เขาเหมน “เขาพระสุเมรุ” ช้างกลาง นครศรีธรรมราช

1530
views
เขาเหมน “เขาพระสุเมรุ” ช้างกลาง นครศรีธรรมราช

เขาเหมน หรือ เขาพระสุเมรุ ตามตำนานเล่าขานเรียกเขาลูกนี้ว่า เขาพระสุเมรุ เนื่องจากอดีตนครศรีธรรมราช มีความเจริญรุ่งเรืองทางพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งมีความเชื่อว่าเขาพระสุเมรุเป็นที่อยู่ของพระศิวะ แต่ชาวใต้นิยมเรียกชื่อสั้น ๆ เป็นเขาเมรุหรือเขาเหมน เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง อากาศหนาวเย็น ลมพัดแรงและมีเมฆปกคลุมเกือบทั้งปี

เขาเหมน

…เขาเหมน เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกเพี้ยนจากคำว่า “เขาพระสุเมรุ” ชื่อนี้มีประวัติยาวนานมาแต่ครั้ง พวกอินเดียได้หนีภัยอิสลามมาขึ้นฝั่งที่พงตึก (พังงา) แล้วย้ายถิ่นมาตั้งที่เมืองขวาง (ปัจจุบันคือเวียงสระ) หลังจากนั้นก็ย้ายอีกทีมาตั้งเมืองชั่วคราวที่เขาดินสอ เชิงเขาเหมน ผู้ให้ชื่อเขาพระสุเมรุคือมหาพราหมณ์อุตตมะ แห่งเมืองขวางหรือเมืองสระยุคปลาย (เวียงสระ)

มหาพราหมณ์อุตตมะเป็นชาวอินเดีย ขณะอยู่ที่เมืองขวาง (เวียงสระ) ได้สมรสกับนางพญาจัณฑี พระธิดาแม่นางแอด ครั้นต่อมาได้เกิดอหิวาตกโรคที่นี่ ก็ได้อพยพมาสร้างเมืองชั่วคราวที่เขาดินสอ ใกล้ถ้ำหมื่นยมเชิงเขาเหมนเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ (ประมาณปี พ.ศ. ๑๗๘๕) เพื่อเป็นที่เก็บสมบัติ มหาพราหมณ์อุตตมะเป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระอิศวรเป็นเทพสุงสุด ในศาสนาพรหมณ์ (ต่อมาเรียกศาสนาฮินดู) นั้นนับถือเทพสูงสุด ๓ องค์ คือพระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม รวมเรียกว่า “ตรีมูรติ”
มหาพราหมณ์อุตตะได้ตั้งชื่อยอดเขาแหลมนี้ว่า “เขาพระสุเมรุ” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับเขาพระสุเมรุในเรื่องรามเกียรติ์ ตามคติพราหมณ์ ว่าเป็นภูเขาที่สิงสถิตของพระอิศวร หรือศิวะ

ในโลกนี้มีภูเขาชื่อ “พระสุเมรุ” ที่พวกพรามณ์ในลัทธิไศวนิกายเป็นผู้ตั้งชื่อมีอยู่ ๔ แห่ง แต่เรียกชื่อเพี้ยนไปตามสำเนียงท้องถิ่น คือ
๑. ที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เรียกชื่อเขาพระสุเมรุว่า “เซเมรู”
๒. ที่ประเทศกัมพูชา เรียกเขาพระสุเมรุว่า “มเหนทรา”
๓. ที่ประเทศอินเดีย เรียกยอดเขาสูงสุดของเทือกเขาหิมาลัยว่า “พระสุเมรุ”
๔. ที่ประเทศไทย อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียกเพี้ยนว่า “เขาเหมน”

เขาเหมน

ในด้านธรณีวิทยาถือว่าเขาเหมน เป็นภูเขาเกิดใหม่จากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อหลายแสนปีมาแล้ว สิ่งที่พิสูจน์ยืนยันได้จากผู้ขึ้นสำรวจพบว่าบนยอดเขามีเปลือกหอยทะเล และเชิงเขายังมีหินคล้ายธารลาวาอยู่มากมายแถวบริเวณเขาดินสอ ภาพภูเขาเหมนมองจากที่ไกลเห็นได้ดังนี้

– ถ้ามองจากบ้านนาบอนจะเห็นยอดเขาเหมนแหว่งเว้าเป็นปล่องภูเขาไฟ
– แต่ถ้ามองมาจากบ้านจันดีจะเห็นเป็นยอดแหลม มีสันสองข้าง
– หากมองจากบ้านนา ยอดเขาเหมนมีรูปสามเหลี่ยมคล้ายพีระมิด

บริเวณรอบเขาเหมนเป็นป่าดงดิบชื้น มีทั้งมอส เฟิน ก่อเขา แดงเขา มังตาล รองเท้านารีและไม้เบญจพรรณ สภาพดินเหนียว ดินร่วนปนทราย อุดมด้วยแร่เหล็กและวุลแฟรม สัตว์ป่าที่หายากยังมีเก้ง สมเสร็จ เลียงผา ฯลฯ

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ร.ท.ฮิวเบิร์ต โจเซฟ คายส์ ทหารอเมริกัน เชื้อสายออสเตรเลีย ได้มาทำงานวิจัยวัตถุโบราณและธรณีวิทยา ณ เชิงเขาเหมน บริเวณถ้ำพระ ถ้ำหมื่นยม เขาดินสอ ตลอดถึงการสำรวจพื้นที่บนภูเขาเหมน ท่านผู้นี้เรียกชื่อว่า “เขาพระสุเมรุ” เหมือนชื่อที่อุตตมพราหมณ์ตั้งไว้ หลังจากการสำรวจแล้ว เขาได้เขียนหนังสือเรื่อง “The God of Prasumeru” ลงพิพม์ในนิตยสารไทม์ของอเมริกา เรื่องนี้ถ้าให้ชื่อเป็นภาษาไทยตามที่คนปักษ์ใต้เรียกกันก็คือ “ทวดเหมน” เสียดายที่คนไทยไม่มีโอกาสได้อ่านบทความเรื่อง “The God of Prasumera” ตามที่ ร.ท.ฮิวเบิร์ต เขียนไว้

เบื้องหลังชีวิตของ ร.ท.ฮิวเบิร์ต โจเซฟ คายส์คนนี้เป็นสายลับให้อเมริกา แต่เอาการสอนหนังสือบังหน้า เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนพึ่งตนเอง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณวัดจันดี ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวางระหว่างปี ๒๕๐๐ – ๒๕๐๔ มีลูกศิษย์ล้วนเป็นชาวช้างกลางซึ่งรวมทั้งผมวรรรดี สรรพจิตผู้เขียนเรื่องนี้ด้วย

ปัจจุบันเขาเหมนถือเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง ซึ่งประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๖๔ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๓๔ ตัวยอดเขาอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานประมาณ ๒๖ กม. มีพื้นที่ ๑๒๘,๑๒๕ไร่ หรือ ๒๐๕ ตารางกิโลเมตรครอบคลุมเขาเหมน เขาธง เขาวังหีบ เขาพระ เขารามโรม เขาปากแพร เขาปลายเปิด และเขาคูหา โดยมียอดเขาเหมน ซึ่งมีความสูง ๑,๓๑๕ เมตรเป็นหลัก

เขาเหมน

เชิงเขาเหมนในพื้นที่อำเภอช้างกลางมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายที่สามารถให้ทั้งความเพลิดเพลินและการเรียนรู้ดังนี้

– บริเวณเขาดินสอ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขาเหมนรีสอร์ท ที่ตรงนี้นักวิชาการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกล่าวไว้ว่าเคยเป็นที่สร้างเมืองชั่วคราวของนางพญาจัณฑีพระธิดาแม่นางแอด นางพญาจัณฑี นี้เป็นภรรยาของมหาพราหมณ์อุตตมะจากเมืองขวาง (เวียงสระ) เมื่อประมาณปีพ.ศ.๑๗๘๕ได้ย้ายถิ่นเข้าอยู่ในบริเวณเขาดินสอ พร้อมกับได้นำสมบัติมากมายมาซ่อนไว้ที่ถ้ำหมื่นยม และสร้างเมืองชั่วคราว ณ ที่นี้ยังมีหลักฐานคือเศษอิฐแดงแผ่นโต ๆ เหลืออยู่มากมาย ชาวบ้านเรียกว่าอิฐหน้าวัว ซึ่งเป็นอิฐที่มีลักษณะและขนาดเดียวกับอิฐที่ใช้สร้างเจดีย์สองพี่น้องวัดมะนาวหวานและสร้างเมืองนางพญาเลือดขาวที่หมู่ ๕ ด่านไผ่งา

– ถ้ำพระ อยู่ในบริเวณเขาดินสอ ที่ได้ชื่อว่าถ้ำพระ เพราะมีพระเครื่องฝังไว้มาก โดยเฉพาะพระพิมพ์ดินดิบสีแดงเดี๋ยวนี้ยังเชื่อกันว่า มีพระพุทธรูปทองคำสูงเมตรครึ่งฝังอยู่ ชาวบ้านขุดค้นหาได้พระพิม์พ์กันคนละองค์สององค์ องค์สำคัญที่ขุดได้ คือ พระพุทธรูปสูงเมตรครึ่ง ขณะนี้อยู่ที่วัดคีรีวรรณา ในบริเวณถ้ำพระมีซอกหิน มีหลืบมากมาย เคยมีพระดินดิบสีแดงนับพันองค์ เด็กเลี้ยงวัวไม่รู้เรื่อง เอามาทำต่างกระสุนยิงหนังสติ๊กเล่น แต่เดี๋ยวนี้ค้นหากันแทบพลิกแผ่นดิน เพราะตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ มีค่าสูงขึ้นถึงองค์ละ ๗๐,๐๐๐ บาท

– ถ้ำอม อยู่บริเวณเขาดินสอเช่นกันที่ได้ชื่อนี้เพราะมีน้ำไหลเข้าปากถ้ำ แล้วไหลย้อนออกมาไปด้านฝั่งตรงข้าม เป็นถ้ำอยู่ในบริเวณเขาดินสอ

– ถ้ำหม้อ ในถ้ำนี้พบเศษหม้อผิวเกลี้ยงแบบก่อนสุโขทัย คุณสงค์ ศิริ ชาวบ้านแถบนี้เล่าให้ฟังว่า ตอนเด็ก ๆ เคยมาเที่ยวเล่นที่นี่พบหม้อใส่กระดูกมากมาย จึงได้ชื่อว่าถ้ำหม้อ ซึ่งเป็นถ้ำอยู่ในบริเวณเขาดินสอเช่นกัน

– น้ำตกเขาเหมน ในส่วนที่อยู่ในตำบลช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช รู้จักกันในท้องถิ่น เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีชั้นเดียว ท่ามกลางป่ารกชัฏ ต้องปีนป่าย ใช้เวลาเดินไปชม ๒๐ นาที เข้าทางบ้านหน้าเขาเหมน ที่นี่ยังเป็นแหล่งที่สมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งสัตว์และป่าไม้ เป็นสายน้ำไหลลงมาจากภูเขาเหมนผ่านหลืบหินและหน้าผา คดเคี้ยวไปตามซอกหิน การเที่ยวที่นี่สามารถเดินลัดเลาะไปตามแนวริมสายน้ำได้ตลอด

– ท่องป่าสู่ยอดเขา การขึ้นยอดเขาเหมน ในช่วงแรกมีเส้นทางรถ สามารถเดินทางด้วยยานพานะได้ ช่วยประหยัดเวลาเดินเท้าได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง โดยเส้นทางรถจะมาหยุดที่เนิน ๔๙๙ มีป้ายของอุทยานปักบอกจุดเริ่มต้นเดินป่าระยะไกลสู่ยอดเขา ซึ่งหลังจากนี้เป็นช่วงที่จะต้องเดินด้วยทางเท้าถึงยอดเขาเหมน ระยะทางประมาณ ๓ กม. ใช้เวลา จากจุดนี้ถึง บนยอดเขา ประมาณ ๔- ๕ ชั่วโมง การท่องป่าสู่ยอดเขาช่วงนี้ต้องเตรียมการทั้งอาหารและชุดพักกลางป่า

ขอบคุณเจ้าของภาพ/แหล่งที่มา : วรรณดี สรรพจิต

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE