‘น้าสน’ จัดให้ ”สาวะถีโมเดล” ปลดหนี้เป็น 0 ทั้งตำบลใน 3 ปี

1563
views
สาวะถีโมเดล

ขอนแก่น-“น้าสน”ทุ่มสุดตัวดัน “สาวะถีโมเดล” นำร่องโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ประชาชนเป็นหุ้นส่วนควบคู่กับการจัดตั้งนิคมเกษตรอินทรีย์ที่ใช้น้ำบาลดาลสูบน้ำด้วยโซล่าร์เซลล์ คาดปลดหนี้เป็นศูนย์ทั้งตำบลใน 3 ปี

….หลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบเปิดรับซื้อกระแสไฟฟ้าล็อตแรก 700 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2563 โดยมีการตั้งคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชน โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกโครงการที่เอกชนยื่นเสนอเข้ามา โดยตามแผนการโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนจะสามารถให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอให้คณะกรรมการฯพิจารณาได้ภายในเดือนมกราคม ปี 2563 นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

(19 ธ.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  เดินทางไปพบปะกับผู้นำวิสาหกิจชุมชนจากหลายจังหวัดภาคอีสาน กว่า 1 พันคน ที่ บ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อรับฟังความเห็นและนำเสนอรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนคร ที่จะเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศทั้งรูปแบบการทำการเกษตรโดยใช้น้ำบาดาลที่สูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล

นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยเกษตรกรเร่งหาแนวทางให้เกิดการดำเนินงานที่มีรายได้ยั่งยืน โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายในการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน วันนี้จึงได้เอานโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน มาให้ชาวขอนแก่นที่ถือเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานจะได้รับทราบและจะมีส่วนร่วมหรือมีโอกาสในการร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของรัฐบาลได้อย่างไร  โดยโรงไฟฟ้า ชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงเพราะจะได้ขายวัตถุดิบที่เป็นพืชพลังงาน หรือเศษวัสดุเหลือใช้จากทางการเกษตรให้กับโรงไฟฟ้าและยังมีส่วนในการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ที่สำคัญที่ใดเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ที่อยู่บริเวณรัศมีโรงไฟฟ้า จะมีค่าไฟที่ถูกลง โครงการนี้เน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ประโยชน์ที่ทำให้ประชาชนดีขึ้น เช่นการแก้หนี้ หรือการไปเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน จะเป็นแกนหลัก ซึ่งการพิจารณาการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน บนความพร้อมของประชาชน

สาวะถีโมเดล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน อยากให้เป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างมีปัญหา เช่น มีน้ำน้อย ปลูกพืชการเกษตรไม่ได้ ถ้าพื้นที่เหล่านั้นมาปลูกไผ่ ปลูกกระถินณรงค์ หญ้าเนเปีย ซึ่งใช้น้ำไม่มาก จะพิจารณากรณีแรก ๆ เพราะเป็นพื้นที่ยากจนอยู่แล้ว เพราะพื้นที่นี้จะต้องเพิ่มแหล่งน้ำเข้าไป เพื่อทำให้พื้นที่นั้นได้รับประโยชน์สูงขึ้นในอนาคต  และยังจะมีการใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานใช้ในการพัฒนาแหล่งน้ำให้ประชาชนที่ร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ได้มีน้ำใช้ทางการเกษตรในระยะยาว เพื่อเป็นการบูรณาการ ที่ไม่ใช่การตั้งโรงไฟฟ้าอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี สร้างเศรษฐกิจที่ดีและแก้ปัญหาให้พื้นที่โดยการขุดบ่อบาดาลและใช้ระบบโซล่าร์เซลล์ ในการสูบน้ำขึ้นมาเป็นแผนบูรณาการที่จะให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชุมชนที่ตั้งโรงไฟฟ้า

ขณะเดียวกันโครงการนี้เน้นที่ความยั่งยืนและป้องกันปัญหาการไม่รับซื้อวัตถุดิบจากประชาชนจากเอกชนที่ร่วมโครงการ โดยจะมีการทำสัญญา หรือพันธะสัญญา ทางการเกษตรระยะยาว 20 ปี เพื่อรับซื้อพืชพลังงาน ทั้งไผ่ กระถินณรงค์หรือหญ้าเนเปีย กับประชาชนเพื่อให้มีรายได้ต่อเนื่อง ที่สำคัญโรงไฟฟ้าชุมชน คนในชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ โดยชุมชนในพื้นที่จะเป็นหุ้นส่วนโรงไฟฟ้า 10-30 เปอร์เซ็นต์ โดยรูปแบบนี้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้นแน่นอน และถือเป็นจุดแข็งของโครงการนี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

สำหรับ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ปริมาณไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (MW) เป็นโรงไฟฟ้าประเภท Non Firm ที่สามารถใช้ระบบกักเก็บพลังงานร่วมด้วยได้ จะเปิดรับซื้อในปี 2563 ปริมาณ 700 MW และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับกรณีโรงไฟฟ้าแบบ Quick Win คือโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างแล้วเสร็จหรือใกล้แล้วเสร็จ ไฟฟ้าจะเข้าระบบภายในปี 2563 ส่วนโครงการทั่วไป เข้าระบบปี 2564 เป็นต้นไป

ส่วนรูปแบบการร่วมทุน จะมีกลุ่มผู้เสนอโครงการ ซึ่งอาจเป็นภาคเอกชนเข้าร่วมกับองค์กรภาครัฐก็ได้ จะถือในสัดส่วน 60 – 90% และอีกกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน (สมาชิกไม่น้อยกว่า 200 ครัวเรือน) ถือในสัดส่วน 10 – 40% (เป็นหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่า 10% และเปิดโอกาสให้ซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกรวมแล้วไม่เกิน 40%) โดยส่วนแบ่งรายได้ จะให้กองทุนหมู่บ้านที่อยู่ใน “พื้นที่พัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น” ของโรงไฟฟ้านั้นๆ โดย หากเป็น โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน) ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 25 สต./หน่วย และกรณีเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไฮบริด ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 50 สต./หน่วย ส่วนราคารับซื้อก็อยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 3 – 5 บาทต่อหน่วยตามแต่ละประเภทเชื้อเพลิง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชนเป็นรูปธรรม โดยคาดว่าในปี 2563 จะสามารถรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วประเทศได้ราว 700 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีส่วนให้ชุมชนมีรายได้จากการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าฯ ลดภาระค่าใช้จ่าย มีรายได้จากการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ลดการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพของชุมชน ตัวอย่างเช่น ห้องเย็น เครื่องจักรแปรรูปการเกษตร เป็นต้น

สาวะถีโมเดล

นายวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง ประธานศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวอย่างมั่นใจว่า นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนคร ที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนและเริ่มเป็นรูปเป็นร่างที่ประกอบด้วยแหล่งผลิตพืชอาหาร พืชสมุนไพรและพืชพลังงาน ในพื้นที่ ประมาณ 2 หมื่นไร่ โดยได้รับการสนับสนุนการจัดสร้างบ่อบาดาลสูบน้ำด้วยโซล่าเซลล์ 58 บ่อ และโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เชื้อเพลิงจากไม้ไผ่ กำลังผลิตประมาณ 1-2 เมกกะวัตต์ที่ประชาชนมีหุ้นในโรงไฟฟ้า จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ชาวบ้านี่ร่วมโครงการจาก 24 หมู่บ้านในตำบลสาวะถีสามารถปลดหนี้ให้เป็นศูนย์(0) ภายใน 3 ปี

วิรัตน์ บอกว่านิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนคร ที่จัดตั้งขึ้นพัฒนามาจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านโนนรัง ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2543 ที่ประสบความสำเร็จในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว พัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวในรูปแบบต่างๆ จนเป็นที่ยอมรับและสามารถสร้างความเป็นอยู่ให้กับสมาชิก 1,030 ครอบครัวมีรายได้มีความเป็นอยู่ที่ดี แต่ปัญหาใหญ่คือการขาดแคลนน้ำทางการเกษตร

บ้านโนนรัง

การจัดระบบนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนคร ที่กำลังจะตั้งขึ้นที่ ต.สาวะถี วิรัตน์บอกว่า จะเป็นการพื้นที่ของเกษตรกรทั้งตำบล 24 หมู่บ้าน สมาชิก 2,500 ครอบครัวและมีการจัดระบบการรวมกลุ่มตามสภาพพื้นที่เพื่อสนับสนุนบ่อบาดาลสูบน้ำโดยโซล่าเซลล์ ให้คลุมพื้นที่ โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหญ่กำหนดนโยบาย และมีกรรมการชุดเล็กคอยดูแลภาคการผลิตในส่วนต่าง ๆ  โรงไฟฟ้าชีวะมวล ที่กำหนดจะตั้งขึ้นภายในนิคมฯ โดยความเห็นของชุมชนจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาด 1 เม็กกะวัตต์ ที่ใช้เงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อไม่ให้โรงไฟฟ้ามีขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนมากเกินไปเพราะจะทำให้ชุมชนเข้าไม่ถึงในระบบการบริหารจัดการ

วิรัตน์ กล่าวอย่างมั่นใจว่านิคมอุตสาหกรรมเกษตรอินทรีย์สาวะถีนคร ที่เดิมในพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ทั้งตำบลโดยไม่ใช้สารเคมีอยู่แล้ว จะเป็นโมเดลเริ่มต้นที่จะกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเตรียมการกับหลายภาคส่วนมีการวางแผนจะนำความสำเร็จของโครงการไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดร้อยเอ็ด,ขอนแก่น,มหาสารคาม,กาฬสินธุ์ ต่อไป

 
ถมนคร : คุณค่าที่คู่ควร ถมนคร, thomnskhon
 
SHARE