ผักตำลึง : อาหารสมุนไพรผักริมรั้ว ที่หากินได้ง่าย มีให้กินตลอดทั้งปี ตำลึง สุดยอดผักที่เลิศล้ำคุณค่า และมีอยู่ทั่วไป บางทีบางที่เห็นว่าไม่ค่อยมีราคาค่างวด
คนไทยใช้ยอดและใบตำลึงกินเป็นผักสด อาจนำไปต้มหรือลวกจิ้มกับน้ำพริก ใช้ปรุงในแกงต่างๆ ใบตำลึงเป็นอาหารที่มีบีตาแคโรทีนสูงมาก บำรุงสายตา ลดอัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหารได้
ใบตำลึง จะมีลักษณะสีเขียวสดใสสวยงาม พุ่งออกจากก้านใบเป็นรูป 5 แฉก มีชนิดใบโตมีขอบเว้าลึกมาก ดูเป็นแฉก เป็น “ตำลึงตัวผู้” ชนิดใบโตแต่ขอบใบไม่เว้าลึกเท่าไร เป็นใบรูป 5-7 เหลี่ยม โคนใบเว้าลึก เรียก “ตำลึงตัวเมีย” ในต้นเดียวกันอาจมีทั้งตัวผู้ ตัวเมีย อยู่ด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่จะแยกเพศกันอยู่คนละต้น ดอกตำลึงมีสีขาว
โตประมาณครึ่งนิ้ว มีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกตัวผู้ มีเกสรตัวผู้ 3 อัน และดอกตัวเมีย มีก้านดอกเป็นที่อยู่ของรังไข่ซึ่งพองออกเห็นได้ชัด ยาว 1 เซนติเมตร ผลตำลึงเป็นผลกลมยาว โตประมาณ 2 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวประจุดสีขาว รูปร่างคล้ายแตงกวาผลเล็กๆ ผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด มีเมล็ดจำนวนมาก นกชอบจิกกินแล้วไปถ่ายที่ไหน ก็จะงอกขึ้นต้นใหม่เมื่อได้สภาพรอบข้างที่ดี เอื้ออำนวยต่อการงอกเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่
ผักตำลึง เป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis Voigt. หรือ Coccinia indica Wight & Arn.(Syn.) ตำลึงเป็นไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดมาก พบขึ้นทั่วไปบริเวณริมรั้ว ที่รกร้าง ที่ไร่ ขยายพันธุ์ปลูกได้ 2 วิธี
คือปลูกด้วยการเพาะเมล็ด ทำค้างแบบถั่วฝักยาว นำผลสุกสีแดงมาบีบขยี้เมล็ด หยอดตรงโคนหลักไม้ที่ทำค้าง รดน้ำให้ชุ่ม จะแตกต้นทอดยอดเลื้อยอย่างรวดเร็ว หรือจะหาสุ่มไก่ หรือเข่งมาคว่ำไว้ทำเป็นค้างก็ดี เก็บยอดได้ง่าย ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้หลายปี ยิ่งเด็ดยอดจะยิ่งแตกยอดใหม่
ประโยชน์ทางอาหารเพื่อสุขภาพ ใบและเถาตำลึง รสเย็น เป็นผักที่เหมาะกับการกินในฤดูร้อน ยอดอ่อนเถาอ่อนใบอ่อนคือส่วนที่นำมากินกัน ยอดอ่อนรวมทั้งใบอ่อนที่ติดตั้งแต่ยอดลงมาตามเถา ประมาณ 4-5 ใบ
สังเกตสีที่ยังเขียวอ่อนอยู่ นำมาแกงจืด แกงเลียง แกงส้ม แกงแค แกงป่า ผัดใส่ไข่ ลวกจิ้มน้ำพริก ใส่ก๋วยเตี๋ยว ต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ให้วิตามินเอ และธาตุเหล็กสูง บำรุงสายตา บำรุงโลหิต ผลอ่อนนำมาทำอาหารเหมือนยอด ใบ แต่ถ้าเป็นผลที่โตแล้ว นำมาผ่าปลิ้นเอาเมล็ดออก เคล้าเกลือนำมาแกงคั่วกุ้ง อร่อยมาก ผลอ่อนกับยอดอ่อนใบอ่อน จะสุกไวมาก
เวลาทำกับข้าวอย่าให้โดนความร้อนนานจะสุกเละมากไป กินไม่อร่อย อย่างเช่น ทำต้มจืดตำลึง ใช้ยอดใบตำลึงรองก้นถ้วย แล้วเทน้ำต้มจืดที่ปรุงและต้มร้อนๆ ใส่ลงถ้วย เป็นอันเสร็จ คนๆ ซดกินต้มจืดตำลึงได้ ในใบและยอดอ่อนตำลึง 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 35 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย เส้นใย 1.0 กรัม แคลเซียม 126 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม เหล็ก 4.6 มิลลิกรัม วิตามินเอ 18,608 IU วิตามินบีหนึ่ง 0.17 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.13 มิลลิกรัม วิตามินซี 34 มิลลิกรัม ไนอะซิน 1.2 มิลลิกรัม
ตำลึง มีสรรพคุณทางยา ตัดเถายาว 2 นิ้ว คลึงให้ช้ำเป่าด้านหนึ่งเอาฟองฟู่ออก ใช้หยอดตา แก้ตาช้ำ ตาแดง ปวดตา ได้ดีมาก ใบมีรสเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใบใช้ถอนพิษแสบคันจากฝักหมามุ่ย หรือพิษแสบคันอื่นๆ รากมีรสเย็น ดับพิษ รักษาโรคตา ต้มกินแก้ร้อนใน ตำลึงทั้งต้นมีสรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง ลดน้ำตาลในเลือดได้ เหมาะสำหรับคนเป็นเบาหวานมาก
จริงอยู่ถึงแม้ตำลึงจะเป็นพืชผักที่หาง่าย ดูไม่ค่อยมีค่าราคาสักเท่าไร แต่ถ้ามองไปในสังคมเดี๋ยวนี้ เมื่อชุมชนเมืองขยาย มีแต่ตึกรามบ้านช่องทั่วบริเวณบ้านเป็นคอนกรีต ไม่มีดินจะปลูกพืชปลูกผัก จำเป็นต้องซื้อหา
และถ้าไม่มีใครไปเก็บตำลึงขาย ก็ไม่รู้จะไปหาตำลึงกินได้ที่ไหน ถ้าดาดฟ้า ข้างตึก ข้างกำแพงรั้วว่าง มีกระถางดินปลูกสักใบ ปักไม้ทำค้าง หยอดเมล็ดตำลึงไว้ หมั่นรดน้ำ จะได้ยอดตำลึงกินตลอดปี ยิ่งเด็ดยอดบ่อยๆ เด็ดแบบเหลือตาบนเถา ก็ยิ่งแตกยอดใหม่ อยากให้เป็นพุ่ม ก็หมั่นแต่งเถาให้พันวนรอบกิ่งไม้ตอไม้ไว้ กระถางตั้งอวดโชว์ จัดสวนหย่อมได้สวยงาม นี่ก็คือ คุณค่าของตำลึง ผลิตผลจากธรรมชาติ แม้ยังไม่มีมูลค่ามากมายทางเศรษฐกิจ แต่สุดเลิศล้ำค่าในชีวิตเรา
ข้อควรระวัง – ตำลึงมีทั้งตำลึงตัวผู้ และตำลึงตัวเมียดังกล่าวข้างต้น เป็นตัวเมียกินได้ไม่มีปัญหา หากเป็นตัวผู้ คนที่มีธาตุอ่อนอาจทำให้ท้องเสียได้!! ฉะนั้น ต้องสังเกตให้ดี
นครศรีธรรมราช จัดกิจกรรมสัปดาห์ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ปี 2567