ไหว้พระ ๙ วัด (โบราณ) ๙ เสริมสิริมงคล นครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม

10558
views
ไหว้พระ ๙ วัด นครศรีธรรมราช

#นครศรีธรรมราช มีที่เที่ยวเยอะมากมาย ทั้งป่าเขา ธรรมชาติ ทะเล ชุมชน วิถีชีวิต ของกิน นคร ฯ นครศรีธรรมราช นครแห่งอารยธรรม “มุ่งมั่น สร้างสรรค์ ร่วมกันพัฒนานครศรีธรรมราช”

.. ใครที่กำลังวางแผนเดินทางไปไหว้พระ ทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ให้กับตัวเองและครอบครัว วันนี้แอดมินมี ๙ วัดโบราณในจังหวัดนครศรีธรรมราช มาแนะนำค่ะ ทั้ง ๙ วัดนี้มีพระพุทธรูปโบราณที่มีความศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช และมีความสำคัญมาหลายยุคหลายสมัย

ใครได้ไปกราบไหว้ ขอพร แอดมินเชื่อว่าจะต้องอิ่มบุญ สุขใจ และเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้อย่างแน่นอน และนอกจากนั้นยังได้เที่ยวชมโบราณสถานกันอีกด้วย ซึ่งทั้ง ๙ วัดนี้สามารถเดินทางได้ครบภายในวันเดียว แบบ One Day Trip ได้เลยค่ะ

วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร

๑. โบราณสถานวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

ตั้งอยู่ ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่สำคัญคู่เมืองนครศรีธรรมราช กำหนดอายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ – ๑๘ /สมัยอยุธยา /และสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญ ได้แก่

(๑) พระมหาธาตุเจดีย์ ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะของพระมหาธาตุเจดีย์ มีฐานประทักษิณสูง มีซุ้มช้างล้อม ๒๒ ซุ้ม สลับด้วยซุ้มพระพุทธรูปยืน ๒๕ องค์ พื้นที่ส่วนนี้มีระเบียงล้อมรอบเรียกว่า “วิหารทับเกษตร” ถัดขึ้นไปเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงโอคว่ำ บัลลังก์ ก้านฉัตรซึ่งประดับรูปพระสงฆ์ประทักษิณจำนวน ๘ รูป เรียกว่า “พระเวียน” ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน และปลียอดซึ่งหุ้มด้วยทองคำแท้

(๒) นอกจากนั้น ภายในบริเวณวัดยังมีโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอีกหลายแห่ง อาทิ วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารโพธิ์พระเดิม วิหารธรรมศาลา ระเบียงคต พระวิหารหลวง (หรือพระอุโบสถ) มณฑปพระพุทธบาท และเจดีย์รายนับร้อยองค์

(๓) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ กรมศิลปากรได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่า ส่วนฐานของพระมหาธาตุเจดีย์มีอิฐก่อเรียงเป็นระเบียบลึกลงไปเกือบ ๓ เมตร กำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ ๑,๑๐๐ ปีมาแล้ว

หอพระพุทธสิหิงค์

๒. โบราณสถานหอพระพุทธสิหิงค์
ตั้งอยู่ ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปโบราณคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช อายุสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ – ๒๒

วัดหน้าพระลาน

๓. โบราณสถานวัดหน้าพระลาน
ตั้งอยู่ ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดโบราณ ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ และสิ่งสำคัญอื่น ๆ ได้แก่

(๑) พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยทรงเครื่อง สำริด ศิลปะอยุธยา กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๖ หน้า ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒

(๒) พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัยสองพระหัตถ์ สำริด ศิลปะอยุธยา กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๑๖ หน้า ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒

(๓) นอกจากนั้น ภายในวัดยังมีบ่อน้ำสำคัญ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๖ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ถูกนำไปประกอบพิธีทำน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าบ่ออื่นใดในเมืองนครศรีธรรมราช ผู้ใดได้ดื่มกินน้ำในบ่อนี้จะเป็นผู้มีสติปัญญาดี และมีวาสนาสูง

เจดีย์ยักษ์

๔. โบราณสถานพระเจดีย์ยักษ์
ตั้งอยู่ ถ.ราชดำเนิน ต.คลัง อ. จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดโบราณคู่กับวัดพระเงิน ภายในประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ได้แก่

(๑) เจดีย์ยักษ์เป็นเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่ ส่วนยอดมีเพียงปล้องไฉน ปลียอดหักไป จากลักษณะรูปแบบศิลปกรรมสันนิษฐานว่ามีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙

(๒) ทางด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นด้านหน้าของพระเจดีย์ยักษ์ มีศาลาพระเงินหรือวิหารพระเงิน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระเงิน พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราชที่สำคัญอีกองค์หนึ่ง

วัดท้าวโคตร

๕. โบราณสถานวัดท้าวโคตร
ตั้งอยู่ ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดโบราณ กำหนดอายุราวสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดนี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชทางด้านทิศใต้ เดิมบริเวณนี้มีวัดตั้งอยู่ ๕ วัด คือ วัดประตูทอง วัดธาราวดี (วัดไฟไหม้) วัดวา วัดศพเดิม และวัดท้าวโคตร ภายในวัดท้าวโคตรประกอบด้วยสิ่งสำคัญ เช่น

(๑) เนินโบราณสถาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของอุโบสถ ปัจจุบันได้สร้างอาคารขนาดเล็กบนเนินนี้ ภายในมีพระพุทธรูปประทับนั่ง ๓ องค์ เรียกว่า วิหารหลวงพ่อสบเดิม

(๒) อุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารทรงไทย ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง จีวรทาสีชาด และมีภาพจิตรกรรมเขียนบนไม้กระดานคอสองเล่าเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดก สันนิษฐานว่าเขียนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

(๓) เจดีย์หรือพระปรางค์ขนาดสูงใหญ่ ก่อด้วยอิฐและบางส่วนใช้หินปะการังเป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนยอดพังทลาย

วัดเสมาชัย

๖. โบราณสถานวัดเสมาชัย
ตั้งอยู่ ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมเป็นวัดคู่กับวัดเสมาเมือง เป็นวัดหลักบ้านหลักเมืองหรือวัดชัยมงคล ต่อมาวัดได้ร้างลง จึงถูกยุบรวมให้อยู่กับวัดเสมาเมือง จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๙ กรมการศาสนาจึงอนุญาตให้นำพื้นที่วัดเสมาชัยไปตั้งโรงเรียนใช้ชื่อว่า โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่

(๑) ศาลเจ้าพ่อเสมาชัยและเจ้าแม่อ่างทอง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นโบราณ จำนวน ๔ องค์

(๒) นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งใช้ทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์ ใช้ประพรมกองทหารเมื่อออกศึกสงคราม ใช้ทำน้ำพิพัฒน์สัตยาของบ้านเมือง ใช้ทำน้ำอภิเษกในพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งชาวเมืองนครก็นิยมนำน้ำบ่อนี้ไปประพรม อาบดื่มกินเพื่อความเป็นสิริมงคล

วัดชายนา

๗. โบราณสถานวัดชายนา
ตั้งอยู่ ถ.พัฒนาการทุ่งปรัง ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ร่วมสมัยกับวัดท้าวโคตรและวัดศพเดิม เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบัว พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก

ในอดีตวัดชายนาเคยเป็นวัดที่พระครูวินัยธร (ท่านกาชาด) นักปราชญ์ในสมัยรัชกาลที่ ๒ จำพรรษาอยู่และเป็นผู้แต่งหนังสือ “สุบิน” ฉบับสำนวนภาษาท้องถิ่น ภายในวัดประกอบด้วยสิ่งสำคัญ ได้แก่ อุโบสถ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย จำนวน ๓ องค์ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่บริเวณผนังด้านหลังพระพุทธรูป เป็นภาพซุ้มเรือนแก้ว รูปเทวดา และสัตว์ในเทพนิยาย

วัดสรรเสริญ (วัดสอ)

๘. โบราณสถานวัดสรรเสริญ (วัดสอ)
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านบ้านสอ ถ.บ้านสอ ต.ขุนทะเล อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดโบราณ กำหนดอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลาย และสมัยรัตนโกสินทร์ สิ่งสำคัญภายในวัด ได้แก่

(๑) พระประธานปูนปั้นภายในอุโบสถหลังเก่า

(๒) พระพุทธรูปทองเหลืองปางอุ้มบาตร (พระลาก)

วัดสรรเสริญ (วัดสอ)

(๓) ศาลาการเปรียญ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗

(๔) เจดีย์ทรงระฆัง สูง ๕ เมตร

(๕) ภาพเขียนสีฝุ่นเรื่องพุทธประวัติและนิทานชาดกบนแผ่นไม้แผงคอสองในอุโบสถ

(๖) ระฆังสำริดโบราณ

วัดวังไทร

๙. โบราณสถานวัดวังไทร
ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านวังไทร ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติวัดวังไทรว่า เดิมแถบนี้เป็นป่าดง มีช้างอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่ง จึงสั่งให้พระยาไทรบุรี – ยะรัง เป็นหัวหน้ามาตั้งเพนียดจับช้างเพื่อส่งให้แก่เมืองหลวง

จึงได้มาสร้างที่พำนักหรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าวังอยู่บริเวณนี้ จึงเรียกว่า “วังพระยาไทร” ต่อมาจึงเพี้ยนเป็น “วังไทร” อย่างไรก็ดี ชื่อวังไทรนี้บ้างก็ว่ามาจากชื่อต้นไทรใหญ่ที่อยู่ริมคลองในบริเวณวัด โบราณสถานสำคัญภายในวัด ได้แก่ เจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง จำนวน ๔ องค์ ตั้งเรียงตามแนวทิศตะวันออก – ทิศตะวันตก

ซึ่งกรมศิลปากรขุดค้นขุดแต่งและบูรณะในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด ส่วนเรือนธาตุย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนองค์ระฆังเป็นดินเผาแกะสลักลวดลาย มีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นที่งดงาม

ที่มา – สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE