นักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ไขคำตอบ “หินเกล็ดพญานาค” บนภูลังกา จ.บึงกาฬ ระบุพื้นที่เคยเป็นทะเลทรายอายุ 70 ล้านปี โดยชั้นหินที่แตกคล้ายเกล็ดพญานาค เกิดจากการแตกผิวหน้าของหินหรือซันแครก (Suncrack) ระหว่างหินทราย กับหินทรายเนื้อแป้ง
วันนี้ (29 พ.ค.2563) ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร ผอ.กองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กรณีข่าวหินลักษณะคล้ายเกล็ดพญานาค ที่ภูลังกา จ.บึงกาฬ หลังจากมีกระแสถึงความแปลกในโลกโซเชียล
นายสุวภาคย์ กล่าวว่า เมื่อช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรธรณี เคยเข้าไปสำรวจพื้นที่บริเวณภูทอก ภูวัว ภูสิงห์ หรือหินสามวาฬมาแล้ว พบลักษณะทางธรณีวิทยา เป็นหินทรายอายุ 75-80 ล้านปี เป็นหินที่เกิดในสมัยก่อนประเทศไทยเคยเป็นทะเลทรายโบราณ โดยพื้นที่มีหิน 2 แบบสลับชั้นกันที่ความหนาประมาณ 200 เมตร
“เรียกว่าหินทรายเนื้ออาร์โคส กับหินทรายแป้งเนื้อปนปูน สลับชั้นกัน จะเห็นว่าภูเขาทุกลูกจะมีชั้นสลับกัน บางทีเว้า และนูน ถ้าแบบเว้าจะเป็นถ้ำจะเป็นหินทรายเนื้อปนปูน และละลายน้ำได้ ทำให้เป็นรอยเว้า”
ปัจจัยที่หินประหลาดเกิดจาก “แตกผิวหน้าของหิน”
เมื่อถามว่าจุดที่เจอเหมือนเกล็ดพญานาค อธิบายทางธรณีวิทยาอย่างไร
ผอ.กองอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรณี กล่าวว่า หินเกล็ดพญานาคจุดที่เกิดขึ้นมีอายุ 1 แสนปี ถ้าหินทรายที่สมานกันแน่น และถ้าตอนนั้นเกิดภูเขาแล้วทำให้ชั้นหินทรายบางขั้นที่สมบูรณ์จะมีการแตกตัวกันได้ ที่เรียกว่า ซันแครก (Suncrack) เกิดจากการแตกผิวหน้าของหิน
เนื่องจากการมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่แตกต่างในวลากลางวัน และกลางคืนอย่างรวดเร็ว ทำให้หินเกิดขยายตัว และหดตัวสลับกันไปมา จนแตกเป็นรูปคล้ายหกเหลี่ยม ต่อมามีการผุพัง และการกัดเชาะโดยน้ำและเกิดการลบเหลี่ยมบริเวณนี้เห็นเป็นลักษณะเหมือนหมอนที่วางช้อนกันเป็นชั้นขนานไปกับแนวชั้นหิน
“หากมองในทุกมุมจะเหมือนน้อยหน่ามากกว่า พื้นที่ภูลังกามีอายุ 1 แสนปี ส่วนที่เจอบางชั้น เพราะหินทราย กับหินทรายแป้งเนื้อปูนมันสลับกัน และซันแครก จะเกิดเฉพาะชั้นหินทรายจึงมีลักษณะแปลก ”
ไม่แนะนำให้สัมผัสเนื้อหินเสี่ยงผุกร่อน
เมื่อถามว่าสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีนซีน และจะมีความคงทนหรือไม่ นักธรณีวิทยา กล่าวว่า หินลักษณะแบบนี้ไม่ควรแตะต้อง เพราะในต่างประเทศ ถ้าเจอลักษณะที่ประหลาดแบบนี้เขาจะมีการทำเส้นทางเดิน ให้นักท่องเที่ยวเดินไปและห่างหิน เพราะมันจะเป็นร่องคล้ายกันอยู่แล้ว
“แต่ไม่แนะนำให้นักท่องเที่ยวแต่ถ้าไปลูบคลำจะเสียหาย เพราะการที่เกิดซันแครก เป็นคำตอบของการผุกร่อนโดยการสึกของผิว เพราะจุดที่เกิดซันแครกจะมีสภาพเหมือนกาบหินเปลือกหินที่รอวันสลายเป็นดินจะลอกคล้ายกะหล่ำปลี”
นักธรณีวิทยา กล่าวอีกว่า ส่วนความเชื่อเรื่องพญานาคในพื้นที่ภาคอีสานและในส่วนของสปป.ลาวมีเยอะ เราไม่ลบหลู่ แต่มีคำอธิบายทางวิชาการซึ่งพื้นที่บริเวณบึงกาฬ บึงโขงหลงในสมัยก่อนเคยเป็นทะเลทรายโบราณ เมื่อแม่น้ำโขงมากั้นทำให้ 2 ประเทศแยกกัน แต่ชุดหินที่สำรวจทั้งฝั่งไทย และแม่น้ำโขงมาตัดออกที่เป็นหินลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ กรมทรัพยา กรธรณีอาจะข้าไปสำรวจสภาพพื้นที่หินบนภูลังกา เพิ่มเติมอีกครั้ง
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าแหล่งธรณีวิทยาที่มีความโดดเด่นบริเวณป่าภูสิงห์ จัดอยู่ในประเภทแหล่งธรณีสัณฐานที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ โดย “หมู่หินภูทอกน้อย” ซึ่งเป็นหน่วยหินเพียงหน่วยเดียวในประเทศไทยที่แสดงถึงหลักฐานทางธรณีประวัติว่าในช่วง 75 ล้านปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยเคยเป็นทะเลทรายมาก่อน โดยมีจุดที่โดดเด่น 9 แห่ง ได้แก่ ลานธรรมภูสิงห์ จุดชมวิวลานธรรม กําแพงหินภูสิงห์ หินสามวาฬ ลานหินลาย ถ้้ำใหญ่ หินรถไฟ สะพานหินภูสิงห์ และส้างร้อยบ่อ
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ปิดกิจกรรมวันเดย์ทริป นครศรีธรรมราช