คัมภีร์บุด ศาสตร์แห่งมนต์เมืองนคร คัมภีร์โบราณของปักษ์ใต้

11274
views
ศาสตร์แห่งมนต์เมืองนคร

กระดาษของหนังสือบุดนั้น ทำจากต้นเปลือกข่อย และเปลือกกฤษณา ชนิดสีที่ใช้เขียนจิตรกรรมในหนังสือบุด มีทั้งที่ใช้สีฝุ่น , สีน้ำ และสีที่ใช้กันในท้องถิ่น ชนิดของสีที่พบมากส่วนใหญ่เป็นแม่สี ได้แก่ สีดำ , สีแดง , สีน้ำเงิน , สีเหลือง , สีขาว , สีเขียว , สีม่วง , สีส้ม และสีทอง มีการใช้วิธีผสมสีและการใช้สีหนักเบา ในการเขียนภาพธรรมชาติ ประเภทต้นไม้ หน้าผา ภูเขา ทะเล ท้องฟ้า สีรองพื้นที่นิยมใช้ ได้แก่ สีแดง , สีน้ำเงิน , สีน้ำทะเล, สีดำและสีเหลือง

หนังสือบุด

หนังสือทำจากเปลือกไม้ รูปเล่ม มีลักษณะเป็นสมุดพับ ที่มีกระดาษขนาดเดียวกัน พับไปพับมาซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นหรือหลายๆ กลีบ ส่วนบนสุดและล่างสุดของหนังสือบุดแต่ละเล่ม จะใช้เป็นปกหน้าและปกหลัง ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากกระดาษชั้นอื่น ๆ คือ มักจะเป็นกระดาษหนา หรือกระดาษขัดมัน

หนังสือบุด

การจัดหน้าในหนังสือบุดแตกต่างจากหนังสือประเภทอื่น ๆ คือไม่มีเลขกำกับหน้า เพียงแต่บอกหน้าไว้ ๒ ตอนเท่านั้นคือ “หน้าต้น กับ หน้าปลาย หรือต้นสมุด” กับ “ปลายสมุด” เท่านั้น ผู้อ่านต้องเริ่มอ่านจากหน้าต้น หรือต้นสมุด เปิดอ่านตามรอยพับไปเรื่อย ๆ จนหมดหน้าต้น ซึ่งจะเขียนบอกไว้ ให้พลิกไปอ่านหน้าปลายต่อไป

หนังสือบุด

หนังสือบุดแบ่ง 2 ประเภทจำแนกตามลักษณะของกระดาษที่ใช้เป็น ๒ ประเภท คือหนังสือบุดดำ กับหนังสือบุดขาว

หนังสือบุดดำ

หนังสือบุดดำ จะเป็นวิชามาร เนื้อกระดาษมีสีดำ เขียนด้วยอักษรสีทอง สีเหลืองหรือสีขาว เนื้อหาที่เขียนในหนังสือบุดดำ มักจะเป็นเรื่องสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ เช่น ไสยเวทย์ มนต์ดำ ตำราพิชัยสงครามและตำราต่าง ๆ เป็นต้น

หนังสือบุดขาว

หนังสือบุดขาว จะเป็นวิชาเทพ เนื้อกระดาษมีสีขาว เขียนด้วยตัวอักษรสีดำเนื้อหาที่เขียนในหนังสือบุดขาว มีหลากหลายทั่วไป เช่น วรรณกรรมประโลมโลกและวรรณกรรมศาสนา ตำรายา การแพทย์โบราณ ฯลฯ เป็นต้น

หนังสือบุด

หนังสือบุดมีหลายขนาด คือขนาดใหญ่มีความกว้าง ๒๐ ถึง ๓๐ เซนติเมตร ยาว ๖๕ ถึง ๗๕ เซนติเมตร ขนาดกลางมีความกว้าง ๑๐ ถึง ๒๐ เซนติเมตร ขนาดเล็กมีความกว้าง ๕ ถึง ๑๐ เซนติเมตร ยาว ๒๐ ถึง ๓๕ เซนติเมตร เท่าที่พบในนครศรีธรรมราชหนังสือบุดกลางแพร่หลายมากที่สุดอักษรและภาษาที่ใช้ในหนังสือบุด
อักษรและภาษาที่ใช้หนังสือบุด มี ๓ แบบ คือ
๑. อักษรภาษาไทย
๒. อักษรขอมภาษาไทย เรียกว่า “ขอมไทย”
๓. อักษรขอมภาษาบาลี เรียกว่า “ขอมบาลี”

หนังสือบุดดำ

การเขียนหนังสือบุดมีคตินิยมอยู่บางประการ เช่น จะต้องเขียนใต้เส้นบรรทัด ถือเป็นการยกย่องครู การขึ้นต้นเรื่องจะต้องมีคำนมัสการ พระศาสนา บูชาพระรัตนตรัย สรรเสริญผู้มีพระคุณ ลงท้ายด้วยการบอกชื่อผู้เขียน บอกวันเดือนปีที่เขียน และบอกคำอธิษฐาน เป็นต้น

หนังสือบุด

หนังสือบุด จึงเป็นแหล่งรวบรวมสรรพวิทยาการไว้หลายสาขา คือศาสนา กฎหมาย ตำนานและประวัติศาสตร์ ตำราและแบบเรียน สุภาษิตและวรรณกรรมประโลมโลก เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทลายลักษณ์ จึงเป็นทรัพย์ทางปัญญาของชุมชนและสังคม ให้ประโยชน์ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ภาพประกอบในหนังสือ มีทั้งภาพเขียนสี และภาพลายเส้น ที่ลักษณะเนื้อหาและศิลปะหลากหลาย บางเล่มมีความสมบูรณ์ทั้งด้านรูปเล่มและเนื้อหา ตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย บางเล่มชำรุดเป็นบางตอน ข้อความบางตอนบางส่วนขาดหายไป แต่ภาพเขียนสียังชัดเจนและสวยงามสถานที่เก็บรักษาศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งเจ้าของเดิมได้บริจาคไว้ เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา


พิพิธภัณฑ์ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ให้บริการสืบค้นทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ค้นคว้า ข้อมูลประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภูมิปัญญา …

ภาพ/ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช , siamsouth.com
ญาดา ร้อยเรียง

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE