ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช : มหานครโบราณ : สมัยประวัติศาสตร์
ความนำ นครศรีธรรมราช มาจากคำว่า นครแห่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมื่อเอาคำว่า นคร +ศรี+ ธรรม+ราช ก็จะเป็นคำใหม่ว่า นครศรีธรรมราช คำนี้มีเค้ามาจากคำเรียกของแคว้นสุโขทัยที่เรียกยกย่องนครศรีธรรมราชว่าเป็น “นคร”ของพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยอยู่ช่วงหนึ่ง ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์ พระองค์ทรงสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ จากเดิมคือ กรุงตามพรลิงค์ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ ปกครองโดยราชวงศ์อื่น นับถือศาสนาพรามหณ์ อกกมาทางทิศเหนือ ชื่อว่า “นครศรีธรรมราชมหานคร” หรือ “กรุงศรีธรรมราชมหานคร” เป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรนครศรีธรรมราช ที่ประกาศตนเป็นเจ้าแห่งคาบสมุทรมลายู อาณาเขตตั้งแต่อำเภอบางสะพาน ถึง สิงคโปร์
ประเภทการปกครองของศรีวิชัย แคว้นพาลี้ (ศุกโฃทัย) เป็นเมืองบกในปกครองของราชอาณาจักรศรีวิชัยที่ไชยาเหมือนกับเมืองอู่ทอง กาฬสินธุ์ อุบล และละโว้ (ลพบุรี) เมืองออกเมืองขึ้นที่อยู่บนบกจะขึ้นกับ “นายก” ซึ่งเป็นรองมหาราชศรีวิชัยอันดับที่ 1 ส่วนเมืองชายทะเลของศรีวิชัยจะขึ้นสังกัดกับรองมหาราชศรีวิชัยองค์ที่ 2เรียกชื่อตำแหน่งว่า “มหาอุปจักรพรรดิ์” จะใช้กองทัพม้าที่อยู่ในกองทัพเรือในการไปตรวจราชการและทำศึกสงครามปราบขบถ
ส่วนเมืองชั้นในจะขึ้นตรงกับมหาราชแห่งศรีวิชัย คำว่า ศรีวิชัยเป็นฉายาของอาณาจักร “ศรีโพธิ์” ที่ไชยา และอาณาบริเวณใกล้เคียงนับถือศาสนาพุทธมหายาน หรือฮินดู-พุทธ โดย “ศรี” หมายถึงพราหมณ์ และ “โพธิ์”หมายถึงพระพุทธเจ้า อาณาจักรศรีโพธิ์ที่ไชยา จะมีอายุอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 1202 -1759 หรือ พ.ศ.1200-1800
ต้นตอของ ศรีวิชัย กษัตริย์องค์แรกของศรีโพธิ์ คือ หะนิมิตเป็นมหาราช มีฉายาเป็นเทพเจ้าว่า “พระอินทร์” ผู้สร้างธาตุไชยเมื่อ พ.ศ.1231 และสร้างพระแก้วมรกตเมื่อ พ.ศ.1233 มีโอรสองค์เอกชื่อเป็นเทพเจ้าว่าพระวิษณุที่ 1 มาปกครองเมืองพระเวียงนครศรีธรรมราชแล้วเลยไปปกครองศรีวิชัยที่ชวา (อินโดนีเซีย) ใน พ.ศ.1290 และเป็นผู้เริ่มต้นสร้างบรมพุทโธ ศาสนสถานแบบฮินดู-พุทธ มีโอรสองค์เอกชื่อเป็นเทพเจ้าว่าพระเจ้าวิษณุที่ 2 เข้ามายึดครองนครศรีธรรมราชใน พ.ศ.1310แล้วรวบรวมศรีโพธิ์ทั้ง 3 อาณาจักรเป็นหนึ่งเดียวเรียกว่า สัมโพธิ์ แปลว่ารวมโพธิ์ราชา หรือโพธิ์ตรัสรู้ 3 แห่งเข้าด้วยกัน จึงเรียกว่า สัมฮุดชี แปลว่ารวมพระเจ้า 3องค์เข้าด้วยกัน (3แห่ง)
คำว่าศรีวิชัย ศาสตราจารย์ ยอร์ซ เซเดส์ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคีและประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้มาขุดค้นวัดเสมาชัยกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาประวัติศาสตร์ไทยเมื่อ พ.ศ.2461 ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 6 พบศิลาจารึกหลักที่ 23 ที่จารึกเมื่อ พ.ศ.1318 มีชื่อ “ศรีวิชัย”อยู่มากมาย ท่านเลยอนุมานเอาว่าอาณาจักรนี้น่าจะชื่อว่าศรีวิชัย พร้อมกับพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่งที่แสดงอภินิหารมากมาย ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ใต้วิหารโพธิลังกา วัดพระธาตุ ส่วนพระมหากษัตริย์พระเจ้าวิษณุที่ 2 นิลาจารึกหลักนี้เรียกว่า “พระเจ้าศรีวิชเยนทรราชา”
เมือง 12 นักษัตร
หลักการปกครองของอินเดียโบราณตั้งแต่สมัยอาณาจักรไอราวดี ในลุ่มน้ำสินธุเป็นต้นมา มักจะมีเมืองบริวาร ทั้ง 10 หมายถึง 10 ทิศ คือทิศทั้ง 8 เมือง และเมืองบนสวรรค์และเมืองใต้ดิน หรือเมืองสวรรค์และเมืองบาดาลแต่ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องมีเมืองที่ 9 และเมืองที่ 10 ให้ครบตามปรัชญา ความเชื่อเมือง 2 เมืองนี้จึงมักจะอยู่ในแนวเหนือใต้ของเมืองเอกมากที่สุด ในสมัยศรีวิชัยยุคแรกประมาณ พ.ศ.1200-1310 ก็มี เมืองนครทั้ง 10 เป็นเมืองบริวาร เมื่อพระเจ้าศรีวิชเยนทรราช ยึดครองนครศรีธรรมราช แล้วจึงมีพระราชดำริสร้างเมืองบริวารขึ้นเองโดยสนับสนุนเมืองขึ้น ยกกองทัพไปปราบหรือดำเนินการด้านการฑูตหรือเมืองเหล่านั้นมาร่วมเป็นเครือข่ายจนได้เมืองบริวารถึง 5 เมืองและสามารถดึงนครทั้ง 10 ของศรีวิชัยลงมาร่วมด้วยเป็นนครทั้ง 15 ประมาณ พ.ศ.1325 พร้อมกับการเฉลิมฉลองพระธาตสร้างใหม่ทรงศรีวิชัย และมีการสมโภชพระธาตุด้วยการนำการเล่นเงาแบบ ฉายานาฏกะ ของพราหมณ์เข้ามาใช้จนเป็นต้นตอของการเล่นหนังตะลุงในยุคต่อมา ตั้งแต่พ.ศ.1440 ศรีวิชัย ที่ชวาอินโดนีเซีย ก็เริ่มเสื่อมอำนาจลงทำให้ ศรีวิชัยที่ นครศรีธรรมราช โดดเด่นยิ่งขึ้นจนกลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยทั้ง 3 ได้โดยไม่ยากนัก
ต่อมาใน พ.ศ.1773 พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชประกาศอิสรภาพ ดังศิลาจารึกหลักที่ 24 วัดเสมาเมือง ยกกองทัพเรืออันเกรียงไกรข้ามมหาสมุทรอินเดียไปตีลังกา ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.1790 ได้พระพุทธสิหิงค์ มาโดยนางพญาเลือดขาว พระแม่เจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปรับแทนประมาณ พ.ศ.1791 พร้อมช้างพระที่นั่งเอก ตัวแทนพระเจ้าจันทรภาณุ ต่อมา พ.ศ.1813 ทรงยกทัพเรือไปตีลังกาครั้งที่ 2 โดยหวังจะได้บาตรของพระพุทธเจ้า แต่ ชวากะ หรือศรีวิชัยที่ไชยากับพวกโจฬะอินเดียเป็นไส้ศึกจึงทรงแพ้ศึกครั้งนี้และสวรรคต ทรงสร้างพระธาตุเจดีย์รูปทรงลังกาดังที่เห็นปัจจุบันในพ.ศ. 1790 และพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้มีเมืองบริวารเป็น “นครทั้ง 12 โดยใช้รหัสกลุ่มดาวเป็นรหัสเมืองออกเมืองขึ้นทั้ง 12 เมือง เรียกว่า เมือง 12 นักษัตร ศิลาจารึกสำคัญ 2 หลักนี้ห่างกันเพียง 455 ปี หรือ 50 ปีพอดี ปัจจุบันวัดเสมาชัยถูกยุบเข้าอยู่ในวัดเสมาเมือง ดังนั้นนักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดีจึงเรียกศิลาจารึกทั้ง 2 ว่ามาจากวัดเสมาเมืองทั้ง 2 หลัก
ประวัติพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาจะเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาการประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราช ตลอดมา เริ่มจากพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งเมารียวงศ์แห่งอินเดียทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.215-255 และทรงสนพระทัยศาสนาพุทธ พ.ศ.234 จัดส่งธรรมฑูต จำนวน 9 คณะออกไป 9 เส้นทางโบราณ 1 ใน 9 คณะนั้น นำโดยพระโสภณเถระและพระอุตตระเถระมาถึงนครศรีธรรมราช พ.ศ. 245 แต่ผู้รู้บางท่านบอกว่า พ.ศ.275 ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ พ.ศ.275 พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง 41 ปี หรือว่ามีคณะธรรมฑูตมา 2 ครั้ง
พ.ศ.293 เจ้าชายสุมิตรโอรสพระเจ้าอโศกซึ่งได้บวชเป็นพระภิกษุ ได้อัญเชิญต้นศรีมหาโพธิ์มาปลูกที่สุวรรณปุระ หรือไชยา การเดินเรือจากอ่าวเบงกอลออกอ่าวไทยในสมัยโบราณมีเส้นทางแม่น้ำลำคลอง 6 เส้นทางข้ามภาคใต้ ไม่ต้องไปอ้อมปลายแหลมมลายู หรือช่องแคบมะละกา
พ.ศ.300 ศาสนาพุทธจากนครศรีธรรมราชและชาไป้ เผยแผ่ไปถึงศรีสุรรณะ
ต่อมาจึงมีชื่อใหม่ว่านครปฐม ดังนั้นนครปฐมจึงเป็นเมืองแรกของภาคกลางที่ศาสนาพุทธเผยแผ่มาถึงไม่ใช่แห่งแรกในประเทศไทย เมื่อศาสนาพุทธประดิษฐานอย่างมั่นคงแล้วในลังกา เมืองสะเทิมในพม่าที่ชื่อว่าศิริธัมมนคร ก็ได้รับศาสนาพุทธตรงจากลังกาผ่านสะเทิมเข้าสู่อาณาจักรมอญ (พวกมุณฑ์จากอินเดีย) อาณาจักรยะไข่ อาณาจักรพุกามและเข้ามาสู่ อาณาจักรทวารวดีในภาคกลางของไทย อาณาจักรทวารวดีจะมีอายุอยู่ระหว่างพ.ศ. 1300-1700 ก่อนหน้านั้นเคยเจริญมาก่อนแล้วสมัยหนึ่งประมาณ พ.ศ.843-1200
พ.ศ.692 เมืองมลราชที่ลานสกาปรากฎตัวขึ้นในเอกสารโบราณที่นักประวัติศาสตร์ภาคกลางอ้างถึง ซึ่งแน่ละต้องนับถือทั้งศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธควบคู่กันส่วนศาสนาดั้งเดิมที่นับถืออิทธิฤทธิ์ของธรรมชาติก็ยังมีอยู่และสอดรับกันได้ดีกับศาสนาพราหมณ์ ที่ทำธรรมชาติเหล่านั้นให้เป็นตัวตนเทพเจ้า เช่น พระพิรุณเจ้าแห่งฝน พระอัคคี เทพแห่งไฟ พระอาทิตย์เทพแห่งแสงสว่าง เป็นต้น
พ.ศ.700 เกิดอาณาจักรพนมที่กระบี่กับสุราษฎร์ธานี พราหมณ์จากอินเดียได้อพยพเข้ามาตามแม่น้ำคลองแสง คลองสก คลองพุ่มดวง คลองสินปุน คลองสังข์ มาตั้งกรุงหยันที่ อ.ทุ่งใหญ่ และกรุงชิงที่ท่าศาลา รวมทั้งพราหมณ์โกณฑัญญะได้เดินทางจากอาณาจักรพนม (กระบี่+สุราษฎร์ธานี) ไปสร้างอาณาจักรฟูนันในเวียดนาม (พนม,ฟูนัน แปลว่า ภูเขา)
พ.ศ.854 นางเหมชาลาและทนตกุมารนำเสด็จพระบรมสารีริกธาตุ ของพระพุทธเจ้า หนีศัตรูมาฝังไว้ที่นี่ – เมืองนคร สร้างตึกดินครอบพระธาตุไว้โดยการช่วยเหลือของกษัตริย์ลังกา พ.ศ.856 นับว่าเป็นการสร้างพระธาตุเจดีย์ครั้งที่ 1
พ.ศ.1061 พราหมณ์มาลีกับพราหมณ์มาลาจากอินเดียอพยพมาสู่เมืองนครตั้งเมืองเขาวังและขุดพระบรมสารีริกธาตุในการนี้กาอาคมที่ “ลงไว้”ให้รักษาพระธาตุออกมาจิกตีทหาร จนพราหมณ์มาลาหลอกล่อไปจึงสังหารด้วยธนู “ไชยศรศิลป์” ลงอาคมชั้นสูงของพระนารายณ์ “ลานต่อกา”(ลานสกา) ชาวบ้านเชื่อว่าศรนี้เปลี่ยนรูปเป็นหินปรากฎอยู่บนถ้ำแก้วสุรกานต์ ทางไปกิ่งอำเภอช้างกลาง กาอาคมทั้ง 4 ฝูงนี้มีชื่อเฉพาะตนว่า กาแก้ว กาเดิม กาชาด การาม ซึ่งเป้นชื่อต้นแบบของพระครูชั้นราชาคณะคอยป้องกันพระธาตุเจดีย์ทั้ง 4 ทิศในเวลาต่อมาปัจจุบันลดชั้นลงเหลือเพียง “พระครู” และขาดตำแหน่งไป ต่อมาตำแหน่งพระราชา คณะทั้ง 4 นี้ได้นำไปใช้กับพัทลุงและพระธาตุไชยา จนคนยุคหลังไปตีความใหม่ว่าเป็นชื่อคณะพระภิกษุสงฆ์มาจากลังกาต่างหากไม่ได้มาจาก “กาอาคมทั้ง 4 ฝูง” ไม่ ยิ่งกว่านั้นยังเชื่ออีกว่า พระราชาคณะทั้ง 4 ตำแหน่งเมืองนครเอามาจากพัทลุงและไชยาเพราะไปเชื่อว่าพัทลุงและไชยามีอายุเก่าก่อนกว่านครศรีธรรมราช แต่แท้จริงแล้วพระธาตุไชยาสร้างประมาณ พ.ศ. 1231 พระครูกาทั้ง 4 ของพัทลุงเริ่มใช้ในสมัยหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งหลวงพ่อทวดเรียนหนังสือที่วัดเสมาเมือง เมืองนคร ไปอยู่วัดท่าแคอยุธยา และเสด็จกลับมาจากอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2158 ในสมัยพระเอกาทศรถ โปรดให้หลวงพ่อทวดเป็นสมเด็จเจ้าพะโค๊ะ สมเด็จสังฆราชแห่งปักษ์ใต้ และโปรดให้มีกา 4 คณะ เห็นไหมว่าไชยาใช้ “กาทั้ง 4หลังเมืองนคร 133 ปี พัทลุงใช้ “กาทั้ง 4หลังเมืองนคร 1060 ปี สุโขทัยใช้หลังเมืองนคร 712 ปี
การสร้างพระธาตุเจดีย์ ทรงตึกเหลี่ยมใหญ่ สูงสง่ากว่าแข็งแรงกว่าเดิมในพ.ศ.1098 นี้ นับว่าเป็นการสร้างพระธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่ เป็นครั้งที่ 2 และในปีเดียวกัน คณะพระภิกษุสงฆ์จากลังกาลัทธิวิหารประมาณ 700 องค์เศษได้เข้ามสร้างวัดในศาสนาพุทธอีกวัดหนึ่งคือวัดท่าเรือ พ.ศ.1111 พระภิกษุสงฆ์อีกคณะหนึ่งจากลังกาประมาณ 300 องค์เศษเข้ามาสู่เมืองนครทำการสร้างวัดท้าวโคตรครั้งแรกในปีนี้ และมีการบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมา
พ.ศ.1191 นครโฮลิง ที่จีนเรียก ซึ่งแปลว่า “ไข่แดง”โดยภาพรวมคือนครศรีธรรมราช แต่ในความเป็นจริงอาจจะเป็นเมืองมลราชที่ลานสกาก็ได้ ได้ส่งฑูตไปจีนครั้งแรกและหลายครั้งต่อมาทำให้จีนทราบว่า นครศรีธรรมราช เป็นเมืองศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ศาสนาพุทธลัทธิหินยานและศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายรวมกันเจริญรุ่งเรืองควบคู่กันมาโดยมีการค้าขายทางเรือกับนานาชาติที่เมืองท่าเรือและแม่น้ำทุกสายในภาคใต้ พระภิกษุจีนจึงมักแวะผ่านนครศรีธรรมราชก่อนเดินทางไปไชยา ชา ลังกา และอินเดียทางเรือด้วยลมมรสุมอยู่เสมอ
พ.ศ.1193 เจ้าชายโมคคัลลานะหนีราชภัยมาจากลังกา สร้างที่ท่าศาลาโดยการช่วยเหลือของกษัตริย์ตามพรลิงค์ โมคลานเป็นเมืองศูนย์กลางตรงเส้นทางการค้าระหว่างอาณาจักรฟูนันในเวียตนามกับลังกา
พ.ศ.1202 กำเนิดอาณาจักรศรีโพธิ์ โดยพระเจ้าหะนิมิตโอรสอาณาจักรอู่งตั้งตนเป็นมหาราช ฉายาชื่อ “พระอินทร์” โอรสมีฉายาว่า พระเจ้าวิษณุที่ 1 ผู้กครองชวา (อินโดนีเซีย) ดังกล่าวมาแล้ว
พ.ศ.1295 ตั้งชุมชมพราหมณ์เขาคา อ.สิชล
พ.ศ.1310 พระเจ้าวิษณุที่ 2 โอรสวิษณุที่ 1 ยกกองเรือมายึดครองนครศรีธรรมราช ก่อนลังกาและไชยาจะเข้ายึดครองตั้งวัดเสมาชัยสร้างวัดคูหาภิมุขยะลา
พ.ศ.1318 ทำศิลาจารึกหลักที่ 23 และสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ในปี พ.ศ.1318 ปัจุบันพระพทุธรูปองค์นี้อยู่ที่วิหารโพธิลังกา หลังการขุดพบใหม่ๆ เมื่อ พ.ศ.2461 ถูกล่ามโซ่ เพราะกลางคืนพระองค์เสด็จออกเที่ยวไปในหมู่บ้าน ในปี
พ.ศ.2460 พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เสด็จสมโภชพระธาตุโปรดเกล้าฯให้ถอดโซ่ออกและถวายความเห็นพระคุณเจ้า ชาวบ้านจึงไม่มีโอกาสเห็นพระพุทธรูปในร่างมนุษย์ออกมาเพ่นพ่านอีกเลย (บริเวณด้านหลังองค์พระมีรอยของมีคมบาด-ชาลี)
พ.ศ.1319 สร้างวัดถ้ำทองพรรณรา อ.พรรณรา
พ.ศ.1320 สร้างเจดีย์ศรีวิชัยที่วัดเขาหลัก อ.ทุ่งใหญ่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช (ต้นราชสกุลยุคล) เสด็จไปนมัสการเมื่อปี พ.ศ.2459 แล้วทำศิลาจารึกไว้ที่วัดพระธาตุในปีเดียวกัน
พ.ศ.1325 สร้างเจดีย์ทรงศรีวิชัย ครอบพระธาตุองค์เดิมไว้ เจดีย์ทรงศรีวิชัยองค์นี้จึงนับเป็นพระธาตุเจดีย์องค์ที่ 3 เจดีย์ทรงศรีวิชัยในวัดพระธาตุจะมีทั้งมด 5 องค์หลังจากการชำรุดทรุดโทรมเพราะกาลเวลาจากการปฏิสังขรณ์ ปัจจุบันก็เหลือองค์หนึ่งหน้าประตูทางเข้า
พ.ศ.1344 สร้างพระศรีศากยะมุนีศรีธรรมราช องค์พระประธานในพระวิหารหลวง ซึ่งกรมศิลปากรยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูป-พระพุทธราชาที่มีลักษณะ งดงามมากที่สุดในปักษ์ใต้เป็นที่น่าสงสัยว่าชื่อนี้น่าจะเป็นชื่อใหม่ ส่วนชื่อเก่าเมื่อ พ.ศ.1344 คงไม่ใช่ชื่อนี้เพราะดูจากลักษณะบ่งบอกว่า ผู้สร้างต้องการให้เป็นทั้ง “พุทธราชา”และ “เทวราชา”ในองค์เดียวกัน พระพุทธรูปองค์นี้จึงน่าจะชื่อว่า “พระศรีวิชเยนทรมุนีศรีธรรมาโศกราช” 1 ปีต่อมาคือ พ.ศ. 1345 ก็สร้างวิหารหลวงทรงเรือสำเภาตามปรัชญาความเชื่อของพุทธนิพพานและพระโพธิสัตว์ ผู้ช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ก่อนพระองค์เอง และบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อมาหลายครั้ง
พ.ศ.1444 นครศรีธรรมราช เป็น The call center of Sri Wichai คือเป็นศูนย์กลางของศรีวิชัยที่ไชยา และศรีวิชัยที่ชวา โดยนครศรีธรรมราชขณะนั้นจะมีเมืองออกเมืองขึ้นเป็นเมืองสำคัญทางการค้าถึง 15 เมือง และในสมัยนี้ก็น่าจะสร้างปราสาทอิฐ 3 หลัง ตามคติความเชื่อของลัทธิพุทธมหายาน 1 ใน 3 นั้น
ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเป็น “องค์อิฐ” ที่หน้าโรงเรียนวัดท้าวโคตรในปัจจุบัน องค์อื่นน่าจะถูกรื้อลงมาทำถนนราชดำเนินในสมัยรัชกาลที่ 5 เหมือนกำแพงเมือง เพราะขณะนั้นไม่มีอิฐทำถนน และอย่าให้โจรผู้ร้ายเข้าไปส้องสุม กำลังในเมือง หรือมีนัยยะอย่างอื่นอีก
ยุคแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์
ไม่ว่าคำนี้จะมีความเป็นมาพื้นฐานอย่างไร แต่พอมาถึงช่วงนี้ทุกฝ่ายกลับเชื่อว่าตามพรลิงค์ แปลว่า ลึงค์ทองแดง หรืออวัยวะเพศชายของพระศิวะทำด้วยทองแดง ซึ่งเป็นปรัชญาความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวะนิกาย แต่จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พบลึงค์ทำด้วยทองแดง แม้แต่ศิวลึงค์ที่ถนนมังคุดหอนาฬิกา ข้างวัดสวนป่านซึ่งดูจะเป็นหลักเมืองนครหรือเป็นลึงค์พระศิวะประจำรัชกาลพระเจ้าวิษณุที่ 2 ที่เข้ายึดครองเมืองนครเมื่อ พ.ศ.1310 หากเหตุผลนี้เป็นจริงศิวลึงค์นี้น่าจะชื่อว่า “ศรีวิชเยศวร” หรือ “ตามพรลิงเคศวร”
แต่พระเจ้าอู่ ที่เสด็จจากจีนผ่านปัตตานี นครศรีธรรมราช แล้วแวะ เพชรบุรี กลับบบอกว่า “พระองค์ได้ขุดพบเทวรูปเคารพขนาดใหญ่ทำด้วยทองแดงที่เพชรบุรีจึงรู้ว่าราษฎรบริเวณนั้นนับถืออะไรกัน” ประเด็นนี้น่าคิด หรือลึงค์ทำด้วยทองแดงไปตกอยู่ที่นั่น ทำไม ใครพาไป และไม่ได้บอกว่าพบแล้วหายไปไหนจนพระองค์เสด็จกลับไปกรุงอโยธยา เรื่องนี้ต้องตามไปดูอย่ากะพริบตา เช่นกัน คอยติดตามตอนต่อไป นักประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ เชื่อกันว่ายุคตามพรลิงค์เริ่มเมื่อ พ.ศ.1573-1873
ความยิ่งใหญ่ของศรีวิชัย- นครศรีธรรมราช
พ.ศ.1514 พระเจ้าสุชิตราช จากนครศรีธรรมราช ยกกองทัพพล 17 หมื่นไปตีละโว้ (ลพบุรี – แม่เป็นเจ้าหญิงละโว้ -ชาลี) ในขณะที่กษัตริย์ละโว้ออกไปทำศึกนอกเมืองกับกษัตริย์ลำพูน ซึ่งทั้งกษัตริย์ลำพูนและละโว้ ต่างก็เกี่ยวดองเป็นเครือญาติกับพระนางจามเทวี พระแม่เจ้าอยู่หัวแห่งหริภุญไชยลำพูน เมื่อ พ.ศ.1223 และพระนางจามเทวีก็เป็นเจ้าหญิงจากศรีวิชัย ที่ไชยาพระเจ้าสุชิตราชให้โอรสองค์ใหญ่ไปปกครอง “เมืองราม” แล้วเจริญเติบโตเป็นแคว้นอโยธยา ให้โอรสองค์ที่ 2 ไปครองแคว้นศรีจนาศะ (พิมาย) ในนามพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ส่วนพระเจ้าสุชิตราชเองครองละโว้ในนาม “พระยาปานะโกศลกัมโพชราช” จากเหตุการณ์นี้แสดงว่า
1. พระองค์เป็นกษัตริย์องค์รองของนครศรีธรรมราชไม่ใช่กษัตริย์องค์เอกเพราะ ไปแล้วไปเลยไปตั้งครอบครัวเอาดาบหน้า
2. พระองค์มีเครือญาติที่มีอิทธิพลไม่น้อยแถวอาณาจักรศรีจนาศะ และอาณาจักรละโว้ รวมทั้งอาณาจักรอโยธยา การเข้าไปครองภาคกลางตามรอยศรีวิชัย-ไชยา จึงไม่ใช่เรื่องยาก
3. พระองค์มีเชื้อสายกษัตริย์ขอมทางฝ่ายมารดา ฉะนั้นพระบิดาต้องเป็นกษัตริย์องค์เอกของนครศรีธรรมราชขณะนั้น – ใคร ซึ่งคงจะทรงกฤษดานุภาพไม่น้อยทั้งด้านการเมืองการปกครองจนสามารถส่งกองทัพ 17 หมื่นให้พระจ้าสุชิตราชไปตีละโว้ได้ทางทะเล
พ.ศ.1535 สร้างวัดเสมาเมือง ลงข้างวัดเสมาชัยที่มีอายุห่างกัน 225 ปี และ ในปีเดียวกันนี้กษัตริย์เมืองนครก็ได้สร้างวัดเสมาทอง (วัดมเหยงคณ์) ให้เป้นวัดรองของวัดเสมาเมือง
พ.ศ.1560 ท้าวโคตรคิรีเศรษฐีมอญและน้องชายอพยพทางเรือเข้าเมืองนครมาตั้งรกรากและมีสัมพันธ์กับกษัตริย์เมืองนครทำให้คำว่า “ศิริธัมมนคร” ของเมืองสะเทิมมาเป็นฉายาของนครศรีธรรมราชด้วย ดังนั้นคำว่า “ศรีธัมมราช”ในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงอาจจะเป็นสะเทิมในพม่าก็ได้เพราะ “จรดฝั่งสมุทรเป็นที่แล้ว” เหมือนกัน ข้อนี้น่าคิดสองสามตลบ วัฒนธรรมศาสนาแบบมอญจึงปรากฎขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช
นักประวัติศาสตร์กรุงเทพฯจึงเข้าใจว่า อาณาจักรทวาราวดีของมอญได้เผยแผ่เข้ามาปักษ์ใต้ ที่จริงเป็นการไหลเททางวัฒนธรรมในระดับปกติของทวาราวดีที่ติดตัวมากับมอญเท่านั้น
พ.ศ.1564 มอญสร้างวัดเสมาเงิน และเจดีย์ยักษ์ (วัดพระเงินข้างเทศบาลนคร)
พ.ศ.1568 พระเจ้าราเชนทร์โจฬะที่ 1 อินเดียใต้ยกกองทัพมาตีศรีวิชัย นครศรีธรรมราช ครอบครองได้ไม่นานก็ถอยกลับไปเพราะศรีวิชัยไชยา และศรีวิชัยศรีธรรมราชกำลังรวบรวมกองทัพเรือนอกอาณาจักรเข้ามาตีกลับ
พ.ศ.1580 กรมการเมืองนครถวายเจ้าหญิงจันทวดี พระธิดาอดีตกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปเป็นมเหสีของพระเจ้าอู่ทองแห่งแคว้นอโยธยา มีพระโอรสองค์หนึ่งไปครองเมืองธานยปุระ (เมืองอู่ข้าว) หรือนครสวรรค์สืบเชื้อสาย “ศรีธรรมาโศก” ฝ่ายแม่ ส่วนน้องชายเจ้าชายสุวรรณคูตา พระเจ้าอู่ทองสนับสนุนให้เป็นกษัตริย์เมืองนครในนามพระเจ้าสุวรรณคูตาศรีธรรมาโศกราชในปีเดียวกันนี้”ศุกโขไฑ” ก็มีกษัตริย์ที่เข้มแข็ง มีอำนาจขึ้น พระเจ้าสุวรรณคูตาทรงบูรณะวัดเสมาทอง (มเหยงคณ์) ให้เป็นวัดมีเสนาสนะเพียบพร้อมเพื่อเป็นวัดรองจากวัดท่าช้างที่เป็นวัดสมเด็จสังฆราช “เจ้าโพธิกุมาร” หลานตาของพระเจ้าสุวรรณคูตา วัดท่าช้างนี้จึงน่าจะเป็นวัดท่าช้างที่บ้านมะม่วงสองต้น ไม่ใช่วัดท่าช้างที่ตลาดแขกที่กรมศิลปากรยกที่ดินให้แขกไทรบุรีสร้างมัสยิดซอลาฮุดดินทับไว้ และในปี พ.ศ.1580 นี้สุโขทัยก็มีผู้ปกครองที่เข้มแข็งกำลังสร้างแว่นแคว้นของตนเองตามการจดบันทึกของพงศาวดารเหนือ
พ.ศ.1610 นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์รวมของศรีวิชัยทั้ง 3 ทั้งไชยา และชวา ผู้สำเร็จราชการเมืองนครไปสร้างห้องเก็บพระบรมราชโองการให้พระเจ้ากรุงจีน สร้างหอสมุดหลวง สร้างโบสถ์ใหญ่ที่กวางตุ้ง ซื้อที่นา 400,000 ตำลึง ถวายวัดนี้ พระเจ้ากรุงจีนพอใจมากตั้งให้เป็นจอมพลผู้ปกป้องความเชื่อและการก่อสร้างโปรดให้เข้าเฝ้าได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องมีขุนนางเบิกตัวเข้าเฝ้า เป็นที่น่าสงสัยว่าในขณะนั้นนครศรีธรรมราช ว่างกษัตริย์หรือ ถึงมีผู้สำเร็จราชการหรือมีกษัตริย์ผู้เยาว์ผู้สำเร็จราชการต้องการเป็นกษัตริย์ จึงไปทำพอได้กับจีนขอการรับรองจากจีน?
พ.ศ.1623 ศุกโขไฑ”เริ่มมีบทบาทอำนาจทางการเมืองการปกครองในกลุ่มภาคเหนือ โดยมีขอมเข้ามา “แจม”ด้วยและพงศาวดารเขมรยืนยันว่าสุโขทัยตั้งเมืองในปีนี้
พ.ศ.1645 พระภัทรสถวีระภิกขุแห่งไชยา แต่งตำนานศรีวิชัยโบราณบอกถึงความเกี่ยวเนื่องในเชิงลึกของไชยา-นครศรีธรรมราช-ชวา และลังกา เพราะ 4 เมืองนี้คือขั้วอำนาจของอาณาจักรศรีวิชัยตัวจริงตลอดมา
พ.ศ.1710 ศรีวิชัยที่ไชยาได้ไปทำการสังคายนาศาสนาพทุธให้บริสุทธิ์ที่ลังกาแล้วช่วยกันเผยแผ่ไปสู่ไชยา – นครศรีธรรมราช ชวา ละโว้ ศรีสุวรรณะ(นครปฐม) อโยธยา หริภุญไชย และธานนยปุระ(นครสวรรค์)
พ.ศ.1722 ท้าวพิไชยเทพเชียงแสน พระบิดาท้าวอู่ทอง (องค์หนึ่ง) แห่งอโยธยา (ศรีรามเทพนคร) ได้อาสายกกองมาปราบศรีวิชัยนครศรีธรรมราช ที่บังอาจปลูกต้นมหาโพธิ์แสดงความเป็น “โพธิราชา”เพื่อดึงเมืองออกเมืองขึ้นเข้ามาสู่ร่มโพธิสมภารพร้อมกับริเริ่มการก่อสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศอิสรภาพแสดงว่า แคว้นอโยธยากำลังเจริญรุ่งเรืองเป็นผู้นำทางด้านการเมืองการปกครอง และไม่อยากให้นครศรีธรรมราช ขึ้นมาตีเสมอแม้ว่าจะโด่งดังในนามศูนย์กลางของศรีวิชัย มาก่อนนี้ไม่นาน และเป็นเพราะกำลังเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ด้วยกษัตริย์องค์ก่อนเพิ่งสวรรคตก็ตาม
พ.ศ.1723 นางพญาเลือดขาว พระแม่เจ้าอยู่หัวและพระยากุมารแห่งอาณาจักรสะทิงพระ เสด็จมาเยี่ยมนครศรีธรรมราช “สะทิงพระ” เป็น 1 ใน 10 นครของศรีวิชัยจากหลักฐานของนักประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ จากการสัมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (ขณะเป็นวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) ยืนยันว่านางพญาเลือดขาวเสด็จนครศรีธรรมราช ครั้งแรกในปีพ.ศ. 1723 แต่ผู้ว่าราชการเมืองพัทลุงในขณะนั้น(สมัย ร.5) พิณ จันทโรจน์วงศ์ ผู้เขียนประวัตินางพญาเลือดขาวบอกว่า พระนางครองราชย์ที่เมืองสะทิงพระประมาณ พ.ศ.1482 บางตำนานบอกว่า ปี พ.ศ. 1482 พระนางเพิ่ง ไปเรียนวิชาการจากสำนักเขาอ้อ(ควนขนุน) พัทลุงพร้อมกับเจ้ากุมาร ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นไม่เชื่อบอกว่า “แก่ไป”
ยิ่งกว่านั้นจากการสัมนาเชื่อว่านางพญาเลือดขาวเสด็จสุโขทัย พร้อมพระร่วงอรุณโรจนราชในปี พ.ศ.1799 ที่พระร่วงเสด็จมานครศรีธรรมราช จากปี พ.ศ.1482 ถึง พ.ศ.1799 เป็นเวลา 317 ปี ไม่น่าที่พระนางจะมีพระชนมายุมากขนาดนั้น ในความเป็นไปได้จึงน่าจะมี “นางพญาเลือดขาว 2 องค์” ต่างยุคต่างสมัยกันแต่เป็นเชื้อสายเดียวกัน และความคิดความอ่านเหมือนกันและต่างก็เป็นพระแม่เจ้าอยู่หัวของอาณาจักรสะทิงพระ นางพญาเลือดขาวองค์ที่ 2 ดูน่าจะเป็นเหลนองค์ที่ 1 มากกว่าจะเป็นหลานหรือลูกวิธีการหาก็ไม่ยากโดยไป “แกะ”ชื่อกษัตริย์ ของอาณาจักรนี้ดูเหตุการณ์แต่ละช่วงจะคลายตัวออกมาเอง จากการที่พระนางไปเรียนไสยเวทชั้นสูงจากพราหมณ์ และศาสนาพุทธลัทธิมหายาน จากสำนักเขาอ้อ จึงเป็นและหนุนส่งให้พระนางเป็น “อรหันต์ฆราวาส” ได้โดยไม่ยากนัก สาเหตุที่พระนางเกี่ยวกับเมืองนคร เพราะเมืองสะทิงพระเป็น 1 ใน 10 ของเมืองขึ้นของศรีวิชัยเหมือนกับสิงหนคร สงขลา เมืองกระ ตะกั่วป่า ปกาไสย และกันตัง เป็นต้น เรื่องนี้ต้องวิเคราะห์วิจัยในเชิงลึกอีกที
อิทธพลของขอม
อิทธิพลของมอญ-ทวารวดี ด้านวัฒนธรรมในนครศรีธรรมราช ยังไม่ทันจางหาย พระเจ้าไชยวรมันที่ 7 (1742-1762 )แห่งอาณาจักรขอมรู้สึกหวั่นไหวต่ออำนาจของแคว้นอโยธยาของพระเจ้าอู่ทองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางที่เข้ามาข่มขู่เอากับอาณาจักรรีวิชัย ที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนและเกี่ยวพันเป็นพระญาติกับพระองค์และด้วยการเห็นด้วยของพ่อขุนผาเมือง ราชบุตรเขย จึงตัดสินพระทัยส่ง กมรเต็งอัญศรีชคตไตรโลกยราช เจ้าเมืองละโว้ซึ่งน่าจะเป็นเชื้อสายของพระเจ้าสุชิตราช จากเมืองนครมาปกครองศรีวิชัยที่ไชยาในพระนามใหม่ว่า “พระเจ้าไตรโลกยราช” ซึ่งชื่อนี้จะเป็นต้นแบบชื่อของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระเจ้าเจ้าไตรโลกยราช มาปกครองศรีวิชัยในปี พ.ศ. 1740 และดึงศรีวิชัยนครศรีธรรมราชและศรีวิชัยชวา เข้ามาเป้นบริวารรวมทั้งเมืองบริวารทั้ง 12 เมือง ทำให้ไชยาเป็นศูนย์กลางของศรีวิชัยอีกครั้งหนึ่ง
พ.ศ.1758 เจ้าชายมาฆะโอรสพระเจ้าไตรโลกยราชได้ไปช่วยกษัตริย์ลังกาทำสงครามจนชนะได้รับบำเหน็จให้เป็นกษัตริย์ครองเมืองโปโลนนรุวะ ทำให้ศิลปการก่อสร้างทางพระพุทธศาสนาแบบไชยา-ลังกา-นครศรีธรรมราช-สุโขทัย-อยุธยา เป็นรูปแบบเดียวกันและสืบทอดตกถึงกันในเวลาต่อมารวมทั้งเมืองบริวารทั้งหลายของเมืองเหล่านี้
พ.ศ.1760 พระเจ้าไตรโลกยราชส่งเจ้าชายจันทรภาณุที่ 1 โอรสเจ้าชายมาฆะมาปกครองศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช ขึ้นกับไชยา
พ.ศ.1768 เฉาจูกัว นักจดหมายเหตุจีน จดบันทึกททวนเมืองเอก 15 หัวเมือง ของศรีวิชัยเสียใหม่เพื่อการติดต่อทางการค้า ซึ่ง 15 เมืองมีชื่อเป็นภาษาจีนดังนี้
1. ปอง-ฟง , 2. ตอง-ยา-นอง , 3. หวั่ง-ยะ-สิ-เกี๋ย (ยะรัง ปัตตานี) , 4. กิลันตัน(กลันตัน) , 5. โฟ-โล-อัน(พัทลุง) , 6. จิ-โล-ทิง , 7. เสียนไหม(กระบี่) , 8. พะ-ท่า , 9. ตัน-มา-ลิง(นครศรีธรรมราช) 10. เกีย -โล -หิ (ครหิที่ 1 เมืองกระ ครหิที่ 2 ไชยา) , 11. ปา-ติง-ฟอง , 12. ชินโต(สุมาตราใต้) 13. เคียน-ปี่ , 14. ลัง-วู-ลิ (สุมาตราเหนือ) , 15. ซิ-หลาน(ลังกา อังกฤษจึงเรียก Ceylon)
พ.ศ.1769 โจฬะเขมรที่เป็นเชื้อสายของโจฬะราเชนทร์ที่1 แห่งอินเดียใต้เข้ายึดครองกรุงละโว้ พระเจ้าไตรโลกยราช โปรดให้ส่งเจ้าชายพระยาร่วง โอรสมเหสีรอง(แม่เป็นละโว้) ไปปราบโจฬะเขมรที่ละโว้แล้วปกครองละโว้ต่อมา พระยาร่วงองค์นี้น่าจะเป็นพระร่วงส่วยน้ำที่สั่งให้น้ำอยู่ในชะลอมส่งไปขอมแสดงว่าว่าทั้งนครศรีธรรมราชและละโว้ต่างก็สงส่วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปให้กษัตริย์ขอมอาบทุกปี แสดงว่า(อีกครั้ง) กษัตริย์ขอมเป็นเชื้อสายศรีวิชัยแน่นอนมาตั้งแต่โกณทัญญะแห่งฟูนันจากอาณาจักรพนม พระเจ้าไชยวรมันที่ 7 จาก …….? หรือสืบเชื้อสายจากพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 แห่งพิมาย ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะพระองค์ทำถนนย้อนกลับเข้ามาสู่เมืองขึ้นขอมมากมายในอีสานและภาคกลาง เช่น บุรีรัมย์ พิมาย ลพบุรี ฯลฯ
เมื่อกษัตริย์ขอมสมัยหลังพระเจ้าไชยวรมันที่ 7 ส่ง”ขอมดำดิน”มา “เก็บ”พระยาร่วง ๆ จึงเสด็จหนีไปบวชที่กรุงสุโขทัย เพราะสุโขทัย(แคว้นพาลี้) เคยอยู่อาณัติของศรีวิชัย ที่ไชยาและละโว้มาก่อน
พ.ศ.1770 พระเจ้าไตรโลกยราชที่ศรีวิชัย – ไชยา สวรรคตพระเจ้าจันทรภาณุจากนครศรีธรรมราชกลับไปครองไชยา แล้วให้น้องชาย “พงษาสุระ” มาปกครองนครศรีธรรมราชในพระนาม พระเจ้าจันทรภาณุที่ 2
พ.ศ.1773 พระเจ้าจันทรภาณุที่ 2 นครศรีธรรมราชประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับศรีวิชัย-ไชยา และไม่ขึ้นกับขอมเพราะพระเจ้าไชยวรมันที่ 7 ผู้อยู่เบื้องหลังกษัตริย์ไชยาได้สวรรคตแล้วและไม่ต้องส่งส่วยน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 7 บ่อในเมืองนครไปให้ขอมอีกดังจารึกหลักที่ 24 วัดเสมาเมืองที่จารึกไว้ในปีนี้ทำให้อำนาจขอมหมดไปจากอาณาจักรศรีวิชัยไปด้วยในตัว ตั้งแต่ปีนี้ตามพรลิงค์ นครศรีธรรมราชมีเมือง 12 นักษัตรเข้ามาเป็นเมืองบริวาร
พ.ศ.1790 พระเจ้าจันทรภาณุ ผู้ประกาศอิสรภาพ ได้ก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาครอบทรงศรีวิชัยไว้ภายในนับว่าเป็นการสร้างพระธาตุเจดีย์ครั้งใหญ่สุดเป็นครั้งที่ 4
จอมทัพเรือผู้เกรียงไกร
ในปี พ.ศ.1739 พระเจ้ามาฆะพระบิดาของพระเจ้าจันทรภาณุแห่งไชยาและพระเจ้าจันทรภาณุนครศรีธรรมราช ทรงชราภาพมากแล้วถูกข้าศึกมาย่ำยี จึงตกลงกันว่าให้นครศรีธรรมราช ยกกองทัพเรือไปช่วยโดยการสนับสนุนของศรีวิชัยไชยาในครั้งนี้กษัตริย์ลังกาสัญญาจะให้พระพทุธสิงหิงค์ พระพุทธรูปโบราณแก่พระเจ้าจันทรภาณุและในการศึกครั้งนี้น่าที่จะพระยาร่วงจะเสด็จออกทางเมืองสะเทิมยกกองทัพเรือไปร่วมรบ เพราะทรงรู้จักลักษณะนิสัยของโจฬะในอินเดียเป็นอย่างดีการขอพระพุทธสิหิงค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไปไว้สุโขทัยไปเป็นเครื่องมือในการตั้งอาณาจักรเพื่อความเป็น “พุทธราชา” ก็น่าจะเกิดขึ้นในเวลานี้ แต่นครศรีธรรมราชคงต้องการเอามาเฉลิมฉลองคู่กับพระธาตุเจดีย์ก่อนและไม่ใช่สุโขทัย “สั่ง”นครศรีธรรมราชดังที่นักประวัติศาสตร์ภาคกลางเข้าใจ
พ.ศ.1798 พระเจ้ามาฆะทรงชราภาพมากแล้วเลยเสด็จกลับศรีวิชัย-ไชยา และได้อุปสมบทจนสวรรคตที่ไชยา ส่วนพระพุทธสิงหิงค์ นางพญาเลือดขาวนำมาไว้ที่นครศรีธรรมราช และในปีนี้พระเจ้าจันทรภาณุก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าสามจอมจากกัมพูชา(ขอม) นางพญาจัณฑี (จันดี) จากเมืองขวาง เมืองสระ (อาณาจักรเวียงสระ) และนางพญาเลือดขาว จากอาณาจักรสะทิงพระที่อาณาจักรของตนล่มไปช่วยก่อนสร้างวัดควนสูงอที่อำเภอฉวางอโดยฝังทองคำแท่ง 150 สำเภา เรือไว้ที่นั่น เจ้าสามจอมได้สร้างวิหารสามจอม ไว้บูชาพระธาตุต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วิหารศรีธรรมาโศกราช นางพญาจัณฑี ได้สร้างพระยายแอด หรือสร้าง พระกัจจายานะ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่แม่นางแอด แห่งเมืองขวาง เมืองสระ แม่ของพระนางพระองค์นี้จึงเรียกแบบชาวบ้านว่า “พระยาแอด” ส่วนนางพญาเลือดขาวได้บูรณะวัดท้าวโคตรเป็นครั้งที่ 5 สร้างวัดนางตรา วัดถ้ำทองทุ่งสง พระพทุธไสยาสน์-กันตัง และวัดพระนางสร้างที่ภูเก็ต เมืองเก่า ที่กิ่งอำเภอช้างกลาง
พ.ศ.1799 พระร่วงอรุณโรจนราช จากสุโขทัยเสด็จนครศรีธรรมราช เพื่อร่วมเฉลิมฉลองพระธาตุเจดีย์คู่กับพระพุทธสิงหิงค์พร้อมด้วย “ราชา” จากนครทั้ง 12 ซึ่งแน่ละแขกคนสำคัญต้องเป็น “พระร่วง” น้องชายต่างมารดาที่กำลังจะเป็น “ราชาธิราช”แห่งแคว้นสุโขทัยไม่ใช่กษัตริย์ต่างเมือง 12 นักษัตร จากการต้อนรับอย่างดีจาก “เสด็จพี่” พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมโศกราช ผู้ยิ่งใหญ่บนแหลมมลายูและเป็น “concept” ของศรีวิชัยอันโด่งดังในอดีตการสมานฉันท์ฉันพี่น้องร่วมบิดา เจ้าชายมาฆะผู้เกรียงไกรแห่งโปโลนนรุวะในลังกาข้อตกลงจึงมีความน่าจะเป็นดังต่อไปนี้
1.พระพุทธสิหิงค์ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า และสัญลักษณ์ของพุทธราชาแห่งพระเจ้าจันทรภาณุต้องอยู่นครศรีธรรมราชต่อไปในโอกาสที่ได้ลงทุนไปมากในการทำศึกกับลังกาและเพิ่งประกาศอิสรภาพมาเมื่อ 26 ปีที่แล้ว โดยจะให้ช่างเมืองนครหล่อจำลองพระพุทธสิงหิงค์ให้ไป
2.เพื่อความเป็น”พุทธราชา” ของพระยาร่วงจะได้สมบูรณ์ทั้งด้านปรัชญา ความเชื่อ และพิธีกรรม พระเจ้าจันทรภาณุ จะถวายพระแม่เจ้าอยู่หัว นางพญาเลือดขาว “อรหันต์ฆราวาส”แห่งตามพรลิงค์ไปเป็น “ศักดิ”ของพระร่วง คอยช่วยเหลือด้านศาสนาพุทธเหมือนพระนางอินทรศจี มเหสีของพระเจ้าไชยวรมันที่ 7 คอยเป็น “ศักดิ” ให้กับพระเจ้าไชยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมในด้านศาสนาตลอดมา
3.พระเจ้าพี่จันทรภาณุได้ถวาย “สังฆราชปราชญ์ปู่ครู”พระภิกษุสงฆ์ที่ทรงความรู้อันสูงส่งทางศาสนาพุทธ ระดับนักปราชญ์ คือรอบรู้ทุกสรรพสิ่ง จนเป็น “ปู่” ของพระครูทั้งหลาย ตามธรรมเนียมโบราณคณะธรรมฑูตไปต่างเมืองสมัยก่อนมีทีมเล็กขนาด 17 คน ประกอบด้วย พระชั้นผู้ใหญ่หัวหน้าคณะ1 รูป พระชั้นผู้ใหญ่รองหัวหน้าคณะ 1 รูป พระธรรมกถึกผู้เก่งกล้าในพระไตรปิฎก พระภิกษุผู้รู้ธรรม สามเณร ผู้รู้ธรรม และสัปปบุรุษหรือ “บาคู” ฆราวาส ผู้สั่งสอนแนะนำพระ
ได้รวมแล้ว 17 คน เป็นอย่างน้อย หากคณะใหญ่ก็มากกว่านี้อาจจะถึง 31 องค์ หรือคน ดังนั้นการที่เมืองนครถวาย “สังฆราชปราชญ์ปู่ครู” แสดงว่าเป็นพระภิกษุสงฆ์สูงสุดยอดให้แก่สุโขทัย และตั้งใจช่วยสุโขทัยอย่างเต็มที่
4.พราหมณ์ปุโรหิต มหาพราหมณ์ผู้เจนจบพระเทวในทางปฏิบัติบูชาและพิธีกรรมแบบพราหมณ์ชั้นสูงของศรีวิชัย แก่สุโขทัยเพื่อเป็นโหรหลวงและเป็นที่ปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดิน พราหมณ์ปุโรหิตหัวหน้าคณะคือพ่อของพราหมณ์โชติรัตน์ ปู่ของนางนพมาศ ผู้กำเนิดการลอยกระทง ก็เหมือนกับ “พระอินทร์”กษัตริย์องค์แรกของอาณาจักรศรีวิชัย-ไชยา ได้ถวาย “มหาพราหมณ์ศิวะไกวัลย์”ไปเป็นที่ปรึกษาแก่พระเจ้าไชยวรมันที่ 2แห่งอาณาจักรของแล้วสามารถตั้งพิธีกรรมประกาศลัทธิเทวราชาบนภูเขาพนมกุเลนในกาลต่อมา เช่นนั้น งนั้นกระวนทัพ”สยามกุก”จึงน่าจะเป็นกองทัพช้างจากศรีวิชัยเพราะคำว่าเสียมหลอหมายถึง ไชยา+ละโว้ ดังจดหมายเหตุจีน
5.ลิลิตโองการแช่งน้ำ แบบพราหมณ์ที่ศรีวิชัย-ไชยา เคยใช้สาปแช่งศรีวิชัย-ชวา ที่มีกษัตริย์ลังกาอยู่เบื้องหลังความกระด้างกระเดื่อง ต้นแบบนี้พระเจ้าศรีวิชเยนทรราชาวิษณุที่ 2 ได้นำมาใช้กับนครทั้ง 10 เมือง และพระเจ้าจันทรภาณุได้ใช้กับเมือง 12 นักษัตร เมื่อพระเจ้าพี่จันทรภาณุจะมอบต้นฉบับร่างให้พระเจ้าน้องอรุณโรจนราช – พระยาร่วง ไปใช้ในสุโขทัยก็ไม่เสียหายอันใด แล้วนำไปเขียนเสียใหม่ให้เหมาะสมกับสุโขทัยในการปกครองเมืองออกเมืองขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ.2458 และ 2460 ที่พระองค์เสด็จมาเป็นองค์ประธานพระราชพิธีถือน้ำพิพัทสัตยาประจำปีของเมืองนครหน้าพระวิหารหลวง “สักขี” ผู้จดบันทึกจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเขียนบอกว่า ใช้โองการแช่งน้ำของสุโขทัยไปจากนครศรีธรรมราช ไม่ใช่สุโขทัยเขียนใหม่เอี่ยม อันดับแรกสุดของไทยดังที่นักประวัติศาสตร์นักโบราณคดีและนักวรรณกรรมคดีภาคกลางเข้าใจ
6.รูปแบบและวิธีการทำศิลาจารึก เมืองนครทำศิลาจารึกมาตั้งแต่พ.ศ.900 มีหลายหลักที่ยังไม่ได้อ่าน พ.ศ. 1100 ทำแม้จะไม่ตั้งใจทำก็ตามและหลังจากนั้นทำอีกหลายหลัก เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 23 ศิลาจารึกหลักที่ 24 ศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ เป็นต้น ส่วนภาษาและตัวอหนังสือรวมทั้งภาษาถิ่นของเมืองนครที่มีอยู่หลากหลาย ภาษาเมืองสะเทิม และภาษาในท้องถิ่นของสุโขทัยโดยเฉพาะภาษาขอมที่มีใช้อยู่ในละโว้และศรีวิชัยทุกเมืองในปักษ์ใต้ มาเป็นภาษาในศิลาจารึกหลักที่ 1 สุโขทัยจึงทำศิลาจารึกสำเร็จในปี พ.ศ.1826 หลังเมืองนครทำศิลาจารึกเป็นถึง 926 ปี
เงื่อนงำที่น่าสนใจ
ขณะเสด็จไปเป็น “ศักดิ”ของพระร่วง ใน ปี พ.ศ. 1799 นั้นทรงพระครรภ์อยู่แล้วพระนางประสูติพระโอรสที่สุโขทัย และตั้งพระนามว่า “เจ้าฟ้าคอลาย” แปลว่าพญางูใหญ่ ในปี พ.ศ.1804 พระนางเสด็จกลับนครศรีธรรมราช ทรงหล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์ส่งไปให้สุโขทัย
พ.ศ.1800 คณะสงฆ์จากลังกา นักปราชญ์ ราชบัณฑิต สัปบุรุษ อุบาสก อุบาสิกา ชื่นชมยินดีกับความเป็นเมืองพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ของเมืองนครจึงอพยพเข้ามาเป็นระลอกๆ ช่วยกันสร้างวัดมากมาย เช่น สร้างรูปเคารพทางขึ้นองค์พระธาตุ สร้างวัดเสมาเงินเพิ่มเติม สร้างวัดแจ้ง วัดชะเมา วัดใหม่ อ.ทุ่งใหญ่ วัดท่าเรือ วัดพระพรหมพระเพรง เพิ่มเติมให้เป็นวัดพุทธซึ่งก่อนนี้เป็นวัดในศาสนาพราหมณ์และในปีเดียวกันนี้ สุโขทัยก็ประกาศอิสรภาพเป็นทางการ
ต่อมาในปี พ.ศ. 1813 พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชแห่งตามพรลิงค์ผู้เกรียงไกรได้ยกกองทัพเรือ สมุทรยาตรา ไปตีลังกาอีกครั้งหนึ่งเพื่อยึดเมืองโปโลนนรุวะของเจ้าชายมาฆะ สมเด็จพ่อคืนมาและจะเข้าครอบครองเหมือนศรีวิชัยไชยาเคยครอบครองเมืองทวารกาในอินเดียใต้มาแล้ว และหวังจะได้ “บาตร”ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานครู่กับพระบรมธาตุเจดีย์ที่สร้างเสร็จใหม่ๆ เพื่อยกฐานะของพระองค์ให้สูงส่งดัง “มหาราช”แห่งศรีวิชัยองค์ก่อนๆให้ได้ แต่ลังกาไม่ยอมเสียเมืองในครั้งนี้ จึงร่วมมือกับพวกราเชนทร์โจฬะและศรีวิชัยไชยา หรือ “ชวากะ” ให้ช่วยกัน “หักหลัง” การทำศึกครั้งนี้ ศรีวิชัย-ไชยา แม้ว่าจะเป็น “พี่”แต่ก็ไม่อยากให้ “นครศรีธรรมราช”ขึ้นหน้าแซงขึ้นมาเป็น “มหาราชแห่งศรีวิชัยทั้ง 3 จึงร่วมมือกับลังกาเป็นไส้ศึก สงครามครั้งนี้พระเจ้าจันทราภาณุแห่งศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช จึงพ่ายแพ้อย่างยับเยินอย่างไม่คาดคิดและเชื่อกันว่าพระองค์สวรรคตในสนามรบ พระศพของพระองค์อยู่ที่ไหน ศรีวิชัย-ไชยาต้องรู้เรื่องนี้ ดังนั้นการใช้โองการแช่งน้ำแบบพราหมณ์ชั้นสูงที่ศรีวิชัย-ไชยา เคยสาปแช่งศรีวิชัย-ไชยา จึงได้นำมาใช้ “สะกด”ศรีวิชัย-นครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง อาจจะเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าจันทรภาณุกำลังทำศึกอยู่กับลังกาก็ได้
พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช รู้เรื่องนี้มาจากไหนจึงทำพิธีถอนคำสาปเมื่อ พ.ศ.2528 ก่อนสร้างศาลหลักเมืองใหม่ทรงศรีวิชัยไว้ ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช?? เป็นการแก้เคล็ด?? โดยใช้กลวิธี “ฤกษ์พิฆาตฤกษ์”
ปิดฉากอรหันต์ฆราวาส
ในขณะเดียวกันนางพญาเลือดขาว พระแม่เจ้าอยู่หัว ก็สั่งคนใกล้ชิดว่าเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ให้นำพระศพกลับไปอาณาจักรสะทิงพระตามเดิม เราน่าจะไปค้นหาว่าพระศพของพระนางอยู่ที่ไหน?
ส่วนเจ้าฟ้าคอลายประทับอยู่ที่สุโขทัยจนพระชนมายุ 15 พรรษา ในพ.ศ.1815 ที่เสด็จแม่นางพญาเลือดขาวสิ้นพระชนม์ ก็เสด็จกลับมานครศรีธรรมราช แล้วไม่มีร่องรอยอีกเลย ในปี พ.ศ. 2518 ผู้เขียน (ชาลี) เรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม (อิสาณ) อาจารย์ผู้สอนบอกว่า มีร่องรอยเจ้าชายองค์หนึ่งของสุโขทัยได้หายไป ผู้รู้หลายคนเชื่อว่าคือพ่อขุนศรีศรัทธาผู้กำเนิดมโนราห์ปักษ์ใต้ แต่ขุนศรีศรัทธาแม้จะมีชื่อเป็นทำนองชื่อของสุโขทัยก็เป็นโอรสของพระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งต้องเป็นกษัตริย์ 1 ใน 15 เมือง ดังนั้นเจ้าฟ้าคอลายกับขุนศรีศรัทธาต้องเป็นคนละคน ส่วนประเด็นที่ว่า หายไป หากหมายความว่าหนีไปน่าจะเป็นเจ้าฟ้าคอลายหนีไปนครศรีธรรมราช เมื่อทราบข่าวว่าเสด็จแม่สิ้นพระชนม์และเพิ่งทราบว่าเสด็จพ่อสวรรคตในการศึก ก็แสดงว่าเจ้าฟ้าคอลายน่าจะเป็นโอรสพระเจ้าจันทรภาณุพระสวามีองค์ที่ 2 ของนางพญาเลือดขาว ดังนั้นการให้พระนางเสด็จสุโขทัยในขณะทรงครรภ์ ก็เพื่อเป็นการสร้างบุญบารมีและกฤษดาแห่งอภินิหารให้โอรสในครรภ์ หากเป็นลูกชายดังที่พระนามจามทวี รัชทายาทบุญธรรมแห่งกรุงละโว้เล่นบทนี้มาแล้วในการเดินทางไปกลไปหริภุญไชย (ลำพูน) เมื่อ พ.ศ. 1223 หรือประมาณ 576 ปี ที่แล้วหากนับมาถึง พ.ศ.1799 ในกรณีที่ 2 หากเจ้าฟ้าคอลายมีชื่อเป็นสุโขทัยว่า “พ่อขุนศรีศรัทธา” ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะสอดรับกับความเป็น “อรหันต์ฆราวาส” ต่อมาศาสนาพุทธของนางพญาเลือดขาวผู้เป็นแม่อย่างชัดเจนในฐานะเช่นนี้ ทำให้เจ้าฟ้าคอลายมุ่งมั่นตั้งพระทัยที่จะเป็นกษัตริย์ครองนครศรีธรรมราชต่อจากพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชแน่นอน “สุวัณณภูมิ”คำแรกคือ Golden Khersonese อันหมายถึง ปักษ์ใต้หรือเจาะจงลงที่เขาสุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง)ใจกลางสุวรรณปุระหรือศรีวิชัยที่ไชยาและกลายเป็นปรัชญาความเชื่อของอยุธยาและกรุงเทพว่าต้องมีภูเขาทองกลางเมืองดังศรีวิชัย เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของราชธานี
จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด สมเด็จพระบรมราชาที่2 เจ้าสามพระยาจึงทรงตัดสินพระทัยดังนี้
1. ส่งกองทัพที่ชำนาญในการศึกไปตีนครธมใจกลางอาณาจักรขอมอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ. 1974 กวาดต้อนผู้คนมาอยุธยานับแสนคนและเป็นการพ่ายแพ้ชั่วนิรันดร์ของอาณาจักรขอมจนปัจจุบันส่งผลให้ศรีวิชัยหยุดความคิดที่จะเข้าช่วยขอมเพราะตนเองก็ไม่เข้มแข็งดังแต่ก่อน
2. ส่งกองทัพไปตีสุโขทัย ผู้ปกครองศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 1981 ทำให้สุโขทัยที่ถูกบ่อนทำลายให้อ่อนแอมาก่อน ตกเป็นของอยุธยาทันที ศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช จึงตกเป็นเมืองพระยามหานครอย่างสิทธิขาดแก่กรุงศรีอยุธยา รวมทั้งเมืองออกเมืองขึ้น บนแหลมมลายูของนครศรีธรรมราช
3. สมเด็จพระบรมราชาที่ 2 เจ้าสามพระยาส่งราชทูตมาสู่สำนักศรีวิชัย-ไชยา อ้างความเป็นเครือญาติใกล้ชิดระหว่างอาณาจักรอู่ทอง เมื่อ พ.ศ.1052 กับศรีวิชัย-ไชยา ที่กษัตริย์อู่ทองมาครองศรีวิชัย และอ้างสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันในปี พ.ศ.1580 ที่พระเจ้าอู่ทอง องค์หนึ่งของอโยธยา (ก่อนอยุธยา) เคยเสด็จศรีวิชัย-ไชยา ที่เมืองเวียงสระ ในปี พ.ศ.1722 ที่ท้าวพิไชยเทพเชียงแสน พระบิดาท้าวอู่ทองแห่งอโยฑฃธยา มาปราบไม่ให้ “ธรรมราชปุระ”หรือนครศรีธรรมราชสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่เพื่อความเป็น “มหาราช”โดยตกลงให้เจ้าชายพนมทะเลไชยศิริ หลานพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมืองนครที่มีเชื้อสาย “พนมทะเลศิริ” เพชรบุรีซึ่งได้มาศึกษาวิชาอยู่ที่นครศรีธรรมราช อภิเษกกับหลานสาว ของท้าวพิไชยเทพเชียงแสน แล้วไปครองนครเพชรบุรี (อาณาจักรพริบพรี) ทำให้ศรีวิชัย -ไชยา ตั้งอยู่ในที่ปกติไม่แสดงความเป็นศัตรูแก่อยุธยาแต่อย่างไรจนสิ้นรัชกาลเจ้าสามพระยา
จากวิเทโศบายทางดินแดนเช่นนี้ ทำให้กรุงศรีอยุธยาโดดเด่นอยู่อาณาจักรเดียว ทั้งมั่นคงและมั่งคั่งด้วยเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทองคำจากทุกอาณาจักรเก่าก่อนที่ล่มสลายไปแล้วไม่ว่า สุโขทัยหรือศรีวิชัย ต่างก็ไหลเทมาสู่กรุงศรีอยุธยาเปรียบเสมือนดั่งน้ำไหลจากภูเขาลงสู่ทะเลสาบ ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็น “นครทองคำแห่งตะวันออก”รองลงมาจากจีนเท่านั้น
เมืองนครหลากหลายเผ่าพันธุ์ จากที่กล่าวมาแล้วปรากฏว่านครศรีธรรมราช มีคนปักษ์ใต้ พราหมณ์อินเดีย ชวา ลังกา อาหรับ มอญ ขอม ผสมปนเปรวมเป็นเชื้อสายอย่างต่อเนื่องดังนั้นประชากรของเมืองนครจึงเป็นเลือดผสมกันมานานนับพันปีซ้ำซ้อนทางสายเลือดจึงทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรมจนมีความขัดแย้งทางความคิดอยู่เสมอไม่ว่าเรื่องอะไร ยิ่งกว่านั้นเมืองสมเด็จพระราเมศวร กษัตริย์องค์ที่2 แห่งกรุงศรีอยุธยา และได้ครองราชย์ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.1931-1938 โปรดให้ยกกองทัพไปตีเชียงใหม่หลังขึ้นครองราชย์เพียง 3 วัน กวาดต้อนพลเมืองชาวเชียงใหม่จำนวนมาก แบ่งไปไว้ในจังหวัดจันทบุรี พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช จึงทำให้นครศรีธรรมราชมีวัฒนธรรมล้านนาเข้ามาปะปนอีกชั้นหนึ่ง
ฝ่ายเขมร-กำพูชา แก้แค้นที่เสียพลเมืองไป 90,000 คน ในปี พ.ศ.1859 ดังกล่าวแล้ว ยกกองทัพมากวาดต้อนผู้คนจากเมืองจันทบุรี จำนวน 80,000 คน ในปี พ.ศ.1933 สมเด็จพระราเมศวร จึงยกกองทัพใหญ่ที่เคยไปรบขอมในรัชกาลก่อนไปตีนครธมของเขมรเป็นการแก้ตัว เมื่อเขมรถูกตีด้วยกองทัพใหญ่ของไทยถึง 3 ครั้ง ในเวลาเพียง 79 ปี ทำให้เขมรตกเป็นประเทศราชของไทยตั้งแต่ปีนั้นในแผ่นดิน “พระบาทธรรมาโศก”เป็นรัชกาลที่ 41 ของกษัตริย์ขอมซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่างปี พ.ศ. 1916 -1937 ในการนี้ได้สมบัติที่เป็นโบราณวัตถุที่ทำด้วยทองคำ เพชร นิล จินดา ไข่มุก จากปราสาทบูชาเทพเจ้าประจำรัชกาลจำนวนมาก สาเหตุสำคัญที่ขอมพ่ายแพ้คงจะเป็นเพราะว่ากษัตริย์เป็น “ธรรมราชา” ที่เคร่งปฏิบัติพระศาสนา ไม่ได้เป็น “กษัตริย์ราชา”ที่เป็นนักรบ จึงทำให้พ่ายแพ้กษัตริย์อยุธยาที่กำลัง “มัน”ในการทำสงครามด้วยการโชว์ความเป็นกษัตริย์ราชา – นักรบระหว่างพระราเมศวรตัวแทนราชวงศ์อู่ทองกับ “พระบรมราชา”ตัวแทนราชวงศ์สุวรรณภูมิที่กำลังเบ่งรัศมีข่มกัน
ความแปลกประหลาด
ในปี พ.ศ.1916 ในขณะที่พระบรมธรรมาโศกเป็นกษัตริย์ขอมขึ้นครองราชย์ในปีนี้ กษัตริย์ศรีวิชัยที่ไชยาซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ.1916 เดียวกันก็ทรงพระนามว่า “พระยาธรรมาโศก” แสดงว่า 2 พระองค์แม้อยู่ต่างแผ่นดิน อยู่ต่างอาณาจักรแต่ก็เชื้อสาย “ขอม” พระเจ้า “ไชยวรมันที่ 7” ผู้ตั้งลัทธิพุทธราชาเดียวกันสามารถทำให้กษัตริย์ 2 องค์ 2 แผ่นดิน ขึ้นครองราชย์ด้วยความคิดเป็น “ธรรมราชา” เหมือนกันและนิยมสร้างพระพุทธรูปเหมือนกันกล่าวคือ พระยาธรรมโศก แห่งศรีวิชัย-ไชยา โปรดสร้างพระพุทธรูปด้วยหินทรายแดงเป็นจำนวนมากดังที่ปรากฏอยู่ที่ไชยา และเวียงสระในปัจจุบัน และเป็นพระพุทธรูปที่แสดงออกถึงความยากลำบากในการสร้างความเพียรพยายามที่จะสร้าง รูปแบบลักษณะศิลปะและปฏิมากรรมได้บอกถึงความตั้งใจอย่างสูงส่ง ที่จะผูกรัดความเป็นมนุษย์ราชาของพระองค์เข้าไว้ในความเป็น “พุทธราชา” เทียบชั้นพระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์แล้วก็ตาม ก็จะเป็นการสูญเปล่าเมื่อคนรุ่นหลังยึงไม่รู้ถึงเจตนารมณ์ของผู้สร้างและปรัชญาความเชื่ออันสูงส่งนั้นเลย
พระพุทธรูปที่ทำด้วยหินทรายแดงเป็นจำนวนมากทั้งที่ทำในเมืองนครและที่ได้รับมาจากศรีวิชัย-ไชยา กระจัดกระจายอยู่ตามวัดโบราณต่างๆ ในนครศรีธรรมราช มากมาย โดยเฉพาะวัดพระมหาธาตุจะต้องได้รับการเปิดเผยถึงที่มาที่ไปเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังจะได้ภาคภูมิใจในความเป็น “พุทธราชา” “ธรรมราชา” และ “กษัตริย์ราชา”ของนครศรีธรรมราช อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา
บทสุดท้ายของศรีวิชัย-ไชยา
ความเก่งกล้าสามารถแบบศรีวิชัยได้ปรากฏอยู่ในตัวตนของ “พระบรมราชา”ผู้มาจากราชวงศ์สุวรรณภูมิได้ส่งต่อมาถึงพระนครอินทร์ผู้หานที่ฮ่องเต้ของจีนทรงตั้งให้เป็น “เสียมหล๋อก๊กอ๋อง”กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ภายในปี พ.ศ.1952-1967 สยบราชธานีสุโขทัยลงมาได้ขึ้นกับอยุธยาทำให้นครศรีธรรมราช ที่เคยเป็นประเทศราชของสุโขทัย ก็มาเป็นเมืองพระยามหานคร ของกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินศรีวิชัย-นครศรีธรรมราช ถูกเรียกเป็นเพียง “เจ้านคร”ในตำแหน่ง “พระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชย มไหสุริยาธิบดี อภัยพีริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช”เท่านั้น
ส่วนศรีวิชัย-ไชยา ยังมีกษัตริย์ต่อมาอีก 2-3 องค์ ที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงนักก็หมดฐานะลงใน พ.ศ. 1994 เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้เจ้าชายพนมวังก์ จากเพชรบุรีผู้มีเชื้อสายจากอาณาจักรพนมโบราณสายเจ้าชายพนมทะเลชัยศิริ เมื่อ 270 ปีก่อนมาเป็น “เจ้านคร” ครองทั้งศรีวิชัย-ไชยา และศรีวิชัย -นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยพระนางเสดียงทองมเหสี โดยมาตั้งศูนย์กลางการปกครองที่เมืองนครดอนพระ ในเขตเมืองสระอุเลาเดิมหรือเมืองกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน งานหลักคือารปฏิรูปบ้านเมืองที่มีการปกครองแบบศรีวิชัยโบราณ มาเป็นสมัยใหม่แบบโยงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแบบอยุธยา
ข้อสังเกตุกษัตริย์วงศ์สุวรรณภูมิ
ดังกล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า “สุวัณณภูมิ”คำแรกคือ Golden Khersonese อันหมายถึง ปักษ์ใต้หรือเจาะจงลงที่เขาสุวรรณบรรพต (ภูเขาทอง)ใจกลางสุวรรณปุระหรือศรีวิชัยที่ไชยาและกลายเป็นปรัชญาความเชื่อของอยุธยาและกรุงเทพว่าต้องมีภูเขาทองกลางเมืองดังศรีวิชัย เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของราชธานี
กษัตริย์ศรีวิชัยที่เป็นขอมมาจากละโว้ มาปกครองศรีวิชัย-ไชยา ชื่อเดิมคือ”กมรเต็งอัญศรีชคตไตรโลกยราช” เปลี่ยนเป็นภาษาไทยปักษ์ใต้ว่า “พระยาไตรโลกยราช” หมายถึงกษัตริย์ทั้ง 3 โลก เมื่อราชวงศ์สุวรรณภูมิเป็นเชื้อสายจากศรีวิชัย-ไชยา ก็มีพระนามว่า “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ที่พึ่งทั้ง3 โลก)” เป็นกษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งกรุงศรีอยุธยาดังกลาวแล้วและมีองค์เดียวเท่านั้นที่ชื่อนี้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อพระองค์โปรดให้เจ้าชายพนมวังก์จากเพชรบุรีมาเป็น “เจ้านคร” ครอบครอง 2 อาณาจักรศรีวิชัยก็ยิ่งน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกว่า การที่พระองค์ทรงเข้าใจแผ่นดินศรีวิชัย เลือกผู้ที่มีเชื้อสายศรีวิชัยมาปกครองศรีวิชัยเพราะพระองค์เป็น “ศรีวิชัย”กระนั้นหรือ?
ประวัติศาสตร์
การเรียนรู้และการเขียนประวัติศาสตร์ในสมัยปัจจุบันจะต้องพูดถึงการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่พูดถึงอาชีพและรายได้ ส่วนสังคมต้องพูดถึงศาสนา การศึกษา ศิลปะ วัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นตัวหลัก แต่ประวัติศาสตร์ในอดีตจะมีแต่การเมืองการปกครองของกษัตริย์ผู้ปกครอง ส่วนอื่นจะเป็นการส่งเสริมให้กษัตริย์ดูเด่นล้ำขึ้นเท่านั้น ประวัติศาสตร์สมัยก่อนจึงเรียกกันทั่งไปว่า “พงศาวดาร” คือเรื่องของกษัตริย์ที่ “อวตาร”มาจากเทพเจ้าเป็นหลักดังนั้นบทความนี้ จึงขอนำเสนอประวัติศาสตร์แบบพงศาวดารเพื่อเน้น “นครศรีธรรมราช เมืองประวัติศาสตร์” เท่านั้น
สรุป จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด จะทำให้เราเห็นว่า นครศรีธรรมราชหรือนครแห่งพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่สามารถร้อยรัดเหตุการณ์ต่างๆทุกยุคทุกสมัยเข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะและมีบทบาทเข้าไปร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ ตลอดมาตั้งแต่ยุคตามพรลิงค์และก่อนยุคศรีวิชัย ยุคสุโขทัย และอยุธยา ประวัติศาสตร์เหล่านี้จะบอกถึง “ศักดิ์ศรี” อันสูงส่งของนครศรีธรรมราช ในอดีตที่คนปัจจุบันเช่นเราควรนำศักดิ์ศรีนั้นมาใช้ให้สมคุณค่าที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างสมมาเพื่ออนาคนของเมืองนครเราจึงต้อง “สั่ง”และ “สอน”ลูกหลานของเราให้เรียนรู้ เข้าใจ อธิบายได้ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองนคร และนำประวัติศาสตร์นั้นมาใช้เพื่อ “พุทธภูมิ”อันยิ่งใหญ่ของนครศรีธรรมราช สืบไป เพราะจากบริบทที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดแสดงว่านครศรีธรรมราช เป็นชุมชนใหญ่มาก่อน พ.ศ. 245 ที่ศาสนาพุทธจะเผยแผ่เข้ามา ดังนั้นอายุนครศรีธรรมราชจะต้องนับตั้งแต่ พ.ศ.245 ถึงปัจจุบัน (2558) อายุเมืองนครก็จะเป็น 2,313 ปี ไม่ใช่ 818 ปีดังที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีกรุงเทพต้องการให้เราเป็น!!!
cr : Tambralinga – วันที่ 28 ธ.ค. 50
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ปิดกิจกรรมวันเดย์ทริป นครศรีธรรมราช