ผุด 4 เลน ทุ่งสง-อ่าวลึก กรมทางหลวง เตรียมตัดถนนเส้นใหม่เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน

102738
views

กรมทางหลวง เตรียมตัดถนนเส้นใหม่เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน (อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กับ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่) ระยะทาง 97 กิโลเมตร

นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2561 ที่โรงแรมแกรนด์เซาเทิร์นทุ่งสง อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช กรมทางหลวง ได้มอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัท พีทีอี เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอสพีเอส โกลบอล คอนซัลติ้ง จำกัด และบริษัท ซีคอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จัดประชุมสรุปผลการทบทวนรูปแบบถนนโครงการบริเวณที่ตัดกับทางสายหลัก(สัมมนาครั้งที่ 4)

การศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหลวงแนวใหม่สายทุ่งสง – บรรจบทางหลวงหมายเลข 4 เพื่อเป็นการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในพื้นที่ภาคใต้ให้มีความต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงโครงข่ายถนนในแนวตะวันตก-ตะวันออก เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทางถนน ประหยัดเวลาในการเดินทาง ช่วยรองรับการเดินทางระหว่างภาคใต้ตอนล่างขึ้นสู่กลุ่มจังหวัดท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามัน ส่งผลให้การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในเรื่องกิจกรรมการท่องเที่ยวสูงขึ้น มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สื่อมวลชน ตลอดจนประชาชนผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้มีเกียรติทุกท่านที่ได้เข้าร่วมประชุม

รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำหรับเส้นทางสายใหม่ที่มีการศึกษาความ มีจุดเริ่มต้นจาก กม. 281+800 ของทางหลวงหมายเลข 41 บริเวณบ้านหนองเลน ตำบลนาโพธิ์ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านพื้นที่ตำบลนาบอน ตำบลแก้วแสน ตำบลทุ่งสง อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลปริก ตำบลท่ายาง อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากนั้นแนวเส้นทางเข้าสู่พื้นที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ บริเวณตำบลสินปุน และผ่านไปยังพื้นที่ ตำบลเขาดิน ตำบลหน้าเขา หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะตัดผ่านไปยังพื้นที่เขตรักษาพันธุ์-สัตว์ป่าคลองพระยา ซึ่งมีลักษณะเป็นช่องเขา มีแนวถนนเดิมคือ ทางหลวงชนบทหมายเลข กบ.1020 ตัดผ่าน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองพระยาให้น้อยที่สุด เมื่อแนวเส้นทางโครงการพ้นจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองพระยา บริเวณตำบลคลองยา ผ่านตำบลคลองหิน และตัดผ่านทางหลวงหมายเลข 44 บริเวณทางด้านทิศเหนือของมัสยิดบ้านเขางาม ในพื้นที่ตำบลบ้านกลาง ก่อนจะไปสิ้นสุดบริเวณ กม. 928+700 ของทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณบ้านอ่าวลึกเหนือ ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ รวมระยะทางของโครงการทั้งสิ้นประมาณ 97 กิโลเมตร

ผุด 4 เลน ทุ่งสง-อ่าวลึก

ลักษณะโครงการเป็นถนน 4 ช่องจราจร ซึ่งแนวถนนบางช่วงจะทับซ้อนกับแนวถนนเดิม บางช่วงเป็นถนนตัดใหม่ความกว้างเขตถนน 60 เมตร ส่วนที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ความกว้างเขตถนน 40 เมตร ซึ่งได้ออกแบบความเหมาะสมไว้ 3 รูปแบบ คือรูปแบบที่ 1 กรณีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่ทั่วไป ออกแบบเป็นถนน 4 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้างด้านละ 2.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้างด้านละ 1.50 เมตร ออกแบบเกาะกลาง แบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) กว้าง 9.00 เมตร ระยะเขตทางรวมทั้งสิ้น 60 เมตร

รูปแบบที่ 2 กรณีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองพระยา (ถนนระดับดิน) ออกแบบเป็นถนน 4 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้างด้านละ 2.50 เมตร ออกแบบเกาะ กลางแบบเป็นราวหรือกำแพงกั้น (Barrier Median) กว้าง 1.60 เมตร ระยะเขตทางรวมทั้งสิ้น 40 เมตร และทำการออกแบบบ่อพักน้ำคอนกรีต กว้าง 0.75 เมตร ลึก 1.00 เมตร ทั้ง 2 ข้างถนน และ รูปแบบที่ 3 กรณีแนวเส้นทางผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองพระยา (โครงสร้างสะพาน)

ในเบื้องต้นการออกแบบสะพานจะสอดคล้องกับถนนรูปแบบที่ 2 โดยรูปแบบโครงสร้างเป็นแบบ Box Girder มีช่วงความยาว(Span) 20 เมตร เป็นสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้างข้างละ 2.50 เมตร และมีระยะแบริเออร์คอนกรีตบริเวณขอบสะพานฝั่งละ 0.5 เมตร รวมความกว้างของงานโครงสร้างสะพานต่อทิศทาง 10.50 เมตร เขตทางกว้าง 40 เมตร ซึ่งการออกแบบสะพานบกนี้เพื่อเป็นการลดระดับความลาดชันของถนนโครงการบริเวณผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองพระยา ระยะทางประมาณ 500 เมตร

ส่วนผลการศึกษาทบทวนรูปแบบจุดตัดถนนโครงการกับทางสายหลัก จากเดิมที่ออกแบบเป็นทางแยกระดับดินควบคุมการจราจรด้วยสัญญาณไฟจราจร เปลี่ยนเป็นทางแยกต่างระดับ และสะพานข้ามทางแยก จำนวนทั้งสิ้น ๕ แห่ง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความสะดวก รวดเร็วในการเดินทาง และมีความปลอดภัยในการสัญจร ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการกลับรถ เพื่อให้สอดรับกับประเด็นข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากประชาชนในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีความกังวลด้านโอกาสในการเพิ่มการเกิดอุบัติเหตุบริเวณที่แนวเส้นทางโครงการตัดกับถนนเส้นเดิม สำหรับจุดกลับรถให้มีทุกระยะ 3-4 กิโลเมตร กำหนดมี 2 รูปแบบ คือ จุดกลับรถโดยการแบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะแบบร่อง (Depressed Median) จำนวน 23 จุด และจุดกลับรถใต้สะพาน จำนวน 6 จุด ทั้งนี้หากโครงการนี้สามารถดำเนินการได้คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2572

– ประชาสัมพันธ์จังหวัด นครศรีธรรมราช

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE