทนพระราชบิดา พระองค์ทรงทะนุบำรุงบ้านเมืองจนเป็นรัฐที่รุ่งเรื่องเข้มแข็งแม้ศัตรูผู้คิดจะรุกรานก็ครั่นคร้ามมีความเกรงขามเป็นอย่างยิ่ง ห่างจากวังหลวงไปทางทิศตะวันตกไม่ไกลนักชั่วเคี้ยวหมากจืด มีสองผัวเมียชาวบ้านนพเตียน ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ หาเลี้ยงชีพโดยทำนาหลวงในละแวกนั้นเรื่อยมา แม้อายุจะล่วงเลยเข้าสู่วัยกลางคนแล้วก็ตาม แต่ทั้งคู่ก็หามีทายาทสืบตระกูลไม่ ทำให้ผัวเมียคู่นี้มีความทุกข์เมื่อคิดถึงบั้นปลายชีวิต

๒.วันหนึ่งเมื่อว่างเว้นจากการทำนา ผัวเมียชาวนาผู้นั้นก็ชักชวนกันจัดเครื่องเซ่นสังเวย ไปที่เทวาลัยร้างแห่งหนึ่งใกล้ๆ บ้าน ทำการบนบานอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยประทานบุตรมาให้แก่ตนสักคนหนึ่งเถิด เมื่อเสียงอ้อนวอนสิ้นสุดเสียงดังซู่ซ่า ซู่ซ่า……ก็ดังแรงขึ้นๆ ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าชาวนาคู่นั้น เป็นงูบองหลา (จงอาง) ตัวโตเท่ากับต้นหมากกำลังเลื้อยลอดออกมาทางด้านหลังเทวาลัย ในทันใดนั้นเองเจ้างูยักษ์ตัวนั้นได้ตวัดเอาเมียชาวนาเข้าไปแนบแน่นกับเทวรูปท่ามกลางความตกใจกลัวสองผัวเมียเป็นอย่างยิ่ง อีกครู่ใหญ่ๆ มันก็ค่อยๆ คลายขนดปล่อยเมียชาวนาลงบนพื้น เจ้างูใหญ่ก็ค่อยๆ เลื้อยอย่างเชื่องช้าหายไปในป่ารกด้านหลังเทวาลัยโดยไม่ทำอันตรายผู้ใด

๓.อยู่มาไม่นาน ภรรยาของชาวนาผู้นั้นก็ได้ให้กำเนิดบุตรชายมาคนหนึ่งอันเป็นที่รักและหวงแหนของพ่อแม่ยิ่งนัก แม้ยามจะไปไหนมาไหนก็มักจะนำบุตรไปด้วยเสมอ ขณะที่ออกไปทำนาก็ยังต้องนำบุตรบุตรน้อยของตนใส่เปลผ้าผูกไว้กับกิ่งหว้าใหญ่บนขอบคันนา วันหนึ่งขณะที่ทั้งคู่ผูกแปลเสร็จก็ก้มหน้าทำนาเพลินอยู่นั้น งูบองหลาใหญ่ก็เลื้อยมาใต้เปลเด็กแล้วยกหัวแผ่แม่เบี้ยกดเปลสายขาด เด็กตกลงไปนอนดิ้นบนขนดของมัน ซ้ำยังแผ่พังพานขู่ฟู่ฟู่ จนพ่อแม่เด็กเหลือบมาเห็น ทั้งคู่ตกใจกลัวความคิดสับสนรีบวิ่งมาช่วยบุตรของตนแต่ก็ช่วยเหลืออะไรไม่ได้ ครู่ใหญ่ๆ เจ้างูยักษ์ก็ค่อยๆ คลายขนดปล่อยเด็กลงบนพื้นแล้วเลื้อยหนีเข้าป่าไป ชาวนาคู่นั้นวิ่งเข้ามาอุ้มบุตรด้วยน้ำตานองหน้า แต่เขาก็ดีใจที่ลูกไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

๔.นับตั้งแต่สามีภรรยาชาวนพเตียนคู่นั้นได้บุตรโทนสืบตระกูลสมดังตั้งใจไว้ ทั้งคู่ก็ช่วยกันทะนุถนอมบุตรของตนเป็นอย่างดีเสมอมา จนบุตรได้เจริญวัยเติบโตขึ้นมาพอจะช่วยเหลืองานบ้านได้บ้าง พ่อแม่ก็ได้มอบหมายให้นำวัวควายไปเลี้ยงตามท้องทุ่งแถวนาป่าหรือท้องนาแถวทุ่งมะม่วงขาวซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากบ้านนัก การใช้ชีวิตเป็นเด็กเลี้ยงควายกลางทุ่งนานี้เองทำให้เจ้าโทนเป็นที่รู้จักสนิทสนมกับลูกเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเจ้าโทนมีนิสัยโอบอ้อมอารีและมีความเฉลียวฉลาด ดังนั้นไม่ว่าจะเล่นหรือช่วยกันทำงานอะไรก็ตามเจ้าโทนจะได้รับการยกย่องให้เป็นหัวหน้าทุกครั้งไป

๕.ทุกๆ วันเจ้าโทนและเพื่อนๆ จะนำวัวควายออกไปเลี้ยงในท้องทุ่งใกล้ๆ หมู่บ้านนพเตียน เมื่อปล่อยวัวควายออกหากินตามลำพังแล้วเด็กๆ พวกนี้ก็จะชักชวนกันมาเล่นตามประสาเด็กแล้วแต่ใครจะคิดอะไรก็สร้างกฎกติกากันง่ายๆ เพื่อความสนุกสนาน วันหนึ่งเจ้าโทนได้ชักชวนเพื่อนๆ ไปวิดปลาโดยสัญญากันว่า ถ้าปลากระโดดหนีไปทางผู้ใดผู้นั้นจะต้องโดนประหารชีวิต เมื่อวิดกันไปน้ำจะแห้งปลาช่อนตัวโตก็กระโดดหนีไปทางเพื่อนผู้หนึ่งเพื่อนผู้นั้นจึงถูกนำตัวมาประหารชีวิต เจ้าโทนจึงหักไม้พาเข (ไม้เนื้ออ่อน) มาทำเป็นดาบคู่มือร่ายรำเข้าตัดคอเด็กผู้นั้นคอขาด เจ้าโทนและเพื่อนๆ ต่างตกใจกลัวมากวงแตกวิ่งหนีกันวุ่นวายเพราะคิดไม่ถึงว่าทำไมจึงต้องตายด้วยดาบพาเข

๖.ทางฝ่ายพ่อแม่ของเด็กที่เสียชีวิตก็ฟ้องร้องไปกรมการเมืองและถวายฎีกาไปยังพระเจ้าจันทรภาณุ ในที่สุดพระองค์ให้กรมการเมืองนำตัวเจ้าโทนเข้ามา เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นความหลักแหลมและมีลักษณะดีเลิศจึงทรงรับไว้เป็นราชบุตรบุญธรรมและพระราชทานนามให้ว่า “พังพการ” ทางฝ่ายผู้เสียหายก็พระราชทานเงินทองทดแทนจนเป็นธรรมต่อกัน

๗.เมื่อเข้ามาอยู่ในวังหลวง พระเจ้าจันทรภาณุได้มีรับสั่งให้พังพการไปอยู่กับอาจารย์มั่นที่โรงม้าหลวงเป็นเวลาหลายปี ที่โรงม้าหลวงนี้เองพังพการได้รับการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ จากอาจารย์มั่นมากมาย เช่น ตำรา ดูลักษณะม้าศึก การจัดทัพม้า การปราบม้าพยศ พังพการได้ปราบม้าพันธุ์ดุชื่อ “แดงไฟ” ลงสำเร็จและขึ้นขี่เที่ยวเล่นเป็นเพื่อนกันเสมอมา นอกจากนี้อาจารย์มั่นยังสอนวิธีการขับขี่ม้า ตลอดจนฝึกการใช้อาวุธต่อสู้บนหลังม้าและหลบหลีกอาวุธศัตรูได้อย่างว่องไวและมีความชำนาญยิ่ง

๘.ย่างเข้าวัยหนุ่ม พังพการก็ได้ย้ายไปอยู่ที่โรงศาสตราหลวงกับอาจารย์คง อาจารย์ได้สอนให้พังพการรู้จักเลือกเฟ้นหาเหล็กชั้นดีมาตีดาบ หอก และอาวุธสงครามทุกชนิด ตลอดจนการปลุกเสกลงเลขยันต์อาวุธสงคราม อาจารย์คงได้สั่งสอนวิทยาการดูฤกษ์ผานาที คาถาอาคม เพลงดาบ กระบี่กระบอง การป้องกันตัวทุกอย่างให้จนหมดสิ้นไม่ปิดบัง จนทำให้พังพการแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ

๙.ต่อมาพระเจ้าจันทรภาณุได้มีพระราชโองการเรียกตัวพังพการเข้ามาอยู่ในวัง ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองในกรมพระกลาโหม รับหน้าที่ควบคุมดูแลทหารราบและทหารม้าในการฝึกรบทัพจับศึกจนเป็นกองทัพที่เข้มแข็งที่สุดของแคว้นตามพรลิงค์ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของกษัตริย์จันทรภาณุยิ่งนัก ในยามว่างพังพการก็ได้ไปช่วยเหลืออาจารย์รอดกับอาจารย์อยู่ ซึ่งเป็นแม่กองซ่อมสร้างป้อมคู ประตู หอรบโดยรอบกำแพงเมืองอีกด้วย

๑๐. อาจารย์ทั้งสองได้ช่วยกันประสาทวิทยาการเกี่ยวกับการสร้างบ้านแปงเมือง การบในที่มั่น การวางแผนขุดคูรอบกำแพงเมืองเพื่อป้องกันศัตรูจะรุกรานได้โดยง่าย จัดกำลังคนซ่อมแซมกำแพงเมืองที่พังทลาย เมื่อตอนชวาได้ยกทัพมารุกรานให้มั่นคงยิ่งขึ้น เพราะชวาได้ประกาศว่า “สักวันหนึ่งจะต้องยึดเอาอาณาจักรตามพรลิงค์ไปเป็นเมืองเชลยให้ได้”

๑๑. กาลเวลาล่วงเลยไปไม่ทันจะข้ามปี ยามฟ้าสางหลังฝนของวันหนึ่ง ชาวบ้านริมทะเลต่างตกใจขวัญหนีดีฝ่อ เมื่อเห็นกองทัพเรือรบชวาได้ชักธงรบแล่นเรียงรายใบเรือขาวโพลนมาเต็มท้องทะเลรายล้อมปิดอ่าวปากนครไว้ ทุกลำบรรทุกเสบียงกรังข้าวปลาอาหารและทหารพร้อมอาวุธมาจนเพียบ เป็นทัพศัตรูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในยุคนั้น เพราะชวาได้ทุ่มเททุกอย่างเพื่อกวาดล้างอาณาจักรตามพรลิงค์ที่กระด้างกระเดื่องให้ราบเป็นหน้ากลอง

๑๒. เมื่อขบวนเรือแล่นมาใกล้ฝั่ง แม่ทัพเรือชวาก็สั่งให้ทหารทุกคนเตรียมพร้อม ร้องสั่งให้ทำลายเรือทุกลำที่แล่นเข้าออกอ่าวปากนคร เป็นเหตุให้กองทัพเรือของพระเจ้าจันทรภาณุต้องจอดสงบนิ่ง แม่ทัพเรือชวาได้ใจเมื่อไม่เห็นการต่อต้าน จึงสั่งให้ทหารขึ้นฝั่งตั้งค่ายปราการเป็นแนวยาวจากปากนครถึงปากพญา และให้ทหารจำนวนหนึ่งผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าเรือที่จอดทอดสมออยู่ปากอ่าว

๑๓. กองทัพชวาขึ้นฝั่งตั้งค่ายจัดทัพอยู่หลายวัน เสบียงกรังที่เตรียมมาก็ร่อยหรอลง แม่ทัพก็สั่งให้ทหารถนอมอาหาร เพราะรู้อยู่ว่าสงครามคงจะไม่ยุติลงไปง่ายๆ จึงให้ทหารออกเที่ยวปล้นสะดมแย่งชิงข้าวปลาอาหาร ช้างม้าวัวควายของชาวบ้านละแวกนั้น แล้วนำมาเก็บสะสมไว้ในค่ายเป็นจำนวนมาก เมื่อชาวบ้านต่อสู้ขัดขวางก็ฆ่าทิ้งด้วยความเหี้ยมโหด สร้างความเดือดร้อนให้ชาวเมืองตามพรลิงค์เป็นอย่างยิ่ง ชาวบ้านที่รู้ข่าวคราวความชั่วร้ายก็ย้ายครอบครัวหนีเอาตัวรอดหอบลูกจูงหลานทิ้งบ้านเรือนหนีกันจ้าละหวั่น

๑๔. การกระทำอย่างชั่วร้ายของทหารชวามีสภาพเหมือนกับการปล้นบ้านปล้นเมือง ทหารบางกลุ่มตระเวนออกจับผู้หญิงในละแวกนั้นไปทำอนาจารอย่างป่าเถื่อนทุกวัน ไม่ละเว้นว่าจะเป็นสาวหรือแก่ ชาวบ้านที่ทนไม่ได้ก็ชักชวนรวมตัวกันต่อสู้ขัดขวาง แต่ก็ต้านทานกำลังคนและอาวุธที่มากกว่าไม่ไหวจำเป็นต้องคอยหลบๆ ซ่อนๆ จนไม่กล้าออกไปทำมาหากิน ความระส่ำระสายกระจายไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

๑๕. ทหารหลวงที่คอยลาดตระเวนอยู่ตามด่านรายนอกวัง ได้รับรายงานจากชาวบ้านที่กำลังตื่นตกใจกลัวจากภัยที่โจรชวาได้ลอบเข้ามาทำร้ายอย่างโหดร้ายทารุณ จึงเห็นความจริงว่ากองทัพศัตรูได้ยกเข้ามาอย่างมากมาย จนเกินกำลังที่จะต้านทานไหว จึงได้แต่งม้าเร็วนำสารไปทูลแจ้งเหตุร้ายต่อพระเจ้าจันทรภาณุที่ในวัง ระหว่างที่ทหารเดินทางก็ต้องต่อสู้กับศัตรูที่เข้ามาขัดขวางอยู่เนืองๆ เสียงดาบแห่งสงครามก็ดังขึ้นตามจุดต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าทหารทั้งสองฝ่ายต่างก็บาดเจ็บล้มตายลงเหมือนใบไม้ร่วง

๑๖. เมื่อกษัตริย์จันทราภาณุทราบเหตุร้าย พระองค์ก็ทรงมอบหมายให้พระอักษรเลขเรียกประชุมเหล่านายทัพนายกองเพื่อร่วมกันวางแผนรบโดยพลันและทรงแต่งตั้งให้พังพการราชบุตรบุญธรรมเป็นแม่ทัพนำทหารออกสู่ศึกครั้งนี้ด้วย เมื่อตระเตรียมแผนการรบเสร็จสิ้นลงประตูคลังแสงก็เปิดออก เหล่าทหารเบิกอาวุธเข้าเสริมตามเชิงเทินและประตูเมือง เตรียมลับหอก ลับดาบจนคมวาวพร้อมรบได้ทุกเวลา

๑๗. เมื่อพังพการได้หาฤกษ์ยามตามตำราพิชัยยุทธเรียบร้อยแล้ว จึงได้จัดทหารเข้าประจำช่องเชิงเทินบนกำแพงเมืองเตรียมรักษาเมืองจนแล้วเสร็จ ก็กลับลงมาจัดทัพม้าและพลทหารเดินเท้าพร้อมอาวุธครบมือเข้าขบวนศึก เสียงกลองมโหระทึกดังกังวานขึ้นพร้อมกับเสียงทหารไชโยโห่ร้อง เพื่อข่มขวัญศัตรูกระหึ่มไปทั้งเมือง พังพการหาได้ชักม้าออกรับมือกับศัตรูที่เข้ามาประชิดเมืองทางทิศตะวันออกและทิศเหนือไม่ กลับชักม้าอ้อมออกประตูเมืองทางทิศตะวันตกเข้าบ้านฉาง บ้านมะม่วงขาว และหยุดพักกราบไหว้พ่อแม่เพื่อขอพรที่บ้านนพเตียนแล้วเคลื่อนทัพต่อไปตั้งหลักอยู่ริมภูเขาเพื่อรอตะวันตกดิน

๑๘. ตกค่ำ พังพการได้สั่งให้ทหารคู่ใจปลอมตัวเป็นชาวประมงออกไปปะปนอยู่กับชาบ้านที่ปากน้ำปากนครยามดึกสงัด เมื่อเห็นทหารชวาหลับใหลไปกับความเหน็ดเหนื่อยจากการที่ขึ้นไปหาความสุขกันบนบก ทหารพังพการเลยถือโอกาสปลอดหูปลอดตาทหารยาม ดำน้ำแยกย้ายกันไปจุดไฟเผาเรือรบชวาที่จอดทอดสมอเรียงรายอยู่ ไฟลุกโพลงสว่างจ้าไปทั้งท้องทะเลในความมืด ทหารชวาตกใจแตกตื่นวิ่งหนีเอาตัวรอด บ้างก็ช่วยกันดับไฟแต่ไร้ผล ลมมรสุมตะวันออกพัดส่งให้ไฟลุกไหม้รุนแรงขึ้น ครู่ใหญ่ๆ ต่อมาเรือรบชวาทุกลำก็อับปางจมหายลงสู่ก้นทะเล

๑๙. แม่ทัพเรือชวารอดตายมาได้จากการถูกเผาเรือรบโดยฝีมือของทหารพังพการ แสดงอาการโกรธจัดเพราะเสียหน้า ประกาศก้องต่อหน้าทหารชวาทั้งมวลว่า “ไอ้พวกทหารเมืองส่วยไข่เป็ดชักจะกำแหงหาญมากนักแล้ว” จึงเปลี่ยนใจจากการคิดจะตีเอาเมืองมาเป็นการตามล่าสังหารเพื่อล้างแค้นให้จงได้ พร้อมกับสั่งให้รองแม่ทัพเรือจัดทัพติดตามทหารพังพการไปโดยกระชั้นชิด ฝ่ายทหารพังพการจำนวนหนึ่งก็ขับม้าล่อหลอกให้ทหารชวาติดตามไปทางเชิงเขาด้านทิศตะวันตก บางครั้งก็เกือบได้ปะทะกัน แต่ทหารพังพการชำนาญภูมิประเทศมากกว่าจึงหนีรอดพ้นไปได้ทุกครั้ง

๒๐. ฝ่ายรองแม่ทัพชวาติดตามไล่ล่าไปจนเหนื่อยหล้าตลอดทั้งคืน ประกอบกับไม่ชำนาญพื้นที่จึงหลงวนเวียนอยู่ในป่าเชิงเขาหลักไก่ จนรุ่งสว่างและมารู้ว่าถูกกลลวงของทหารเมืองส่วยไข่เป็ดเข้าแล้ว จึงสั่งทหารถอยทัพกลับ เป็นเวลาเดียวกันกับพังพการคุมทหารออกมาตีกระหนาบ รองแม่ทัพชวาเห็นว่าจนตรอกยากจะหนี จึงชักม้าพุ่งกระโจนเข้าจ้วงฟันพังพการสุดกำลังแต่พลาด พังพการจึงถือโอกาสนี้เองฟันสวนกลับไปอย่างแรง เป็นผลให้อกของรองแม่ทัพชวาโดนคมดาบผงะหงายตายตกจากหลังม้า ทหารชวาที่เหลือตายก็หนีเอาตัวรอดกันโกลาหล เสียงดาบและเสียงร้องดังระงมไปทั้งแนวป่าเนินเขา

๒๑. แม่ทัพชวาเมื่อมองเห็นศพของรองแม่ทัพที่เสียชีวิตเพราะคมดาบของพังพการ โดยทหารนำศพมาให้ดูต่อหน้า ความแค้นก็ประทุขึ้นจนสุดขีดทั้งเจ็บทั้งอายต่อศัตรูยิ่งนัก เมื่อทหารเลวมารายงานว่า “พังพการสั่งให้แม่ทัพไปประลองดาบกันดีกว่าถ้าคิดจะสู้ อย่าปล่อยให้ทหารเลวมาต้องมาสังเวยชีวิตกับคมดาบของเขาเลย ถ้าไม่สู้ก็ให้หนีกลับบ้านกลับเมืองเสีย แล้วอย่าคิดมาจองเวรกับพระเจ้าจันทรภาณุแห่งตามพรลิงค์อีกต่อไป”

๒๒. ฝ่ายแม่ทัพชวารู้ข่าวร้ายยิ่งโมโหหนักขึ้น สั่งนายทัพนายกองเตรียมพลที่เหลือจัดทัพมุ่งไปยังเขาหลักไก่ทันที เมื่อไปถึง…..สงครามก็เกิดขึ้นกับกองทัพพังพการ เสียงดาบกระทบกันดังไม่ขาดสายส่งเสียงสะท้อนไปทั่วหุบเขาหุบห้วย เสียงร้องครวญครางของคนและม้าสอดแทรกมากับเสียงสั่งให้ทหารรุกรบอย่าได้ถอย โอกาสเดียวกับพังพการคอยเตรียมพร้อมอยู่ก่อนแล้วจึงจ้วงฟันแม่ทัพชวาผงะหงายตกจากหลังม้า

๒๓. พังพการเห็นแม่ทัพชวาบาดเจ็บสาหัสจากคมดาบของตนและไม่มีทางต่อสู้ต่อไปจึงไม่คิดที่จะซ้ำเติม สั่งให้ทหารจับตัวปลดอาวุธนำขึ้นหลังม้าพาเข้าวังเพื่อต้องการให้พระเจ้าจันทรภาณุตัดสิน “ด้วยเหตุที่กองทัพชวาได้รุกรานก่อกรรมทำเข็ญกับชาวเมืองตามพรลิงค์อย่างโหดร้ายทารุณขาดมนุษยธรรมอยู่เสมอมา และได้กระทำต่อเพื่อนมนุษย์อย่างป่าเถื่อน…..จงนำตัวมันไปประหารชีวิต…….” สงครามระหว่างชวากับตามพรลิงค์ก็สิ้นสุดลงนับตั้งแต่สิ้นพระสุระเสียงของพระเจ้าจันทรภาณุนับแต่นั้นมา

๒๔. วีรกรรมที่พังพการได้สร้างไว้จนชวาขยาดราบคาบหมดเสี้ยนหนามแผ่นดินลงไปได้ พระเจ้าจันทรภาณุทรงปูนบำเหน็จแต่งตั้งให้พังพการเป็น “ขุนพลแห่งตามพรลิงค์” ทรงมอบราชธิดาให้เป็นคู่ครอง แบ่งเมืองกึ่งหนึ่งให้ครอบครองชื่อ “ไชยมนตรี” ภูเขาที่พังพการสู้รบกับทหารชวาขั้นแตกหักทรงขนานนามว่า “ภูเขามหาชัย” ปัจจุบันที่ศาลพังพการจะมีงูบองหลา (จงอาง) ขนาดใหญ่อยู่เฝ้าศาล ชาวบ้านเรียกว่า “งูปู่พังพการ” ความดีของยอดขุนพลพังพการสร้างสมไว้ให้อนุชนแห่งนครศรีธรรมราชได้รำลึกถึงอยู่ชั่วกาลนาน…….อวสาน


ข้อมูลจากบทความเรื่อง “พังพการ” ตำนานวีรบุรุษเมืองนคร ของนะมา โสภาพงศ์ เรียบเรียงโดย ผศ.พอพล อุบลพันธุ์ ในสารนครศรีธรรมราช
📷 เมืองคอน.com

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE