พิธีเปิดยิ่งใหญ่! มหกรรมยางพารา 2564 รมว.เกษตรฯ ชู “นครศรีธรรมราช” เมืองหลวงยางพารา

1121
views

จ.นครศรีธรรมราช – พิธีเปิดยิ่งใหญ่! มหกรรมยางพารา 2564 รมว.เกษตรฯ ชู “นครศรีธรรมราช” เมืองหลวงยางพารา หนุนนวัตกรรมต่อยอด ยกระดับรายได้ชาวสวนยาง

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 9 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิด มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” จัดโดย การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน

พร้อมกล่าวเปิดงานในหัวข้อ “นวัตกรรมยางพาราไทย กับเศรษฐกิจยุคใหม่” โดยมี นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกุลเดช พัวพัฒนกุล ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชนที่สนับสนุนการจัดงาน เข้าร่วมพิธีเปิด

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีทองของพี่น้องชาวสวนยาง แม้จะประสบวิกฤต แต่ด้วยแนวนโยบายและความสามารถในการบริหารงานของ กยท. ทำให้สามารถรักษาระดับเสถียรภาพของยางพาราให้มีราคาดีที่สุดในรอบหลายปี และยังคงยืนราคาตรงนี้ได้ อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า การทำงานขององค์กรต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากเอกชน ผู้ประกอบการ และพี่น้องชาวสวนยาง ทั้งหมดเพื่อให้ชาวสวนยางได้ราคายางที่พึงพอใจและอยู่ได้

นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า แต่จริงๆ แล้ว ก็ยังไม่พอใจเท่าใด เพราะต้องการให้ราคายางสูงกว่านี้ เนื่องจากคุณค่าและมูลค่ายางพาราของไทยสูงกว่านี้ ยางพารามีประโยชน์สารพัดอย่าง เพราะฉะนั้น วันนี้สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราสามารถรักษาเสถียรภาพ และทำให้ยางพารามีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ อันดับแรก คือ พี่น้องเกษตรกร ที่ต้องดูแลรักษาคุณภาพของน้ำยาง กยท. เป็นพี่เลี้ยงและดูแลการบริหารในภาพรวมเท่านั้น แต่ต้องเริ่มต้นที่พี่น้องเกษตรกร

“การที่เราจะเพิ่มมูลค่ายางพารา ต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการแปรรูป ต้องเป็นความร่วมมือของ กยท. ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ที่ต้องจับมือกัน ผมพูดตลอดเวลาว่า อยากเห็นพี่น้องผู้ประกอบการรวยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน เพราะถ้าท่านรวย พี่น้องชาวสวนยางของผมต้องได้รับด้วย ท่านรวยคนเดียวอยู่ไม่ได้ ดังนั้น วันนี้นโยบายของเรา คือ การผลักดันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ส่วนต่างๆ มาเพิ่มมูลค่ายางพารา”

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า อยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของโลก มั่นใจว่าเรามีศักยภาพ ยางพาราของไทยมีคุณภาพที่สุดในโลก ตราบใดที่ตนยังเป็นรัฐมนตรี ต้องผลักดันให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวงยางพาราให้ได้ ไม่ใช่แค่คนนครศรีธรรมราชได้ แต่ทุกจังหวัดที่ปลูกยางจะได้รับตรงนี้หมด จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น และผลทั้งหมดจะตกกับเกษตรกรชาวสวนยาง ถ้าทำอย่างนั้นได้ ยางพารา 1 กิโลกรัม เกิน 100 บาทแน่นอน ตนในฝ่ายการเมืองก็กำกับดูแลผลักดันเต็มที่ ส่วน กยท. ก็กำหนดแนวทาง ทุกฝ่ายต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อให้เงินในกระเป๋าพี่น้องชาวสวนยางเพิ่มขึ้น

รมว.เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า กยท. ยังต้องดูเรื่องสวัสดิการให้ชาวสวนยาง พี่น้องชาวสวนยางหลายคนอาจไม่ทราบว่า กยท. มีประกันต่างๆ จึงอยากให้ประชาสัมพันธ์ และอยากให้บอร์ด กยท. ลองดูว่า มีอะไรที่ช่วยเหลือเพิ่มได้อีก เพราะขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากพี่น้องชาวสวนยางมีขวัญและกำลังใจ ก็จะมีกำลังใจในการทำงาน ผลิตน้ำยางที่มีคุณภาพ และจะเปลี่ยนแปลงวงการยางได้

“เราเริ่มเห็นสิ่งนี้แล้ว และจะเริ่มเดินไปข้างหน้า เราเดินมาถูกต้องแล้ว จากนี้ต้องทำให้มูลค่าของยาง ผลิตผลของยางมีราคาสูงขึ้น เพราะนั่นหมายถึงความมั่นคงของพี่น้องทั้งหมด เราอาจสะดุดนิดหน่อยจากสถานการณ์โลก และภาวะโควิด แต่ผมเชื่อมั่นว่า เราจะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้

“หลายคนถามว่า ผมเป็นรัฐมนตรี กล้าพูดว่าเอื้อผู้ประกอบการหรือ ผมเรียนว่า ถ้าเราบริสุทธิ์ใจและทำให้พี่น้องมีรายได้มากขึ้น ผมก็ทำ นี่คือสิ่งที่ผมทำมาตลอดในฐานะรัฐมนตรี และจะพาอุตสาหกรรมยางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ผมยังเหลือเวลาอีก 1 ปี ก็จะรักษาราคายางให้มีเสถียรภาพที่สุด ขอให้มั่นใจ เชื่อใจ ในการทำงานเป็นทีม ทั้ง กยท. และข้าราชการเกษตรทุกกลุ่ม ทุกกรม”

นายไกรศร กล่าวว่า จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประมาณ 6.2 ล้านไร่ มีประชากรกว่า 1.5 ล้านคน แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 23 อำเภอ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด ทำให้สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับจังหวัดใกล้เคียงได้สะดวกรวดเร็ว นครศรีธรรมราชจึงเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของภาคใต้ ทั้งทางบก ทางอากาศ และรถไฟ

ส่วนรายได้ส่วนใหญ่ของ จ.นครศรีธรรมราช ด้านการเกษตรมาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยมูลค่า 47,263 ล้านบาท รองลงมา คือ ด้านการค้าและการลงทุน มูลค่า 20,997 ล้านบาท ด้านอุตสาหกรรมการผลิต มูลค่า 18,790 ล้านบาท ด้านการศึกษา มูลค่า 14,778 ล้านบาท

ผวจ.นครศรีธรรมราช กล่าวต่อไปว่า ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของ จ.นครศรีธรรมราช ร้อยละ 12 ของประชากรเป็นเกษตรกรชาวสวนยาง มีพื้นที่ปลูกยางพารา 1,888,000 ไร่ ให้ผลผลิต 4 แสนตันต่อปี และเป็นสถานที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา โดยเฉพาะโรงงานที่จดทะเบียนด้วยทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 5 โรงงาน นับว่าภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับยางพารา มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเจริญเติบโต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดให้แข็งแกร่ง

“ผมและชาว จ.นครศรีธรรมราช หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดงานครั้งนี้จะทำให้จังหวัดได้รับโอกาสในการพัฒนา ตลอดจนผลักดันนโยบาย และได้รับการสนับสนุนโครงการสำคัญ ที่จะส่งผลให้ชาวนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการยางพารา ได้รับประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้านนายณกรณ์ กล่าวว่า กยท. เป็นองค์กรกลางที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพาราของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร บริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินของกองทุนพัฒนายางพารา รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยจัดให้มีการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย พัฒนาเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับยางพารา ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ทั้งด้านวิชาการ การเงิน การผลิต การแปรรูป การอุตสาหกรรม การตลาด เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงดำเนินการให้ระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ

การที่ กยท. จะก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำระดับสากลในการบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ตั้งไว้ ต้องมีการบูรณาการจากหลายภาคส่วน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษตรกร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการยาง ขณะเดียวกัน ก็ส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า และนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าเป็นบทบาทของประชาชนคนไทยทุกคน ที่ต้องร่วมกันสนับสนุนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากยางพาราของไทย

“ด้วยเหตุนี้ กยท. จึงจัดงานมหกรรมยางพารา 2564 ‘นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา’ ขึ้น มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปยางพารา เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณภาพ มาตรฐาน การวิจัย และแนวคิดการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมให้เกิดความหลากหลายในการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมไทย และเพื่อเป็นเวทีเจรจาธุรกิจ แสวงหาพันธมิตรคู่ค้าใหม่ในตลาดยางพารา”

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวด้วยว่า กยท. ขอขอบคุณหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ที่ทำให้การจัดงานครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างราบรื่นและยิ่งใหญ่ ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และหวังว่างานนี้จะสร้างคุณประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางพารา และอุตสาหกรรมยางพาราของไทยได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE