รพ.ทุ่งใหญ่ เปิดตัวห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ พัฒนาระบบเพิ่มความปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้รับบริการ

1466
views

จ.นครศรีธรรมราช – นพ.ปกป้อง เศวตชนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งใหญ่ กล่าวภายหลังพิธีเปิด “ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ” เมื่อเร็วๆนี้ว่า “ แรงบันดาลใจในการปฏิรูปห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ (smart ER)

เนื่องมาจากปัจจุบันเป็นยุคของ Digital Disruption จึงต้องการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้ให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดทั้งแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ (2P Safety) โดยนวัตกรรมดังกล่าว สามารถป้องกันการประทุษร้ายกันในห้องฉุกเฉิน และลดปัญหาการร้องเรียนเรื่องต่างๆเช่น ระยะเวลารอคอย และอุบัติการณ์ที่ร้ายแรง ”

ซึ่ง นพ.ปกป้อง เศวตชนะ เปิดเผยต่อว่าได้นำความสำเร็จของห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ 4.0 ที่ตนเองเคยพัฒนาไว้ สมัยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลถ้ำพรรณรา มาพัฒนาต่อยอด ณ โรงพยาบาลทุ่งใหญ่ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้แก่ประชาชนชาวทุ่งใหญ่และมีความยินดี ที่จะเผยแพร่นวัตกรรมนี้ เป็นต้นแบบให้โรงพยาบาลอื่นๆได้นำไปประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับความปลอดภัยในห้องฉุกเฉินต่อไป

โดยห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ (Smart ER) มีระบบที่สำคัญดังต่อไปนี้

1) ระบบ Digital triage
คือการจัดลำดับความฉุกเฉินด้วยระบบดิจิตอล ญาติและผู้ป่วยสามารถติดตามสถานะการรับบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง แบบ real-time ผ่านทางจอมอนิเตอร์หน้าห้องฉุกเฉิน หรือแสกน QR code เพื่อเช็คสถานะทางมือถือได้ ทำให้ทราบว่าต้องใช้ระยะเวลารอการรักษานานเท่าไร หรือผู้ป่วยที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน กำลังได้รับการรักษาอยู่ในขั้นตอนไหน ซึ่งสามารถลดข้อร้องเรียนลงได้

2) ระบบ AI คัดกรองผู้ป่วยโควิด
โดยหน้าห้องฉุกเฉินจะมีเครื่อง แสกนใบหน้า เพื่อคัดกรองผู้ป่วย ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ก่อนเข้ารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยรายอื่นๆในห้องฉุกเฉินและเจ้าหน้าที่

3) ระบบ Patient Tag
เป็นการสแกนข้อมือ โดยมีสายรัดข้อมือ (Wrist band) จำแนกตามสีของระดับความฉุกเฉิน และมี QR code สำหรับสแกน เพื่อระบุตัวตนผู้ป่วย ป้องกันการให้ยาผิดขนาด ผิดประเภทและผิดคน อีกทั้งยังสามารถอัพเดตสถานะผู้ป่วย โดยเชื่อมโยงกับจอมอนิเตอร์หน้าห้องฉุกเฉิน เป็นการตอบโจทย์เรื่อง Patient Safety Goal คือผู้ป่วยต้องมีความปลอดภัยสูงสุด

4) ระบบ Algorithm
ห้องฉุกเฉินสามารถนำข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดของผู้ป่วยทุกคนมาวิเคราะห์ได้อย่างละเอียด แสดงเป็นกราฟและแผนภูมิดิจิตอล เช่น ในแต่ละวันของห้องฉุกเฉิน มีช่วงเวลาไหนที่ผู้ป่วยมารับบริการเยอะที่สุด มีผู้ป่วยกลุ่มโรคใดบ้างโดยคิดเป็นสัดส่วนกี่ % และผู้ป่วยแต่ละกลุ่มโรค เช่นโรคหัวใจ ใช้เวลารักษาเฉลี่ยนานเท่าไร, ระยะเวลารอคอยเฉลี่ยนานเท่าไร, ระยะเวลารอคอยระหว่างส่งต่อนานเท่าไร และหัตถการใดบ้างที่ทำบ่อยที่สุดในห้องฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลที่ทรงคุณค่าเหล่านี้ไปพัฒนาระบบการให้บริการที่เป็นประโยชน์กับคนไข้ในอนาคตได้ เช่น การประกันเวลา door to needle ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ

5) ระบบประตูล็อค เปิดปิดอัตโนมัติ แบบสั่งการด้วยรีโมท และแสกนลายนิ้วมือ ญาติหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปภายในห้องฉุกเฉินได้ก่อนได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันการประทุษร้าย และลดความตึงเครียดภายในห้องฉุกเฉิน

โดยในอนาคต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุ่งใหญ่เปิดเผยว่า จะมีการพัฒนาต่อยอด ห้องฉุกเฉินอัจฉริยะในเฟสที่ 2 ต่อไป

เครดิตแหล่งข้อมูล : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE