จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,800 ปี มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนา มาอย่างยาวนาน นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีพื้นที่เหมาะกับการติดต่อค้าขาย
ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนครศรีธรรมราชจึงรุ่งโรจน์ด้วยอารยธรรมและวัฒนธรรมที่สืบทอดกับมานับพัน ๆ ปี นครศรีธรรมราชมีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ มีพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุคือพระทันตธาตุ(พระเขี้ยวแก้วเบื้องซ้าย)ของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นสง่าและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นศูนย์รวมจิตใจ นครศรีธรรมราชเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่เมืองหนึ่งของไทย
งานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ภาพของชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา ที่นำผ้าผืนยาวไปบรรจงห่อหุ้มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ นับเป็นภาพที่ชาวนครศรีธรรมราชจะพร้อมเพรียงกันมาร่วมกิจกรรมกันทุกปี รวมไปถึงชาวพุทธสายบุญจากต่างจังหวัดเองต่างก็อยากมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เพราะนับเป็นงานบุญใหญ่ได้มหากุศลอย่างมหาศาล และเป็นสิริมงคลต่อชีวิตยิ่ง
ตำนานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุมีอยู่ว่า ในสมัยที่พระเจ้าสามพี่น้อง คือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังดำเนินการสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบยาวชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีลายเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ (เรียกว่า พระบฎ หรือ พระบต) ขึ้นที่ชายหาดปากพนัง จึงนำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระองค์จึงรับสั่งให้ซักจนสะอาด แต่ลายเขียนพุทธประวัติก็ไม่ลบเลือน ยังคงสมบูรณ์ดีทุกประการ จึงรับสั่งให้ประกาศหาเจ้าของ ได้ความว่าชาวพุทธกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำพระบฎไปถวายเป็นพุทธบูชาพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว (พระทันตธาตุเบื้องซ้าย) แต่เรือถูกมรสุมซัดแตกที่ชายฝั่งเมืองนคร มีผู้รอดชีวิต 10 คน ส่วนพระบฏถูกคลื่นซัดขึ้นฝั่งปากพนัง พระเจ้าศรีธรรมโศกราชทรงพิจารณาเห็นว่าควรจะนำขึ้นไปห่มพระบรมธาตุเจดีย์เนื่องในโอกาสสมโภชพระบรมธาตุ เจ้าของพระบฎที่รอดชีวิตก็ยินดีด้วย จึงโปรดให้ชาวเมืองนครจัดเครื่องประโคมแห่แหนผ้าห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ จึงเป็นประเพณีประจำเมืองนครสืบมาจนทุกวันนี้
แต่เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุนั้นจะนัดหมายโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนใหญ่ แต่ในปัจจุบันการเดินทางสะดวกขึ้น ผู้ศรัทธาก็มาจากทุกทิศทุกทาง ต่างคนต่างคณะต่างจึงเตรียมผ้ามาห่มพระบรมธาตุเจดีย์ ใครจะตั้งขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุในเวลาใดก็สุดแต่ความสะดวก ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจึงมีได้ตลอดทั้งวันโดยไม่ขาดสาย
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ของเมืองคอนมีปีละ 2 ครั้ง คือ ในวันเพ็ญเดือน 3 (วันมาฆบูชา) และในวันเพ็ญเดือน 6 (วันวิสาขบูชา) ในแต่ละปีมีคณะพุทธศาสนิกชนเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ ส้รางเงินเงินสะพัดภายในจังหวัดถึง 200 ล้านบาท
โดยในปีนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน 6 ผืน ประกอบด้วย ผ้าพระบฎพระทานของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก, ผ้าพระบฏพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร, ผ้าพระบฏพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, ผ้าพระบฏพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิราเกล้าเจาอยู่หัว, ผ้าพระบฏพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ ผ้าพระบฏพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณและเป็นสิริมงคลแก่ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างหาที่สุดมิได้
จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงขอเชิญชวนประชาชนและพุทธศาสนิกชน ร่วมงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ซึ่งในปีนี้ วันมาฆบูชา จะตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ในงานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 20-24 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และบริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
โดยขอความร่วมมือแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าสีขาวหรือสีนวล/ผ้าพื้นถิ่นนครศรีธรรมราช โทนสีขาวหรือสีนวล สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โทร 0 7531 0057
ศาลจ้าวพ่อตาปะขาว ปากน้ำสิชล