ทวดทองดำเล่าขานตำนานแห่ผ้าพระบฏ

5522
views
ผ้าพระบฏ

แสงเดือนสาดส่อง ทวดทองดำเล่าขานตำนานแห่ผ้าพระบฏ

เมื่อวันมาฆบูชามาบรรจบ.  ขอน้อมนบพุทธธรรมคำสั่งสอน

​ถือเป็นวันสำคัญยิ่งของเมืองนคร.  ชาวพุทธแรมรอนจากจรมาทั่วทิศ

​ตั้งใจน้อมจิตบูชาพระศาสดา.  เพราะก่อเกิดศรัทธาแห่งองค์พระสัมมา

จึงเป็นที่มาประเพณีแห่ผ้าพระบฏเมืองนคร

ผ้าพระบฏ

ประเพณีแห่ผ้าพระบฏเมืองนคร
​วันวิสาข ทำให้หวนย้อนคิดถึงวัยเยาว์ นอนหนุนตักฟังทวดเล่า ตำนานเก่าแก่ สืบทอดกันมา ประเพณีแห่ผ้าพระบฏ ตำนานกล่าวว่า “ผ้าพระบฏ” เป็นผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า บฏ มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้า ส่วนมากเป็นผ้าแถบยาว มีวาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูป เพื่อเป็นที่เคารพบูชา

​ประเพณีการแห่ผ้าขึ้นห่มฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช แต่แรกเรียกจึงเรียกแห่ผ้าพระบฏ ซึ่งมีตำนานที่สืบทอด สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นครศรีธรรมราชในช่วงสมัยของพระยาศรีธรรมโศกราช (พ.ศ. 1773) ปรากฏในตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งกล่าวไว้ว่า

​“ครั้งนั้นยังมี ผขาวอริยพงษ์ อยู่เมืองหงษาวดี กับชาวเมือง 100 คน พาพระบฏไปถวายพระบาทในเมืองลังกา ต้องลมร้าย สำเภาแตกชัดขึ้นปากพนัง พระบตชัดขึ้นปากพนัง ชาวปากพนังพาขึ้นมาถวาย สั่งให้เอาพระบตกางไว้ที่ท้องพระโรง ผขาวอริยพงษ์กับคน 100 คน ชัดขึ้นที่ปากพูน เดินตามริมชล มาถึงปากน้ำพญาน้อย ชาวปากน้ำพาตัวมาเฝ้า ผขาวเห็นผ้าพระบต ผขาวร้องไห้ พระญาก็ถามผขาวๆ ก็เล่าความแต่ต้นแรกมานั้น แลพระญาติก็ให้แต่งสำเภา ไปนิมนต์พระสงค์มา 2 พระองค์ องค์หนึ่งชื่อ มหาปเรียนทศศรี องค์หนึ่งชื่อ มหาเถรสัจจะนุเทพ ฝ่ายนักเรียนทั้งสองพระองค์ มาทำพระธาตุ ลงปูนเสร็จแล้ว พระญาให้แต่งสำเภาไปนิมนต์พระสงฆ์ เมืองลังกามาเสกพระมหาธาตุ”

ผ้าพระบฏ

​เข้าใจความได้ว่า ในสมัยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราชเป็นกษัตริย์ครองตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) อยู่นั้น ชาวปากพนังมากราบทูลว่า คลื่นได้ซัดเอาผ้าแถบยาวผืนหนึ่งซึ่งมีภาพเขียนเรื่องพุทธประวัติมาขึ้นที่ชายหาดปากพนัง ชาวปากพนังเก็บผ้านั้นถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์รับสั่งให้ซักผ้านั้นจนสะอาดเห็นภาพวาดพุทธประวัติ เรียกว่า “ผ้าพระบฏ” จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธจากหงสากลุ่มหนึ่ง จะนำผ้าพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกพายุพัดพามาขึ้นชายฝั่งปากพนัง เหลือผู้รอดชีวิตสิบคน ช่วงนั้นพระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้สั่งให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่และแล้วเสร็จในปี พ.ศ.๑๗๗๓ ขณะที่เตรียมสมโภชพระบรมธาตุ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงมีความเห็นว่าควรนำผ้าพระบฏไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์ เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ แม้จะไม่ใช่พระพุทธบาทตามที่ตั้งใจ แต่ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระทันตธาตุ (พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้าเอาไว้ ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุ และเจ้าของผ้าพระบฏก็ยินดี การแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีขึ้นตั้งแต่ปีนั้นและดำเนินการสืบต่อมา จนกลายเป็นประเพณีสำคัญของชาวนครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน

เรียบเรียง : ญาดา
ภาพ – internet

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE