หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

18689
views
หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะสำริด พุทธลักษณะ ประทับนั่ง ปางมารวิชัย “ขัดสมาธิเพชร” พระวรกายอวบอ้วนจนกลมป้อม มักเรียกว่า “แบบขนมต้ม” วงพระพักตร์กลม ขมวดพระเกศาค่อนข้างใหญ่ พระรัศมีรูปดอกบัวตูม ครองจีวรห่มเฉียง มีชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระอังสาซ้าย ซ้อนทบกันหลายชั้น เรียกว่า “เล่นชายจีวร”

หอพระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช

กำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑-๒๒ ซึ่งร่วมสมัยอยุธยา แต่มีเอกลักษณ์ทางศิลปะแห่งเมืองนครศรีธรรมราช จึงกำหนดเรียกรูปแบบศิลปะว่าเป็น “ศิลปะอยุธยา สกุลช่างนครศรีธรรมราช” หรือเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงที่มาที่ไปก็ควรเรียกว่า “พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรหรือพระพุทธสิหิงค์ สกุลช่างนครศรีธรรมราช”

พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช

พระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระพุทธสิหิงค์ เมืองนครศรีธรรมราช

ที่มาข้อมูล: บทความ “พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชรศิลปะอยุธยาฯ” ของ ศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์
ที่มาภาพ: ถ่ายในโอกาสอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ออกให้ประชาชนสรงน้ำ เนื่องในเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี สำหรับในช่วงเวลาปกติจะประดิษฐานภายในซุ้มเรือนแก้ว ณ หอพระสิหิงค์ ภายในบริเวณศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช
————-

หอพระสิหิงค์

หอพระพุทธสิหิงค์ อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครนั้น เดิมเป็นหอพระประจำวังของเจ้าพระยานคร ตั้งอยู่ระหว่างศาลากลางจังหวัด และ ศาลจังหวัด สร้างใหม่แทนหอเดิมใน พ.ศ.๒๔๕๗ เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แบ่งออกเป็น สองตอน มีผนังก่ออิฐกั้น ตอนหน้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร บุด้วยทองคำ และเงิน อย่างละองค์ ส่วนด้านหลังเป็นที่เก็บอัฐิของตระกูล ณ นคร

———-
ในจำนวนพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมือง พระพุทธสิหิงค์น่าจะเป็นพระที่มีประวัติความเป็นมาซับซ้อนสับสนที่สุด ประการแรกมีหลายองค์ นอกจากพระพุทธสิหิงค์องค์หลัก ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์แล้ว ยังมีพระพุทธสิหิงค์ที่เชียงใหม่ ที่นครศรีธรรมราช ที่จังหวัดตรัง (ถูกขโมยไปแล้ว) และที่วัดโคกขาม สมุทรสาคร พระพุทธสิหิงค์ทุกองค์ ต่างก็อ้างว่า เป็นพระพุทธสิหิงค์องค์จริง สร้างขึ้นในลังกา

พระพุทธสิหิงค์ นครศรีธรรมราช

โรม บุนนาค เขียนเรื่องการเดินทางของพระพุทธสิหิงค์ไว้ในหนังสือมิติลี้ลับสุดมหัศจรรย์ (สำนักพิมพ์สยามบันทึก) ว่า

ตำนานพระพุทธสิหิงค์ของโบราณ เล่ากันไว้หลายสำนวน สำนวนที่กล่าวขานกันมาก พระโพธิรังสี พระภิกษุแห่งล้านนา แต่งเป็นภาษาบาลีไว้ เมื่อ พ.ศ.1985 ศ.ร.ต.ท.แสงมนวิทูร แปลเป็นภาษาไทย กรมศิลปากรจัดพิมพ์ไว้ในเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2506

พ.ศ.700 พระราชาสามองค์ พระอรหันต์ 20 องค์ และนาค 1 ตน ของลังกา ประชุมหารือกันสร้างพระพุทธปฏิมา (รูปจำลองของพระพุทธเจ้า) พระราชาและ พระอรหันต์ ติดขัดไม่มีผู้ใดเคยเห็นองค์จริงของพระพุทธองค์ แต่นาคซึ่งมีฤทธิ์บอกว่าเคยเห็น เนรมิตตนเป็นพระพุทธองค์นั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์แก้ว

พระราชาสั่งให้ช่างปั้นหุ่นพระพุทธเจ้าด้วยขี้ผึ้ง แล้วสั่งให้ช่างหล่อออกมา ระหว่างการหล่อ ช่างคนหนึ่งทำไม่ถูกพระทัย พระราชาทรงตวัดหางกระเบนถูกนิ้วมือนายช่าง ผลจึงปรากฏว่าเมื่อหล่อออกมาเสร็จ นิ้วพระหัตถ์นิ้วหนึ่งขององค์พระมีตำหนิ

พระราชาหารือกันว่า จะซ่อมแซมนิ้วพระหัตถ์ พระพุทธปฏิมาเสียใหม่ แต่พระอรหันต์ทักท้วงว่า ในภายภาคหน้า พระพุทธรูปองค์นี้ จะไปอยู่ชมพูทวีป และจะลอยทวนน้ำขึ้นไปอยู่ต้นลำน้ำ พระราชาองค์หนึ่ง ในประเทศนั้น จะเป็นผู้ซ่อมแซมนิ้วพระหัตถ์องค์พระปฏิมาให้เรียบร้อยสมบูรณ์เอง

พระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

สามพระราชาคล้อยตาม สั่งให้ช่างขัดแต่งพระพุทธรูปจนงดงาม เนื่องจากพุทธลักษณ์ องค์พระปฏิมาเหมือนราชสีห์ จึงให้ขนานพระนามว่า พระพุทธสิหิงค์

อีก 800 ปีต่อมา พ.ศ.1500 มีพระราชาพระนามว่า ไสยรงค์ แปลว่า พระร่วงองค์ประเสริฐ ครองสมบัติกรุงสุโขทัย ปกครองดินแดนจากเหนือจนใต้ถึงเมืองนครศรีธรรมราช วันหนึ่งพระร่วงเสด็จ ไปถึงนครศรีธรรมราช ได้ทราบว่ามีพระพุทธปฏิมางดงามมาก อยู่ที่เกาะสิงหล พระร่วงส่งสาส์นไปขอ พระราชาสิงหลซึ่งรู้คำพยากรณ์ของ 20 พระอรหันต์ อยู่แล้ว จึงยินดีถวายให้

หอพระพุทธสิหิงค์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตำนานเล่าตอนนี้ว่า เรือขบวนที่อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ แล่นจากสิงหลมานครศรีธรรมราช ระหว่างทางเกยหินโสโครกจมอยู่กลางทะเล ลูกเรือจมน้ำตายหมด แต่พระพุทธสิหิงค์ได้สำแดงปาฏิหาริย์ ลอยน้ำไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช พระร่วงอัญเชิญต่อไปประดิษฐานไว้ยังกรุงสุโขทัย

สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) กรุงสุโขทัยอ่อนแอ พระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยายึดสุโขทัยได้ ส่งขุนหลวงพระงั่วไปครองสุโขทัย แต่ก็ทรงพระเมตตาให้พระมหาธรรมราชาที่ 4 มาครองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาที่ 4 อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาพิษณุโลกด้วย

จนเมื่อพระมหาธรรมราชาที่ 4 ทิวงคต พระเจ้าอู่ทองจึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา

ในช่วงเวลาที่พระพุทธสิหิงค์อยู่กรุงศรีอยุธยา พระเจ้าณาณดิส แห่งเมืองกำแพงเพชร วางแผนส่งแม่หลวงผู้เป็นพระราชมารดามาถวายพระเจ้าอู่ทอง ใช้อุบายอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปเมืองกำแพงเพชร เจ้ามหาพรหม ผู้ครองเมืองเชียงราย เกิดความอยากได้พระพุทธสิหิงค์ ยกทัพมาเจรจาหว่านล้อมกัน พระเจ้าญาณดิสก็ยอมถวายให้

พระพุทธสิหิงค์

เจ้ามหาพรหมก็อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปทำพิธีฉลอง ที่หัวเกาะดอนแทน กลางลำแม่น้ำโขง หน้าเมืองเชียงแสน

เนื่องจากพระพุทธสิหิงค์มีตำหนิที่นิ้วพระหัตถ์ เจ้ามหาพรหมจึงตัดนิ้วพระหัตถ์นั้น และซ่อมเสริมให้เรียบร้อยสมบูรณ์ด้วยทองคำ การซ่อมนิ้วพระหัตถ์ และที่ประดิษฐานเกาะดอนแท่น แม่น้ำโขง จึงสมตามคำทำนายของ 20 อรหันต์ เมื่อครั้งหล่อองค์พระที่ลังกา ทุกประการ

พระพุทธสิหิงค์ถูกยื้อไปแย่งมา จนเมื่อ พ.ศ.2338 อยู่ที่เชียงใหม่ เมื่อสมเด็จกรมพระ ราชวังบวรฯ ยกทัพขึ้นไปช่วยเจ้าเชียงใหม่ที่ถูก พม่าล้อม ตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ตอนกลับได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ที่กรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานไว้ที่พระราชวังบวร โดยทรงอุทิศพระราชมณเฑียรองค์หนึ่งถวาย พระราชทานนามว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

เมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดให้อัญเชิญไปไว้ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงรัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญกลับไปไว้ที่พระราชวังบวรตามเดิม ทรงดำริที่จะนำไปเป็นพระประธานในโบสถ์วัดพระแก้ววังหน้า ที่กรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ 3 สร้างไว้

พระพุทธสิหิงค์

แต่ขณะซ่อมแซมโบสถ์ มีการเขียนภาพตำนานพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่ผนังโบสถ์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระพุทธสิหิงค์จึงยังคงประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์จนถึงวันนี้

ประเด็น พระพุทธสิหิงค์ องค์ไหนจริง องค์ไหนปลอม อาจารย์พิเศษ เจียรจันทร์พงษ์ ยืนยันว่าทุกองค์เป็นพระพุทธสิหิงค์จริง เพียงแต่ก็ทราบกันดีว่า พระพุทธสิหิงค์เชียงใหม่สร้างขึ้นที่ล้านนา พระพุทธสิหิงค์นครศรีธรรมราชสร้างที่ภาคใต้ ส่วนพระพุทธสิหิงค์ที่กรุงเทพฯสร้างขึ้นที่สุโขทัย

คำยืนยันของผู้รู้ขั้นสุดท้าย ไม่มีพระ พุทธสิหิงค์องค์ไหนในประเทศไทย สร้างขึ้นที่เกาะลังกา.

cr : thairath.co.th “บาราย” 13 ก.พ. 2554

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE