บ้านขุนโขลง ด่านหน้าของเมืองนคร เป็นยุทธภูมิชุมนุมนักรบ

6898
views
โบราณสถานบ้านขุนโขลง

ปริศนา***ขุนโขลง มีโหมง โพรงวัว สาวน้อย ไม่มีผัว นั่งชุมหัว ร้องไห้ วัดเข้า ๓ ศอก วัดออก ๓ วา ถ้าใคร แก้ไม่ออก ให้ไป บอกรอก บอกกา ถ้าใคร แก้ได้ ให้ไปทาง ไม่รู้มา***

โบราณสถานบ้านขุนโขลง หรือ วัดขุนโขลง ตั้งอยู่ที่ ต. หัวตะพาน อ. ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มานัก เป็นโบราณสถานในพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ มีปรากฎเป็นซากเจดีย์ขนาด ๖ x ๖ เมตร สถูปอดีตเจ้าอาวาส ( บัวพ่อท่านทิศ ) พระพุทธรูปหินทรายแดง และสระน้ำโบราณ

โบราณสถานบ้านขุนโขลง ตามคำบอกเล่าในพื้นที่ แต่เดิมเชื่อกันว่า เป็นหมู่บ้านด่านหน้าของเมืองนคร เป็นยุทธภูมิชุมนุมนักรบเพื่อป้องกันบ้านเมืองในสมัยโบราณ และช่วงหนึ่งเคยถูกใช้เป็นป่าช้าสำหรับฝังศพ จนมีการบูรณะสืบกันมายังปัจจุบัน

วัดขุนโขลงมีพระพุทธรูปโบราณ ซากพระเจดีย์ บัวพ่อท่านทิศ และ ทวดโขลงทอง กับ เจ้านายขี้เหล็ก เป็นสิ่งสักการะในชุมชน ที่เปรียบเสมือนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องดูแลชมชุนเสมอมา

โบราณสถานบ้านขุนโขลง

วัดขุนโขลง เป็นวัดร้างกลางทุ่งนา พบโบราณสถานเป็นเจดีย์ ๒ องค์ องค์ใหญ่มีลักษณะเป็นเนินดิน สูงราว ๓ เมตรแต่ยังสังเกตุเห็นฐานเจดีย์ก่ออิฐสอดินได้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเจดีย์สมัยอยุธยา ส่วนเจดีย์องค์เล็กเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองก่ออิฐถือปูนศิลปะรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปศิลาทรายแดง ๒ องค์ ศิลปะอยุธยา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ และพบเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบบ้านเมืองและเศษเครื่องถ้วยจีนในพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบริเวณอันเป็นที่ตั้งของวัดขุนโขลงในปัจจุบันนั้นเป็นชุมชนสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไป

เจดีย์องค์ใหญ่ โบราณสถานบ้านขุนโขลง

สิ่งสำคัญ
๑. เจดีย์องค์ใหญ่เป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๕ เมตร สูงราว ๓ เมตร มีแนวอิฐเจดีย์โผล่ให้เห็นได้ชัดเจนบริเวณส่วนฐาน องค์เจดีย์ก่ออิฐสอดิน กลางเนินด้านบนมีร่องรอยการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ จากลักษณะที่ปรากฏอาจกำหนดอายุเจดีย์องค์นี้ไว้ในสมัยอยุธยา

วัดขุนโขลง

๒. เจดีย์องค์เล็กชาวบ้านเรียกเจดีย์พ่อท่านทิศ มีลักษณะเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนฐานกว้างด้านละ ๓ เมตร ประกอบด้วยฐานบัวท้องไม้สูง ๒ ชั้น วางอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ ๓ ชั้น ที่ฐานบัวชั้นที่ ๑ ด้านทิศตะวันออกตรงส่วนบัวคว่ำมีรูปบุคคล อาจเป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ไม่ทราบว่าแสดงปางใดเนื่องจากส่วนพระกรหักหาย ที่ฐานบัวชั้นที่ ๒ มีร่องรอยของปูนฉาบเหลืออยู่มีการตกแต่งลายปูนปั้นเป็นรูปดอกไม้ประกอบลวดลายกระจังและลายกนก ตรงเหลี่ยมย่อมุมท่าเป็นลายประจำยาม องค์ระฆังย่อมุมไม้สิบสองรับกับส่วนฐาน ยอดเจดีย์นั้นหักพังลงมาหมดและเนื่องจากบางส่วนขององค์เจดีย์ แตกหักอยู่บนพื้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า เดิมน่าจะเป็นยอดแบบบัวกลุ่มเถารูปแบบศิลปกรรมสามารถกำหนดอายุได้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

วัดขุนโขลง

๓. กำแพงแก้ว อยู่ห่างจากฐานเจดีย์องค์ใหญ่ไปทางทิศตะวันออกราว ๒๐ เมตร แนวกำแพงที่พบมีลักษณะคล้ายคันนา แต่เมื่อขุดตรวจลงไปราว ๑๐ เมตร ก็จะพบแนวอิฐของกำแพงดังกล่าว ในปัจจุบันแนวอิฐนี้ปางมารศรีวิชัยถูกทำลายไปมากแล้ว เนื่องจากปรับพื้นที่สำหรับทำนา

วัดขุนโขลง

๔. พระพุทธรูป ทำด้วยศิลาทรายแดง จำนวน ๒ องค์ เดิมพบในบริเวณใกล้ฐานเจดีย์องค์ใหญ่ กำหนดอายุไว้ในสมัยอยุธยาตอนกลาง ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ พระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์นี้ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปที่สำนักสงฆ์ถ้ำหลอด กิ่งอำเภอนบพิตำ เป็นเวลาเกือบ ๓๐ ปี ในยุคปัจจุบันได้กลับคืนมาประดิษฐาน ณ โบราณสถานวัดขุนโขลง โดยชาวบ้านสร้างศาลาไว้เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดังกล่าว

พระอาจารย์พรชัย ฐิตชโย

“การละวางได้ต้องอาศัยบุญบารมีที่สะสมไว้ หากบุญบารมีไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถปล่อยวางได้”

โอวาทธรรมคำสอน พระอาจารย์พรชัย ฐิตชโย
ณ โบราณสถานวัดขุนโขลง ๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๑ — ที่ วัดขุนโขลง / Mhor Kunnachit

ข้อมูล – กรมศิลป์ | ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม | ขวัญตา นวลแป้น | Temple.Today

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร เครื่องถมเมืองนครศรีธรรมราช
 
SHARE