จากชีวิตข้าราชการทหาร ปฏิบัติหน้าที่เป็นชุดบันทึกกิจกรรมทหารในสนาม กองทัพภาคที่ ๔ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในช่วงปีแห่งการปราบปรามผู้ก่อการร้าย.. ครูเผือน คงเอียง ได้อาศัยความเชี่ยวชาญในภาคสนาม และความคุ้นเคยกับ ประชาชนในพื้นที่ เรียนรู้การทำงานสอดย่านลิเภา จนได้มีโอกาสถ่ายทอดวิชาความรู้งานสอดย่านลิเภาให้สมาชิกครอบครัว ทหาร.. และมีโอกาสได้ปฏิบัติหน้าที่เป็น ครูศิลปาชีพด้านงานสอดย่านลิเภา
ครูเผือน คงเอียง ได้เห็นสมาชิกครอบครัวทหารและ ภรรยาของตนเอง เรียนรู้และฝึกอบรมวิธีการทำงานสอด ย่านลิเภาจากครูที่มาสอน ก็เกิดมีความรู้สึกชื่นชอบในงาน หัตถกรรมประเภทนี้ขึ้นมาอย่างไม่สามารถอธิบายได้ ดังนั้น เมื่อมีเวลาว่างจากภารกิจภาคสนาม ครูเผือน จึงได้เริ่มต้น การเรียนรู้ และฝึกฝนการทำงานสอดย่านลิเภากับครูที่มา ฝึกสอนด้วย ครูเผือนใช้เวลาเรียนและฝึกฝนอยู่ประมาณ ๑ เดือน ก็สามารถทำชิ้นงานกระเป๋าเสร็จ ๑ ใบ เป็นที่ชื่นชอบของครูที่มาฝึกอบรมมาก…
ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากย่านลิเภา มีมาแต่โบราณสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น กระเป๋าถือ พาน เชี่ยนหมาก ฯลฯ ชิ้นงานเหล่านั้น ยังอยู่ในสภาพดีและสวยงาม งานสอดย่านลิเภาเป็นงานที่มีความละเอียด ประณีต ปัจจุบันเป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์จากย่านลิเภา มีการพัฒนาให้มีคุณค่าสูงขึ้น ด้วยการนำโลหะหรือวัสดุที่มีค่า เช่น เงิน ทองคำ นาก มาประดับตกแต่ง ทำให้ดูสวยงามทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น
ย่านลิเภาสามารถนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้หลากหลายชนิด เช่น กระเป๋าถือ สตรีรูปทรงต่างๆ กล่องใส่ของ หมวก ถาดผลไม้ พานใส่ของแบบย้อนยุค หรือ เชี่ยนหมากโบราณ กรอบรูป เป็นต้น การสอดสานย่านลิเภาเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์นั้น ทำได้ยาก เพราะเส้นย่านลิเภาที่นำมาใช้ มีขนาดเล็กกว่าเส้นที่ใช้จักสานชนิดอื่นๆ การ สานและการสร้างรูปทรงต้องทำไปพร้อมๆ กัน การทำผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา จึงต้องใช้ความละเอียด ประณีต และความอุตสาหะอย่างสูง
ครูเผือน คงเอียง รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้หนึ่ง ในการช่วยอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมแขนงนี้ไว้ เพราะตลอดเวลากว่า ๓๐ ปี ที่เป็นครูศิลปาชีพด้านงานสอดย่านลิเภา ไม่เคยเห็นประเทศใดผลิตสินค้าย่านลิเภาออกจำหน่าย ไม่เคยเห็นคนในประเทศใด ถือกระเป๋าย่านลิเภานอกจากประเทศไทย อีกทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นผลิตภัณฑ์ย่านลิเภา ต่างก็ยังต้องการ ซื้อหาเป็นเจ้าของตลอดเวลาที่ผ่านมา
ด้วยความภาคภูมิใจว่า งานสอดย่านลิเภา เป็นศิลปหัตถกรรมของไทยโดยแท้ และแม้วันหนึ่งที่ ครูเผือน คงเอียง จะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้อีกต่อไป ก็ได่ตั้งปณิธานไว้แล้วว่า..จะสร้างลูกศิษย์ที่จะช่วยรักษาและสืบทอดศิลปะ แขนงนี้ต่อไป..ไม่ให้เสื่อมสูญ
ที่มา – wazzadu.com/article/1016
ศาลจ้าวพ่อตาปะขาว ปากน้ำสิชล