ในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศศาสนาแล้ว ภายหลังได้มีผู้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุสาวกมากขึ้น พระองค์จึงได้ส่งพระภิกษุเหล่านี้ ออกไปเผยแผ่พระศาสนาตามที่ต่างๆ ซึ่งการที่พระภิกษุออกไปอยู่ห่างไกล จากพระพุทธองค์นั้น ก็เท่ากับห่างจากการฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ อีกทั้ง พระสงฆ์ที่บวชแล้ว ก็มิใช่ว่าจะบรรลุพระอรหันต์กันทุกองค์ ดังนั้น อาจจะเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งของพระพุทธองค์ ที่ต้องการให้มีการทบทวนพระธรรมคำสั่งสอน ของพระองค์อยู่เสมอ รวมทั้งให้สงฆ์ได้มีการปรึกษาหารือ เพื่อแก้ปัญหาหรือทำกิจบางประการร่วมกัน ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้กำหนดให้ พระสงฆ์ต้องประชุมร่วมกัน หรือที่เรียกว่า ทำสังฆกรรม ในบางเรื่อง เช่น การสวดปาติโมกข์ การบวชพระ การกรานกฐิน และการปวารณากรรม เป็นต้น โดยกำหนดให้ทำสังฆกรรมในบริเวณที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อมิให้ฆราวาสมายุ่งเกี่ยว เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ เป็นกิจของสงฆ์ผู้ทรงศีลโดยเฉพาะ แต่เนื่องจากในสมัยแรกๆ พระภิกษุยังไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน
แม้ว่าต่อมาจะมีผู้ถวายพื้นที่เป็นวัดให้พระอยู่ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นป่าตามธรรมชาติ เช่น วัดเวฬุวัน (ป่าไผ่) ดังนั้น เมื่อพระสงฆ์ต้องจาริกไปยังที่ต่างๆ จึงทรงให้หมายเอาวัตถุบางอย่าง เป็นเครื่องกำหนดเขตแดนขึ้น เรียกว่า การผูกสีมา (คำว่า “สีมา” แปลว่า “เขตแดน” ) ซึ่งพระพุทธองค์ได้กำหนดไว้ 8 ประการ ได้แก่ ภูเขา ศิลา ป่าไม้ ต้นไม้ จอมปลวก หนทาง แม่น้ำ และน้ำนิ่ง และเรียกเครื่องหมายบอกเขตแดนนี้ว่า “นิมิต” แต่นิมิตเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ ทำให้การกำหนดเขตแดนที่จะทำสังฆกรรมหรือพูดง่ายๆ ว่า การกำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์ทำได้ยาก และมักคลาดเคลื่อน ต่อมาจึงการพัฒนากำหนดนิมิตใหม่ อีกประเภทหนึ่งขึ้นแทน คือ เป็นนิมิตที่จัดสร้างหรือทำขึ้นเฉพาะ เช่น บ่อ คู สระ และก้อนหิน โดยเฉพาะก้อนหินเป็นที่นิยมกันมาก เพราะทนทานและเคลื่อนย้ายได้ยาก ครั้นเมื่อเทคโนโลยี่มีความก้าวหน้ามากขึ้น จึงได้มีการประดิษฐ์ก้อนหินให้เป็นลูกกลมๆ เป็นเครื่องหมายที่ค่อนข้างถาวรขึ้นแทน และเรียกกันว่า “ลูกนิมิต” ดังที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงมีการเรียกเขตแดนที่ใช้ทำสังฆกรรมนี้ว่า “โบสถ์” ซึ่งสมัยก่อนโบสถ์คงมีลักษณะตามธรรมชาติมากกว่า จะเป็นถาวรวัตถุเช่นสมัยนี้ และเมื่อมี “ลูกนิมิต” เป็นเครื่องหมายบอกเขต ต่อๆ มาก็มีพิธีที่เรียกว่าการ “ฝังลูกนิมิต” ขึ้นด้วย
“การฝังลูกนิมิต” นี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการอีกอย่างหนึ่งว่าการ “ผูกพัทธสีมา” (ซึ่งก็แปลว่า เขตทำสังฆกรรมที่กำหนดตามพุทธานุญาต) โดยปัจจุบันจะเริ่มจากพระสงฆ์ ประชุมพร้อมกันในโบสถ์ เพื่อทำพิธี สวดถอน มิให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดนี้ ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมา หรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อพระสงฆ์สวดถอนเป็นแห่งๆ ไปตลอดสถานที่ ที่กำหนดเป็นเขตแดนทำสังฆกรรมแล้วว่า มีอาณาเขตเท่าใด จากนั้นจะต้องไปขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เพื่อให้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นสิทธิ์ของสงฆ์ ที่เรียกว่าขอ วิสุงคามสีมา (คือเขตที่ได้พระราชทานแก่สงฆ์ เพื่อใช้เป็นที่ทำสังฆกรรม) เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด ( วิสุง แปลว่า ต่างหาก คาม แปลว่า บ้าน)การที่ต้องขอพระบรมราชานุญาตเพราะถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน การจะกระทำใดบนพื้นแผ่นดินจึงต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน
โดยทั่วไป ลูกนิมิตที่ใช้ผูกสีมาจะมีจำนวน 9 ลูก โดยฝังตามทิศต่างๆ โดยรอบอุโบสถทั้ง 8 ทิศๆ ละ 1 ลูก และฝังไว้กลางอุโบสถอีก 1 ลูกเป็นลูกเอก เมื่อจะผูกสีมาพระสงฆ์จำนวน 4 รูป ก็จะเดินตรวจลูกนิมิตที่วางไว้ตามทิศต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่ทิศตะวันออกเป็นต้นไป เรียกว่า สวดทักสีมา จนครบทุกทิศและมาจบที่ทิศตะวันออกอีกครั้ง เพื่อให้แนวนิมิตบรรจบกัน เมื่อสวดทักนิมิตจบแล้ว ก็จะกลับเข้าไปประชุมสงฆ์ในอุโบสถ และสวดประกาศสีมาอีกครั้ง หลังจากนั้นก็จะทำการตัดลูกนิมิตลงหลุมเพื่อกลบ แล้วสร้างเป็นซุ้มหรือก่อเป็นฐานตั้งใบสีมาต่อไป ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันใบสีมานี้ ได้กลายเป็นเครื่องหมายบอกเขตของโบสถ์แทนลูกนิมิต ที่เป็นเครื่องหมายเดิมที่ถูกฝังอยู่ข้างใต้ไปแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของความสวยงาม หรือการออกแบบในภายหลังก็ได้
อนึ่ง ลูกนิมิตที่ใช้ฝังตามทิศต่างๆ นี้ มีผู้เปรียบว่าเป็นเสมือนองค์พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกสำคัญๆ กล่าวคือ ลูกนิมิตที่ฝังทาง ทิศตะวันออก หมายถึง พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งได้ชื่อว่า ผู้รู้ราตรีกาลนาน คือ มีความรู้มาก ผ่านโลกมามาก, ทิศตะวันออกเฉียงใต้ หมายถึง พระมหากัสสปะ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ทรงธุดงค์คุณ, ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หมายถึง พระราหุล ผู้เป็นเลิศทางการศึกษา, ทิศใต้ หมายถึง พระสารีบุตร ผู้เลิศในทางปัญญา, ทิศเหนือ หมายถึง พระโมคัลลานะ ผู้เลิศทางฤทธิ์, ทิศตะวันตก หมายถึง พระอานนท์ ผู้เลิศในทางพหูสูต, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ หมายถึง พระอุบาลี ผู้เลิศในทางวินัย และ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึง พระควัมปติ ผู้เลิศในทางลาภและรูปงาม ส่วนลูกนิมิต กลางโบสถ์ ก็คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ด้วยเหตุที่ในสมัยก่อน การที่จะสร้างโบสถ์ได้หลังหนึ่งๆ หรือแม้จะซ่อมแซมโบสถ์เก่าให้สวยงามขึ้นมิใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ระยะเวลานานมาก ดังนั้น จึงเชื่อกันว่า หากใครได้มีโอกาสทำบุญ “ฝังลูกนิมิต” หรือพูดง่ายๆ ว่าได้ร่วมสร้างโบสถ์ให้พระได้ใช้ทำสังฆกรรมนั้น จะมีอานิสงส์ถึง 6 ประการด้วยกัน คือ
1. ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บทุกชาติ ปราศจากอุปัททวะ (อุ-ปัด-ทะ-วะ สิ่งอัปมงคล) ทั้งหลาย
2. ไม่เกิดในตระกูลต่ำ
3. หากเกิดในมนุษย์โลก ก็จะเกิดเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์
4. หากเกิดในเทวโลก ก็จะเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช
5. จะสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีผิวพรรณผ่องใส และ
6. มีอายุยืนนาน และมักจะใส่สมุด ดินสอ เข็มและด้ายลงไปในหลุมที่ฝังลูกนิมิตด้วย เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้มีความจำดี มีปัญญาเฉียบแหลมเหมือนเข็ม และมีความเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องเหมือนความยาวของด้าย
อันที่จริงแล้ว การ “ฝังลูกนิมิต” เพื่อกำหนดเขตทำสังฆกรรม หรือปัจจุบันก็คือการกำหนดเขตที่เป็นโบสถ์นั้น เป็นกิจของสงฆ์โดยเฉพาะ คือฆราวาสหรือชาวบ้านไม่ได้มีส่วนยุ่งเกี่ยว แต่เนื่องจากปัจจุบัน โบสถ์มิเพียงแต่จะเป็นสถานที่ที่สงฆ์ใช้ทำสังฆกรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสนสถานที่พุทธศาสนิกชน ใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมอื่นๆ ด้วย อีกทั้ง ไม่ว่าสร้างหรือซ่อมแซมโบสถ์ขึ้นใหม่ จำเป็นจะต้องมีการผูกพัทธสีมาใหม่ทุกครั้ง ดังนั้น ทางวัดต่างๆ จึงมักจะประกาศเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชน ได้มาทำบุญสร้างกุศลด้วยกัน โดยการจัดงาน “ ฝังลูกนิมิต” เพื่อสร้างโบสถ์ร่วมกัน ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่ก็ยินดี เพราะเชื่อกันว่าจะได้อานิสงส์มากดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม อานิสงส์จากการร่วมทำบุญฝังลูกนิมิตนี้ บางคนอาจจะมีข้อกังขาว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องอนาคตอันยาวไกล แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นผลทันตา ก็คือ จิตใจที่อิ่มเอิบ และความปีติที่ได้มีโอกาสทำบุญสร้างกุศลที่ดีแก่ตนเอง ที่สำคัญบุญนี้ก็ได้มีส่วนช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรต่อไปด้วย
ภาพ/ข้อมูล internet
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ปิดกิจกรรมวันเดย์ทริป นครศรีธรรมราช