สสจ.นครศรีธรรมราช แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ในพื้นที่ ระบุขอประชาชนเป็นหูเป็นตาตรวจสอบกลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาในพื้นที่ พร้อมกำชับทุก รพ.เตรียมพร้อมเปิด Community Isolation รองรับกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดมารักษาตัวในพื้นที่ที่ใกล้บ้านที่สุด
(14 ก.ค.64) ที่ห้องประชุม ชั้น 4 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช นายแพทย์จรัสพงษ์ สุขกรี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า
วันนี้ (15ก.ค.64) มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม จำนวน 45 ราย
โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจากโครงการผู้ป่วยไม่มีเตียงกลับมารักษาตัวบ้านเกิด จำนวน 17 ราย และเป็นผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 28 ราย ส่งผลให้ขณะนี้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมแล้ว จำนวน 1,947 ราย อยู่ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำนวน 392 ราย รักษาหายกลับบ้านได้แล้วสะสม จำนวน 1,530 ราย และมีผู้เสียชีวิต 25 ราย
โอกาสนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้เตียงรักษาผู้ป่วยยังไม่เต็ม ยังมีว่างเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยมากกว่า 500 เตียง แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและลดปริมาณคนไข้ในโรงพยาบาลหลัก ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีมติจากการประชุมเมื่อวานนี้(13 ก.ค.64)ให้โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลสิชล พิจารณาตั้งโรงพยาบาลสนามสาขาเพิ่มได้ตามความเหมาะสม
และจากการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขอำเภอทั้งจังหวัดเมื่อเช้าวันนี้ มีโรงพยาบาลในพื้นที่ที่มีความพร้อมและประสงค์ให้ผู้ป่วยโควิด 19 เข้ารักษาตัวเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลหัวไทร โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ โรงพยาบาลบางขัน โรงพยาบาลพิปูน โรงพยาบาลลานสกา และโรงพยาบาลขนอม ทั้งนี้เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดด้วย
นอกจากนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังได้กล่าวถึงประเด็นการเตรียมความพร้อมจัดโครงการ
Home Isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้าน โดยเป็นการนำผู้ป่วยสีเขียวตามเกณฑ์ที่กำหนดมาเข้าสู่ระบบแยกกักตัว ว่า จากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ในพื้นที่แล้วพบว่าโครงการดังกล่าวมีความเหมาะสมน้อยกว่า โครงการ Community Isolation หรือการแยกกักตัวในชุมชน ที่จะมีความสะดวกและคล่องตัวต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ได้มากกว่า
ทั้งในส่วนของการดูแลผู้ป่วย การเข้าถึงยา และการจัดการขยะติดเชื้อ รวมทั้งเป็นการใช้จุดแข็งของประเทศไทยที่เรียกว่า “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน มาร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ป่วยเอง เนื่องจากเป็นการรักษาตัวในพื้นที่ใกล้บ้าน
ศาลจ้าวพ่อตาปะขาว ปากน้ำสิชล