ศรีธรรมราช นครแห่งเมืองใต้

3672
views
ศรีธรรมราช นครแห่งเมืองใต้
ศรีธรรมราช นครแห่งเมืองใต้

ศรีธรรมราช นครแห่งเมืองใต้ อาณาจักรนครศรีธรรมราช เป็นอาณาจักรที่สิ้นสุดลงก่อนหน้าอาณาจักรอื่น ๆ ในยุคสมัยเดียวกัน โดยเป็นประเทศราชของอโยธยาและสุโขทัย จนสืบเนื่องมาถึงอาณาจักรอยุธยา เรื่องราวของอาณาจักรนี้จึงค่อนข้างมืดมนไม่ชัดเจน

อาณาจักรนครศรีธรรมราช มีวิวัฒนาการมาจากแคว้นตามพรลิงค์ แคว้นหนึ่งในเขตวัฒนธรรมศรีวิชัยตอนบน (ภาคใต้ของไทย) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมทวารวดี ชาวนครศรีธรรมราชเป็นคนไทกลุ่มหนึ่ง ปกครองเมืองสิบสองนักษัตร (๑๒ เมือง) โดยมีเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองศูนย์กลาง กษัตริย์ปกครองอยู่ในราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช

อนุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช:

ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช มีที่มาจากกษัตริย์ผู้สถาปนา อาณาจักรนครศรีธรรมราช (จังหวัดนครศรีธรรมราช) คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จากหลักฐานที่พบจดบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณในหอสมุดแห่งชาติ มีชาวนครศรีธรรมราชท่านหนึ่งซึ่งสนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ได้ค้นคว้าพบดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราช สถาปนาขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ จุลศักราช 649 ตรงกับพ.ศ. 1830 ซึ่งเป็นการสถาปนาหลังจากอาณาจักรศรีวิชัยได้ล่มสลายไปแล้ว เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัย มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1000- 1800

พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงมีพระอนุชา 3 พระองค์ องค์รองชื่อ จันทรภาณุ ซึ่งเป็นพระนามฐานันดรตำแหน่งอุปราช องค์สุดท้ายทรงพระนามว่า พงษาสุระ เมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเชษฐาสวรรคต องค์รองพระเจ้าจันทรภาณุขึ้นเสวยราชย์แทน เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากกษัตริย์แห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราช พระองค์ก่อนสิ้นพระชนม์ กษัตริย์พระองค์ต่อมาก็เป็นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแทน ดังเช่นเมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์พี่สิ้นพระชนม์ พระเจ้าจันทรภาณุ ก็ได้รับพระนามว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เช่นกัน แต่คนทั่วไปก็มักจะเรียกจนติดปากว่า พระเจ้าจันทรภาณุ หรือในอีกชื่อหนึ่งของพระองค์คือ จตุคามรามเทพ

“ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช” เป็นราชวงศ์หนึ่ง ของไทยที่เคยมีอำนาจปกครอง อาณาจักรนครศรีธรรมราช ซึ่งปกครองเมืองต่างๆ ทางภาคใต้ของไทย จำนวน 12 เมือง เรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตร ดังนี้

ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมืองสายบุรี ใช้ตราหนู เมืองสายบุรีเป็นเมืองเก่าบนฝั่งแม่น้ำสายบุรี ประกอบด้วยชุมชนเกษตรกรรมบนพื้นราบริมทะเลหลายแห่ง จัดเป็นหัวเมืองที่ 1 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราหนู (ชวด) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดปัตตานี

เมืองปัตตานี ใช้ตราวัว เมืองตานีเคยเป็นเมืองท่าสำคัญในภาคใต้ฝั่งตะวันออกซึ่งรู้จักในหมู่พ่อค้า ต่างชาติช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-18 ในชื่อ “ลังกาสุกะ” จัดเป็นหัวเมืองที่ 2 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราวัว (ฉลู) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดปัตตานี

 เสือ

เมืองกลันตัน ใช้ตราเสือ เมืองกลันตันเป็นชุมชนเก่าแก่ทางตะวันออกของคาบสมุทรมลายู แต่เดิมประชาชนนับถือศาสนาพุทธและฮินดู ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จัดเป็นหัวเมืองที่ 3 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราเสือ (ขาล) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งของประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย

เมืองปาหัง ใช้ตรากระต่าย เมืองปาหังเป็นชุมชนทางตอนล่างของแหลมมลายู ติดกับไทรบุรีหรือเกดะห์ จัดเป็นหัวเมืองที่ 4 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตรากระต่าย (เถาะ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย

พญานาค

เมืองไทรบุรี ใช้ตรางูใหญ่ เมืองไทรบุรีเป็นชุมชนเก่าทางฝั่งตะวันตกของแหลมมลายู พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและบึงตม เดิมประชาชนนับถือพุทธศาสนา ล่วงถึงพุทธศตวรรษที่ 20 จึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จัดเป็นหัวเมืองที่ 5 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตรางูใหญ่ (มะโรง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นรัฐหนึ่งในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ชื่อว่า “เกดะห์”

เมืองพัทลุง ใช้ตรางูเล็ก เมืองพัทลุงเป็นชุมชนเก่าแก่แต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 11-13 ได้รับอิทธพลทางพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่องทุกยุคสมัย จัดเป็นหัวเมืองที่ 6 ในทำเนียบสิบสองนักษัตร ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดพัทลุง

ม้า

เมืองตรัง ใช้ตราม้า เมืองตรังเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันตก ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่ควนธานี ต่อมาได้ย้ายไปที่กันตังและทับเที่ยงตามลำดับ จัดเป็นหัวเมืองที่ 7 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราม้า (มะเมีย) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดตรัง

เมืองชุมพร ใช้ตราแพะ เมืองชุมพรเป็นชุมชนเกษตรและท่าเรือบนคาบสมุทรขนาดเล็ก มีประชากรไม่มากนักเนื่องจากดินฟ้าอากาศไม่อำนวยให้ทำมาหากิน จัดเป็นหัวเมืองที่ 8 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราแพะ (มะแม) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดชุมพร

เมืองบันทายสมอ ใช้ตราลิง เมืองบันทายสมอสันนิษฐานว่าเป็นเมืองไชยา ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่มาแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ เป็นอย่างน้อย มีร่องรอยความเจริญทางเศรษฐกิจและศาสนาพุทธนิกายหินยานและมหายาน รวมทั้งศาสนาฮินดูนิกายไวษณพและนิกายไศวะจำนวนมาก จัดเป็นหัวเมืองที่ 9 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราลิง (วอก) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ระกา

เมืองสะอุเลา ใช้ตราไก่ เมืองสะอุเลาสันนิษฐานว่าเป็นเมืองท่าทองอุแทหรือกาญจนดิษฐ์ ซึ่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าทอง และลุ่มคลองกะแดะ เคยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงชั้นเอกและเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญของนครศรี ธรรมราช จัดเป็นหัวเมืองที่ 10 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราไก่ (ระกา) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เมืองตะกั่วป่า ใช้ตราสุนัข เมืองตะกั่วป่าเคยเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งทะเลตะวันตก เป็นแหล่งผลิตดีบุกและเครื่องเทศมาแต่โบราณ จัดเป็นหัวเมืองที่ 11 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราสุนัข (จอ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

เมืองกระบุรี ใช้ตราหมู เมืองกระบุรีเป็นชุมชนเล็ก ๆ บนฝั่งแม่น้ำกระบุรี ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่า และภูเขาสลับซับซ้อน จัดเป็นหัวเมืองที่ 12 ในทำเนียบเมืองสิบสองนักษัตร ถือตราสุกร (กุน) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดระนอง

 สมัยสุโขทัย

เมื่อสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ ของอาณาจักรไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง อาณาจักรนครศรีธรรมราช เองก็มีอำนาจรุ่งเรืองในภาคใต้ อาณาจักรนครศรีธรรมราชเป็นมิตรที่ดีต่ออาณาจักรสุโขทัย มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา มีส่งพระสงฆ์ไปยังอาณาจักรสุโขทัย เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา ยังไม่ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า อาณาจักรนครศรีธรรมราชยอมเข้ารวมเป็นส่วนหนึ่ง ของประเทศไทยในปัจจุบัน ตั้งแต่ในสมัยใด แต่จากการสันนิษฐานคาดว่า อาณาจักรนครศรีธรรมราชคงเป็นประเทศราชของอโยธยาและสุโขทัยตามลำดับมาตั้งแต่ ประกาศเอกราชจากศรีวิชัย เนื่องจากประวัติศาสตร์ของสองนครนั้นกล่าวว่านครศรีธรรมราชเป็นประเทศราชของ ตนในช่วงต่อเนื่องกันพอดี และต่อมาคงได้มีเอกราชอยู่สักระยะหนึ่ง จึงเข้ามาเป็นประเทศราชของอาณาจักรไทยอีกครั้งในสมัยอาณาจักรอยุธยาในประมาณ ต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ที่ปรากฏในหลักฐานที่เด่นชัดที่สุดคือในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชพระองค์มี พระมเหสี 4 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือพระมเหสีจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศก ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติในสมัยโบราณ ที่จะให้อาณาจักรของตน มีความสัมพันธ์กับกับอีกราชอาณาจักรหนึ่ง เพื่อเป็นมิตรกันจะได้เกื้อหนุน ช่วยเหลือกัน

อาณาจักรนครศรีธรรมราชรุ่งเรืองอยู่ได้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ โดยอาจเป็นประเทศราชของอโยธยาและสุโขทัยตามลำดับก็ตาม แต่ก็คงมีช่วงที่เป็นเอกราช สร้างสรรค์วัฒนธรรมที่เรียกว่า “ไทยถิ่นใต้” ตามเขตแดนปัจจุบันนั่นเอง

เขียนโดย นิธิณัช สังสิทธิ

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE