นครศรีธรรมราช เห็นชอบช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยพิบัติกว่า 180 ล้านบาท

3783
views

คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จ.นครศรีธรรมราช ด้านการเกษตร เห็นชอบการช่วยเหลือเกษตรกร วงเงินกว่า 180 ล้านบาท

ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสมพงษ์ มากมณี รอง ผวจ.นครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช ด้านการเกษตร ครั้งที่ 2/2564 มีเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด ประมงจังหวัด ผู้แทนสำนักงาน ปภ.จังหวัด ผู้แทนสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัด ผู้แทนการยางแห่งประเทศไทยจังหวัด รวมทั้งเกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ และประมงอำเภอทั้ง 23 อำเภอเข้าร่วม

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณากลั่นกรองการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ด้านการเกษตร ห้วงภัยตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย. 63 เป็นต้นมา ตามที่ จ.นครศรีธรรมราช ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 23 อำเภอ 162 หมู่บ้าน 1,497 หมู่บ้าน โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ ด้านพืช มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 2,651 ราย มีพื้นที่นาข้าว พืชไร่ พืชสวนและอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย9,764 ไร่ วงเงิน 14,480,936.25 บาท ด้านปศุสัตว์ มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 7,016 ราย วงเงิน 25,671,430 ไร่ และด้านประมง มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย 6,073 ราย วงเงิน 140,606,442.380 บาท รวมวงเงินที่ขอรับการช่วยเหลือทั้งสิ้น 180,758,808.63 บาท

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยนั้น ทาง ผวจ.นครศรีธรรมราช ได้เน้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง มีความครบถ้วน ไม่ตกหล่น ซึ่งการช่วยเหลือต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน นับจากวันที่เกิดภัย แต่หากการดำเนินการช่วยเหลือไม่แล้วเสร็จสามารถขอขยายเวลาไปยังอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ สำหรับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติจากอุทกภัยในครั้งนี้ ได้ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการให้ความช่วยผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) ครบถ้วนแล้วทุกราย

รวมทั้งมีการปิดประกาศรายชื่อ ทำประชาคมด้วย โดยเฉพาะในส่วนของประมงที่ความเสียหายมากกว่า 140 ล้านบาท เนื่องจากเป็นกุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล ปูทะเล และสัตว์น้ำอื่น ๆ ซึ่งการจ่ายค่าเยียวยาตามระเบียบจะสูงกว่าด้านพืชและด้านปศุสัตว์ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.เมือง ปากพนัง และหัวไทร

หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯ จังหวัด ด้านการเกษตร ได้กลั่นกรองและให้ความเห็นชอบแล้ว จะได้นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานพิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติการใช้เงินตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 ต่อไป.

「 บทความต้นฉบับ 」

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE