28 ธันวาคม วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

3560
views

๒๘ ธันวาคม วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งกรุงธนบุรี พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชจากพม่าได้สำเร็จภายในเวลา ๗ เดือน นับตั้งแต่เสียกรุงเมื่อปี ๒๓๑๐

พระเจ้าตากสิน วัดเขาขุนพนม พระสิน และ พระด้วง สองภิกษุหนุ่ม ออกบิณฑบาตด้วยกันทุกเช้า วันหนึ่งมีเจ๊กผูกหางเปีย เดินผ่านภิกษุทั้งสองรูป แล้วหัวเราะเสียงดังลั่น ภิกษุสองรูปจึงหันมาถามว่า “อาเจ็กลื้อหัวเราะทำไม” เจ๊กตอบทันทีว่า “อั๊วเห็นน่อไก๊ไต่อ้วง (กษัตริย์สององค์) เดินบิณฑบาตด้วยกัน” ต่อมาภิกษุทั้งสองคือ เจ้าพระยาตากสิน และ เจ้าพระยาจักรี

พระเจ้าตากสิน และพระยาจักรี ช่วยกันกอบกู้ชาติ จนตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง พระเจ้าตากสินทรงเหน็ดเหนื่อยกับการรบ จึงหันมาศึกษาพระธรรม ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ แล้วสละราชบัลลังก์ เสด็จฯ มาทรงพระผนวชอยู่ที่วัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช เป็นตำนานเล่าขาน เป็นความภาคภูมิใจของชาวนครศรีธรรมราช มานานกว่า ๒๐๐ ปี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

พระครูปิยะคุณาธาร เจ้าอาวาสวัดเขาขุนพนม เล่าให้ผมฟังว่า มีเครื่องทรงกษัตริย์ตกค้างอยู่ในวัดและบนถ้ำ ซึ่งเป็นโพรงใหญ่ เดินทะลุทั่วกันจนถึงยอดเขา เป็นยุทธภูมิที่มองไกลไปถึงชายทะเลอ่าวไทย หากมีกองกำลังบุกรุกมาที่วัดนี้ คนในวัดจะรู้ก่อนป้องกันตัวได้ พระเจ้าตากสินจึงตัดสินพระราชหฤทัยทรงพระผนวชที่วัดเขาขุนพนม ทรงใช้ชีวิตอย่างสงบสุข จนถึงวันสวรรคต

ขณะที่พระเจ้าตากสินทรงพระผนวช มีข้าราชบริพาร ทหารเอกคู่พระทัย พาครอบครัวย้ายจากกรุงธนบุรี มาถวายอารักขา และตั้งรกรากอยู่รอบวัดเขาขุนพนม ชาวบ้านรอบวัดจึงสืบเชื้อสายมาจากคนในวัง กิริยามารยาทสุภาพ เรียบร้อย แตกต่างจากคนท้องถิ่น ภาษาที่พูดแม้จะติดสำเนียงใต้ ยังมีคำราชาศัพท์แทรกอยู่หลายคำ

(พระเจ้าตากสิน วัดเขาขุนพนม  : คอลัมน์ตำนานแผ่นดิน – komchadluek.net)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี

พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงมีพระนามเดิมว่า “สิน”พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๒๗๗ พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ชื่อ “นายไหฮอง” ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ”นางนกเอี้ยง” ในช่วงรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (สมเด็จพระธรรมราชาธิราชที่ ๓) ซึ่งเจ้าพระยาจักรีได้ขอไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ครั้นอายุ ๕ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำไปฝากเรียนกับพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส (วัดคลัง) ทรงศึกษาหนังสือขอมและหนังสือไทยจนจบบริบูรณ์ตลอดจนศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน

ต่อมาเมื่ออายุครบ ๑๓ ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำตัวเด็กชายสิน ไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ทำราชการกับหลวงศักดิ์นายเวรซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยาจักรีเมื่อมีเวลาว่างจะศึกษาหาความรู้กับอาจารย์ชาวจีนอาจารย์ชาวญวน และอาจารย์ชาวแขก จนเชี่ยวชาญและสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วทั้ง ๓ ภาษา

ครั้นเมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดโกษาวาส ทรงดำรงอยู่ในสมณเพศได้ ๓ พรรษา จึงลาสิกขาและกลับมารับราชการตามเดิม ด้วยความฉลาด รอบรู้ขนบธรรมเนียมตลอดจนภารกิจต่างๆ อย่างดีสามารถทำงานต่างพระเนตรพระกรรณได้จนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นมหาดเล็กรายงานราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย และ กรมวังศาลหลวง

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ครั้น พ.ศ. ๒๓๐๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๓ เดือนเศษ ก็ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเชษฐาธิราช “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓”(สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์)สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสินมหาดเล็กรายงานเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งปฏิบัติราชการได้รับความดีความชอบมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากช่วยราชการพระยาตาก ครั้นพระยาตากถึงแก่กรรมก็ทรงโปรดให้เลื่อนเป็น “พระยาตาก ปกครองเมืองตาก”

ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗ พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย โดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพตีเรื่อยตลอดหัวเมืองทางใต้จนถึงเมืองเพชรบุรีจนกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพไทย มีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตากไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนตีพม่าแตกถอยไปทางด่านสิงขร

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๓๐๘ พม่ายกกองทัพมาตีไทยอีก พระยาตากได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้จึงได้ปูนบำเหน็จความดีความชอบ ได้รับโปรดเกล้าให้เลื่อนเป็น “พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร” แต่ยังไม่ทันได้ปกครองเมืองกำแพงเพชรก็เกิดศึกกับพม่าครั้งสำคัญจึงถูกเรียกตัวให้เข้ารับราชการในกรุง เพื่อป้องกันพระนคร จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๙ ขณะที่ไทยกับพม่ากำลังรบกันอย่างดุเดือด พระยาวชิรปราการ เกิดท้อแท้ใจหลายประการคือ

๑. พระยาวชิรปราการ คุมทหารออกไปรบนอกเมืองจนได้ชัยชนะยึดค่ายพม่าได้ แต่ทางผู้รักษาพระนครไม่ส่งกำลังไปหนุน ทำให้พม่าสามารถยึดค่ายกลับคืนได้

๒.ขณะที่ยกทัพเรือออกรบร่วมกับพระยาเพชรบุรี พระยาวชิรปราการ เห็นว่าพม่ามีกำลังมากกว่าจึงห้ามมิให้พระยาเพชรบุรีออกรบ แต่พระยาเพชรบุรี ฝืนออกรบ จนพ่ายแพ้แก่พม่าจนตัวตายในสนามรบ พระยาวชิรปราการ ถูกกล่าวหาว่าทอดทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี

๓. ก่อนเสียกรุง ๓ เดือน พม่ายกทัพเข้าปล้นพระนคร ทางด้านที่พระยาวชิรปราการรักษาอยู่ เห็นจวนตัว จึงยิงปืนใหญ่ขัดขวาง โดยมิได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุนจึงถูกฟ้องชำระโทษภาคทัณฑ์ด้วยสาเหตุดังกล่าวพระยาวชิรปราการเห็นว่าขืนอยู่ช่วยป้องกันพระนครต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อันใดและเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าในครั้งนี้เป็นแน่ดังนั้นในช่วงพลบค่ำวันเสาร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๐๙ )พระยาวชิรปราการได้พาเหล่าทหารเอกคือ พระเชียงเงินหลวงพรหมเสนา หลวงพิชัยราชา (ต่อมาเป็นพระพิชัยดาบหัก) หลวงราชเสน่หา

ขุนอภัยภักดีพร้อมสมัครพรรคพวกประมาณ ๕๐๐นายตีฝ่าวงล้อมออกจากค่ายพิชัยมุ่งออกไปจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ตีออกมาทางบ้านหันตรา (ทุ่งหัตรา อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน)กองทัพพม่าบางส่วนได้ไล่ติดตามมาทันที่บ้านข้าวเม่าบ้านส้มบัณฑิต (ในเขตอำเภออุทัย) และต่อสู้กันจนถึงเที่ยงคืนพม่าก็ถอยทัพกลับไปพระยาวชิรปราการจึงพากองกำลังเข้าเลียบชายทะเลด้านตะวันออกเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวบ้านให้เข้าร่วมในกองกำลังเข้าโจมตีและผ่านมาที่บ้านนาเริง(เขตอำเภอบ้านนา) แขวงเมืองนครนายก ข้ามแม่น้ำมาที่บ้าน กงแจะด่านเมืองปราจีนบุรีพวกพม่าทราบข่าวได้ตั้งกำลังต่อต้านอยู่ที่ ปากน้ำเจ้าโล้ (ไหลลงแม่น้ำบางประกงอำเภอบางคล้า) แขวงเมืองฉะเชิงเทราจึงเกิดการปะทะกันทั้งสองฝ่ายในวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค้ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๐๙ )

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

หลังจากพระยาวชิรปราการได้รับชัยชนะที่ปากน้ำเจ้าโล้แล้วได้เดินทางมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง(อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี) ล่วงเข้ามาในเมืองชลบุรี บริเวณบ้านบางปลาสร้อยและเดินทัพมายังบ้านนาเกลือแขวงเมืองบางละมุงนายกลม(หรือฉบับพระราชหัตถเลขาชื่อว่า นายกล่ำ)เป็นนายซ่องสุมไพร่พลหัวหน้าต่อมาในวันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๐๙) นายกลมได้นำกำลังของพระยาวชิรปราการมาค้างแรมที่ “ทัพพระยา” (บางฉบับเรียกว่าพัทยา) รุ่งขึ้นไปที่บ้านนาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ประทับแรมหนึ่งคืน แล้วเดินทัพตามชายทะเลไปถึงตำบลหิงโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง เมื่อถึงเมืองระยอง มีพระยาระยอง (บุญเมือง) เป็นเจ้าเมืองไม่ยอมสวามิภักดิ์ พระยาวชิรปราการ

จึงทำการตีเมืองระยองได้และปะทะกับกลุ่มของขุนรามหมื่นซ่องที่บ้านประแส แขวงเมืองจันทบูร บ้านไร่บ้านกล่ำเมืองแกลง จนได้รับชัยชนะ มุ่งหน้ายึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่น เจ้าเมืองจันทบุรี มิยอมสวามิภักดิ์ พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบมาใช้กับแม่ทัพนายกองฟื้นฟูขวัญกำลังใจของไพร่พลเพื่อต้องการรบให้ชนะโดยสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงพร้อมเปล่งวาจา“เราจะตีเมืองจันทบุรีในค่ำวันนี้เมื่อกองทัพหุงข้าวเย็นกินเสร็จแล้วทั้งนายไพร่ให้เททิ้งอาหารที่เหลือและต่อยหม้อเสียให้หมดหมายไปกินข้าวเช้าด้วยกันที่ในเมืองเอาพรุ่งนี้ถ้าตีเอาเมืองไม่ได้ในค่ำวันนี้ก็จะตายเสียด้วยกันให้หมดทีเดียว”

ครั้นถึงเวลาค่ำพระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้วให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเข้าเมืองพร้อมกันมิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมืองได้พอได้ฤกษ์เวลา ๓ นาฬิกา พระเจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชรพร้อมยิงปืนสัญญาณแจ้งแก่เหล่าทหารเข้าตีเมืองพร้อมกันทรงไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนยึดเมืองได้สำเร็จ

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าก็ยกทัพตีพระนคร นับเป็นเวลาที่พม่าล้อมค่ายอยู่ถึง๑ปี๒เดือนกรุงศรีอยุธยาจึงเสียแก่พม่าในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ถือเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วบ้านเมืองเกิดแตกแยกหัวเมืองต่างๆตั้งตัวเป็นใหญ่ต่างคนต่างรวมสมัครพรรคพวก ตั้งเป็นก๊กต่างๆ ได้แก่ ก๊กสุกี้พระนายกอง ก๊กพระยาพิษณุโลก ก๊กพระเจ้าฝาง ก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และก๊กเจ้าพิมาย พระยาวชิรปราการได้จัดเตรียมกองทัพอยู่เป็นเวลา ๓ เดือนก็ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา จนตีเมืองธนบุรีแตก จับนายทองอินประหาร แล้วเลยไปตีค่ายโพธิ์สามต้น แตกยับเยิน สุกี้พระนายกองตายในที่รบขับไล่พม่าออกไปพ้นแผ่นดินไทยสำเร็จ ในปีพ.ศ.๒๓๑๐ ซึ่งใช้เวลากู้อิสรภาพกลับคืนจากพม่าภายในเวลา ๗ เดือนเท่านั้น

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

จากนั้น พระยาตาก (พระยาวชิรปราการ) จึงยกทัพกลับมากรุงธนบุรี ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔” แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” จากนั้นทรงยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆ จนราบคาบทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ ๓ ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๑ – พ.ศ.๒๓๑๓ จนกอบกู้เอกราชรวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวดังเดิม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงครองราชย์เป็นเวลา๑๕ปีจึงทรงสวรรคตเมื่อ วันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ จศ. ๑๑๔๔ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สิริพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษาพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระมหากษัตริย์เป็นราชันแห่งราชันที่ทรงพระปรีชาสามารถพระนามของพระองค์จะอมตะจารึกคู่พระพุทธศาสนาสืบไปเป็นนิรันดร์

ขอบคุณข้อมูลจาก พ.อ.วัชรพงศ์ แก้วแจ้ง เสนาธิการกองกำลังผาเมือง…

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE