วัดมเหยงคณ์ ต้นสมุดพงศาวดาร เมืองนครฯ

6763
views
วัดมเหยงคณ์ ต้นสมุดพงศาวดาร เมืองนครฯ
วัดมเหยงคณ์ ต้นสมุดพงศาวดาร เมืองนครฯ

พระมหาธาตุวรมหาวิหาร พระเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ศูนย์รวมจิตใจของคนนครศรีธรรมราช

พระมหาธาตุ

ต้นสมุดพงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช ตอนนี้ พระพิศิษฎ์วินัยการ (เสรี) เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ ได้อนุญาตให้ พระสัมพันธ์ จุลฺลปณฺฑิโต คัดลอกจาก ต้นฉบับเดิม ซึ่งเจ้าอาวาสองค์เดิมคือ พระธรรมจักรเจตยาภิบาล (อ่ำ) ได้อนุญาตให้พระไพศาล อนีจกุล คัดลอกจากต้นฉบับเดิมของ พระศิริธรรมบริรักษ์ (เย็น) ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งได้คัดต้นฉบับเดิม เป็นสมุดไทย สีขาว เขียนด้วยเส้นหมึกสีดำของนายช่วย ผู้ใหญ่บ้าน บ้านทุ่งเจียะ ตำบลจันดี แขวงอำเภอฉวาง เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๐

อนุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช:

พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ผู้สถาปนา อาณาจักรนครศรีธรรมราช (ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)

เมื่อองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์พระพุทธเจ้า เสด็จเข้าสู่พระมหานครนฤพาน พระพุทธศักราชได้ ๑๕๓๕ สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมโศกราช สร้างพระเจดีย์ฐานสรวมพระธาตุองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าสำเร็จแล้วมินาน สมเด็จ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเสด็จสวรรคต แล้วจึงทิริปีทิริทุ้ย สองคนพี่น้องเป็นบุตรแห่ง สมเด็จนางมัดสาระเทวี พระน้องแห่งสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทิริปีทิรินุ้ย จึงคิดอ่านด้วยกัน ถวายเจ้าฟ้าจันทรวดี แต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และให้เจ้าสวรรณคูตา เข้าไปส่งเจ้าฟ้าจันทรวดีผู้พี่ สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง จึงโปรดให้เจ้าสุรรณคูตา ผู้เป็นราชบุตร แห่งพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ออกมาเป็นพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ตามพระวงศาสันดานสืบพระยาติวงศ์ รักษาพระบรมธาตุสมเด็จพระพุทธเจ้า เมืองนครศรีธรรมราช หาดทรายแก้วศิริวัฒติมหานคร กับด้วยกรมการเป็นช้านานได้ ๑๑ ปี

แล้วยังมีเศรษฐี สองคนภรรยา มาแต่เมืองหงษาวดี ชื่อโคทะคีรีเศรษฐี ภรรยานั้น ชื่อว่า นางมระทานพิรี มีน้ำใจศรัทธายินดีในพระศาสนา คิดถึงพระบรมธาตุแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า จึงแต่งสำเภา ๓ ลำ แล้วเอาทองมาสองเกวียน เงินกตราหงษาวดี ๔ เกวียน และเครื่องบรรณาการ ครั้นสำเภามาถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว โคทะคีรีเศรษฐี แต่งของผ้าผ่อนแพรพรรณ มาถวายแด่ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ขอที่จะตั้งบ้านเรือนอยู่

หลักศิลาจารึก

หลักศิลาจารึก
พระเจ้าศรีธรรมโศกราช จึงตรัสถามว่า “คนมาด้วยกันมากน้อยแค่ใด”
จึงกราบบังคมทูลว่า “มากัน ๓ ลำสำเภา คนประมาณ ๗๐๐ คน” พระเจ้าศรีธรรมโศกราช รับสั่งให้ขุนโยธาธิปตำรวจ นำมาให้ตั้งบ้านเรือน อยู่ฝ่ายตำบลพายัพเมืองนคร ตำบลท่าประตูช้าง ตั้งเป็นสังเขตบ้านตามยาว ๓ เส้น ๕ วา ตามกว้าง ๒ เส้น ๑๕ วา จึงโคทะคีรีเศรษฐี ให้ตั้งเป็นบ้านตามเขตสามบ้าน พระท้าวราชผู้เป็นน้องบ้านหนึ่ง โคทะคีรีเศรษฐีบ้านหนึ่ง พระเจ้าศรีบ้านหนึ่ง ท่านสองคนเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียว ด้วยโคทะคีรีเศรษฐี เป็นบ้านสามบ้าน พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ประทานให้เป็นขาด และโคทะคีรีเศรษฐี คิดอ่านด้วยพระท้าวราช พระท้าวศรี ผู้เป็นน้อง เอาทองคำคนละ ๑๐ ชั่ง กราบทูลพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ให้ช่างแผ่สรวมยอดพระบรมธาตุ แล้วทำบุญให้ทาน

วัดมเหยงคณ์
วัดมเหยงคณ์ 1145 ถ.ราชดำเนิน ต.คลัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เดิมชื่อ “วัดเสมาทอง”

โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์
ใกล้ๆกันคือ โรงเรียนเทศบาลวัดมเหยงคณ์

อนึ่งโคทะคีรีเศรษฐีมีบุตรชายหญิงสองคน ชายนั้นชื่อ “นนทกุมาร” แต่งให้ขึ้นเฝ้า พระเจ้าศรีธรรมราช บุตรหญิงนั้นชื่อ “เจ้าสุวรรณมาลา” ครั้น ทรงวัยใหญ่ขึ้นมาอายุสมได้ ๑๑ ปี พระเจ้าศรีธรรมโศกราช สั่งแก่โคทะคีรีเศรษฐี ให้เจ้าสุวรรณมาลาอภิเษกกับเจ้าสุวรรณณา อันเป็นพระราชบุตรแห่งพระเจ้าศรีธรรมโศกราช แล้วเจ้าสุวรรณณา กับเจ้าสุวรรณมาลาครองรักกันอยู่ ประสูติพระราชบุตรเป็นชายองค์หนึ่งได้สองเดือน พระเจ้าศรีธรรมโศกราช กับโคทะคีรีเศรษฐีจึงทำการมงคล ให้พระนามว่า เจ้าโพธกุมาร พระ ชันษาได้ ๒๓ ปี เจ้าโพธกุมาร มีน้ำจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา เกิดศรัทธาบวชในพระศาสนา จึงบอกแก่โคทะคีรีเศรษฐี ซึ่งเป็นพระเจ้าตา ๆ กราบทูลพระเจ้าศรีธรรมโศกราชพระเจ้าปู่ พร้อมกับบวชเจ้าโพธกุมารเป็นพระภิกษุในพระศาสนา

พระอุโบสถ วัดมเหยงคณ์
พระอุโบสถ วัดมเหยงคณ์

ด้านหน้าพระอุโบสถ วัดมเหยงคณ์
ด้านหน้าพระอุโบสถ วัดมเหยงคณ์

พระเจ้าศรี ธรรมโศกราช และ โคทะคีรีเศรษฐี พร้อมด้วยญาติวงศ์ และกรรมการปรึกษากันว่า เจ้าโพธกุมาร เป็นราชนัดดาแห่งเรา บวชเป็นภิกษุภาวนาในพระศาสนาและเจริญฝ่ายวิปัสสนามูลและเราจะสร้างพระอาราม ฝ่ายอุดร เมืองฝ่ายตะวันตกออกท่าประตูช้าง ฝ่ายทักษิณ บ้านโคทะคีรีเศรษฐี เราให้เรียก วัดท่าช้างพระอารามหลวง แล้วจึงตั้ง เจ้าโพธกุมาร ซึ่งเป็นพระภิกษุนั้นเป็น สมเด็จเจ้าโพธิสมภารโลกาจาริยญาณคัมภีร์ ศรีสังฆ์บรินายกมหาสวามี พระเจ้าท้าวผู้เป็นอธิการวัดท่าช้างอารามหลวงใหญ่ เป็นหัวงานเอกแก่พระสงฆ์ทั้งปวง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชโคทะคีรีเศรษฐีเบิกสร้างเป็นนาฝ่ายตะวันตก วัดท่าช้างเป็นา ๒๙๗ บิ้ง(แปลง) ให้เรียกวัด “หัวกรุดสราท” ซื้อรักซื้อทองปิดพระพุทธรูปสำหรับวัดท่าช้าง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แต่เครื่องพระราชทานกันซึ่งคานหาม สับทนเจ็ดตาฬีปัดแฉกรูปบัวตูมบาตรเหล็กผาเชิงประดับมุข นายจันคงเป็นขุนอินทดพลฯ หมวด ๑ นายทองสุข เป็นขุนชินคุมพวกช้างกังซิงคานหาม นายคงประยาคุมหมวดจังหัน และพระเจ้าศรีธรรมโศกราชกับโคทะคีรีเศรษฐี แต่งพระราชทานอุทิศถวาย ไว้แก่สมเด็จพระเจ้าโพธิสมภาร ผู้เป็นเจ้าอธิการวัดท่าช้าง อารามหลวง

พระท้าวราช ท้าวศรีทรงพระดำริกับโคทะคีรีเศรษฐี นำความไปกราบทูลแก่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ว่า จะสร้างพระอารามฝ่ายตะวันออกบ้าน จัดกำแพงล้อมทั้งสี่ด้าน แล้วจะก่อพระเจดีย์มีช้างล่อศรีสะพัง สี่ด้าน แล้วมีพระสถูป ๔ พระองค์ แลพระวิหารลงโบสถ์เป็นประทาน ๗ ห้อง มีเฉลียงซ้ายขวา พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พร้อมด้วยโคทะคีรีเศรษฐี พระท้าวราชพระท้าวศรี ให้พระนามว่า “วัดเสมาทอง” ให้ อุปจาระด้วยวัดท่าช้าง ให้ลงอุโบสถแลพรรษาด้วยวัดท่าช้างอารามหลวง ตามพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และ โคนันทะคีรีเศรษฐี จึงพระท้าวราชพระท้าวศรีให้ทาสไปเปิดนา ที่ทุ่งหัวทะเล ๑๑ ริ้ว แลนายามตำบลตรอกเนียด ๙ ริ้ว ได้หมวดหนึ่ง แลนาสามตำบล แล้วพระท้าวราชท้าวศรี ให้เป็นท่านพระครูปลัดในสมเด็จพระเจ้าโพธิสมภาร แต่งเป็นเจ้าอธิการวัดเสมาทอง ให้บังคับว่ากล่าวแก่พระสงฆ์ทั้งปวง และอธิการวัดขึ้นเก้าอาราม แล้วพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และโคทะคีรีเศรษฐี พร้อมกันให้ตั้งตำราไว้แก่ สมเด็จพระเจ้าโพธิสมภาร ผู้เป็นอธิการวัดท่าช้าง โปรดเป็นอันขาดแล้ว ให้สังเขตแล่นทุบาต วัดท่าช้างฝ่ายทักษิณ แล่นไปต้นโพธิ์สามวิหาร แต่โพธิสามวิหาร แล่นไปโคกหมก แต่โคกหมก แล่นไปตามแนวป่า ต่อด้วยโคกพะวา ต่อปากคล่อง โคกพะวา ไปต่อด้วยคลองหูน้ำ แต่คลองหูน้ำ แล่นไปทลาหลวง แต่ทลาหลวง แล่นไปวัดท่าช้าง เป็นสังเขตแล่นทุบาตรและนาปรังแล่นทุบาทวัดท่าช้าง

หอระฆัง วัดมเหยงคณ์
หอระฆัง วัดมเหยงคณ์

ศาลาบดินทรเดชานุชิต
ศาลาบดินทรเดชานุชิต

กำแพงศาลาบดินทรเดชานุชิต
กำแพงศาลาบดินทรเดชานุชิต

โคทะคีรีเศรษฐี และพระท้าวราชพระท้าวศรี ให้ทานเป็นนา ๒๙๗ บิ้ง ตั้งนายเทพยาเป็น ขุนเสนาธรรมเสนา นายฟู่หมวดสำรับวัดท่าช้าง ให้เรียกหัวตรุดสราท ขึ้นแก่สมเด็จพระเจ้าโพธิสมภาร ผู้เป็นอธิการวัดท่าช้าง อารามหลวง นานไป ถ้าท้าวพระยาพระหลวงกรมการขุนหมื่น ราษฎรคนใด ยกเอานาทำกินไม่ให้พวดเสียตรุศสราท ตามธรรมเนียมและวิวาทยกเอาไพร่และนาไปขึ้นแก่วัดวาและอารามอื่นก็ดี ให้ผู้นั้นตกในนรกอเวจี ได้ ๕๐๐ กัลป์อนันทชาติ อย่าให้ได้พบพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า และอย่าให้มันมีกำเนิด ให้มันเกิดเป็นมาร อับมันฑะกะหินะ ทุกข์ภัย ความจัญไรมีทุกชาติ ด้วยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และโคทะคีรีเศรษฐี พระท้าวราชพระท้าวศรีอุทิศถวายไว้ วัดท่าช้าง วัดเสมาทองอารามหลวง ดังนี้ และกับโขลงให้หมอเฒ่าสี่รักษาเหล่ารักษาไว้ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช กับโคทะคีรีเศรษฐี พระท้าวราชพระท้าวศรี ถวายไว้สำหรับพระสมเด็จเจ้าโพธิสมภารวัดท่าช้าง หมอเฒ่า ๔ คน คนหนึ่งหมอเฒ่าหมอไชย์ ตั้งบ้านแก้ว ตั้งบ้านเรือน อยู่ทุ่งพะไทรมาดหาดทรายขาว ๑ คนหนึ่ง หมอเฒ่าแก้วตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ชะมาย ๑ คนหนึ่ง หมอเฒ่าจันคง ตั้งบ้านเรือนอยู่ทุ่งหัวทะเล ๑ คนหนึ่ง หมอเฒ่าสี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ท่าทอง ๑ คนหนึ่ง จบไว้เท่านี้

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE