จังหวัดนครศรีธรรมราช เดินหน้าปรับปรุงภูมิทัศน์วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก

1167
views

วันนี้ (24 พ.ย.64) ที่ห้องประชุมพุทธสมาคมนครศรีธรรมราช ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

นางเรืองอุไร บุญช่วยชูพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการในการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก โดยมี ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราชและประธานคณะกรรมการฝ่ายวิชาการในการนำเสนอวัดพระธาตุฯ ขึ้นบัญชีสู่มรดกโลก นางกฤตษญา ตระบันพฤกษ์ วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุม

สำหรับประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ เป็นการติดตามความคืบหน้าของการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก และการร่วมพิจารณาแนวทางการปรับปรุงภูมิทัศน์วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร “ก้าวสู่ความสะอาด สงบ สว่าง” ตามโครงการนครแห่งธรรม เมืองศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมขับเคลื่อนมรดกธรรม มรดกโลก ,แนวทางการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน

รวมทั้งแนวทางการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ขณะที่ความคืบหน้าการจัดทำเอกสารทางวิชาการการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก มีความคืบหน้าตามลำดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากกรมศิลปากร

อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ได้นำเสนอคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ที่มีคุณค่าอันโดเด่นสอดคล้องตามเกณฑ์ที่ศูนย์มรดกโลกกำหนดไว้ในเกณฑ์ ข้อที่ 2 และข้อที่ 6 โดยเกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นการแสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ตามกาลเวลาในพื้นที่วัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งของโลก ในแง่สถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยี ศิลปะที่คงทนถาวร ผังเมืองและการออกแบบภูมิทัศน์

ซึ่งรูปแบบของพระมหาธาตุเจดีย์ ได้รับการสร้างสรรค์ ปรับแปลง และพัฒนาขึ้นจนมีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ ได้ถ่ายทอดไปยังหลายภูมิภาคอื่น และเกณฑ์ข้อที่ 6 มีความสัมพันธ์โยตรงหรือเห็นสัมพันธ์เชิงรูปธรรม กับเหตุการณ์หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ กับความคิดหรือความเชื่อ หรืองานศิลปะและวรรณกรรมที่มีสำคัญและมีความโดดเด่นเป็นสากล โดยความศรัทธาในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่เป็นทรงระฆังซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สะท้อนผ่านความเชื่อ ศิลปกรรม วรรณกรรม และจิตรกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย บูรณาการเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชจนถึงปัจจุบัน

เครดิตแหล่งข้อมูล : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครศรีธรรมราช

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE