ติดตามความคืบหน้าการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร(พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช) เพื่อขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลก ประจำปี 2559
นายศิริพัฒ พัฒกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า คณะกรรมการกองทุนมรดกโลก ได้รายงานยอดเงินกองทุน “พระบรมธาตุสู่มรดกโลก” ให้ทราบว่าปัจจุบันมียอดเงินทั้งสิ้น 4,971,974.79 บาท
ด้านคณะกรรมการฝ่ายวิชาการ ได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำเอกสาร Normination Dozzier ฉบับภาษาอังกฤษ คาดว่าจะแปลแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข จากนั้นส่งไปให้กรมศิลปากรทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 เพื่อส่งไปให้คณะกรรมการมรดกโลกตรวจสอบความสมบูรณ์ ถูกต้องในขั้นต้น
จากนั้นจะมีการส่งกลับมาให้ปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง ส่วนคณะกรรมการฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่แหล่งมรดกโลก ในส่วน Core Zone ได้มีการปรับปรุงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในวัดพระมหาธาตุฯ เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำทั้งที่อยู่ภายในวัดและเชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำของเทศบาล พร้อมทั้งออกแบบระบบการระบายน้ำในระยะยาวเพิ่มเติมด้วย
สำหรับพื้นที่ Buffer Zone ทางเทศบาลนครฯ เตรียมปรับปรุงผิวถนนราชดำเนินตั้งแต่แยกประตูไชยสิทธิ์ถึงแยกตลาดแขก คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมิถุนายน 2559 เมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและ ทีโอที นำสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ลงใต้ดินเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์จะได้จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์การสร้างความเข้าใจ ในขั้นตอนการนำเสนอวัดพระมหาธาตุฯ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รวมทั้งการซ่อมแซมบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นต่อไป
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำหรับประเด็นสำคัญคือการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ที่เป็นคราบคล้ายสนิมนั้น ได้รับการรายงานจากนายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช
ว่าได้มีการตรวจวิเคราะห์ครั้งสุดท้ายแล้วว่า คราบสีคล้ายสนิมดังกล่าวมากกว่าร้อยละ 90 เกิดจากสีของตะกั่ว ที่หุ้มปลียอดซึ่งอยู่ภายในเพื่อรองรับแผ่นทองคำที่หุ้มอยู่ภายนอก เป็นการป้องกันไม่ให้แผ่นทองสึกร่อน เมื่อมีการเสียดสีของพื้นผิวจากแรงลม เป็นภูมิปัญญาโบราณ แต่เมื่อคราบดังกล่าวไหลลงมากระทบและทำปฏิกิริยากับแสงอาทิตย์และสีอะคริลิคสีขาว ทำให้เห็นชัดเจนขึ้น
สำหรับการซ่อมแซมบูรณะนั้นได้มีการลงนามในสัญญาจ้างแล้ว ในวงเงิน 5 ล้านบาทเศษ ในจำนวนนี้เป็นค่านั่งร้าน 5 แสนบาท ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน ซึ่งขณะนี้ผู้รับจ้างกำลังติดตั้งนั่งร้านเพิ่มเติมเพื่อเสริมความมั่นคงแข็งแรงจากนั่งร้านเดิม เพื่อให้สามารถเจ้าหน้าที่ขึ้นปฏิบัติงานได้คาดใช้เวลาติดตั้ง 1 เดือน
โดยในขั้นแรกจะมีการขูดลอกสีอะคริลิคสีขาวที่ทาองค์พระบรมธาตุออกทั้งหมดตั้งแต่ปล้องไฉนลงมา หากพื้นผิวส่วนใดที่ชำรุด หมดสภาพก็จะซ่อมแซม โดยใช้ปูนหมักและปูนตำแบบโบราณ
ซึ่งจะไม่ใช้สีอื่น ๆ ใดมาทาทับอีก จะปล่อยให้สีองค์พระบรมธาตุเปลี่ยนไปตามธรรมชาติเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งใช้เวลา 2-3 ปี สีจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีดำ นอกจากนี้ยังมีการบูรณะกลีบบัวคว่ำบัวหงายด้วย
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่อว่า สำหรับการบูรณะปลียอดองค์พระบรมธาตุนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อกรมศิลปากรว่า เห็นควรให้มีการบูรณะใหม่ทั้งหมดด้วย แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและใช้เวลานานก็ตาม เพื่อให้มีสภาพสมบูรณ์และงดงามมากที่สุด
นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางสำนักศิลปากรที่ 14 จะได้นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ในการบูรณะปลียอดองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เสนอไปยังกรมศิลปากรต่อไป
อย่างไรก็ตามในระหว่างที่กำลังมีการติดตั้งนั่งร้านอยู่นั้น ทางสำนักศิลปากรที่ 14 ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิด และสร้างห้องคลังเก็บทรัพย์สินมีค่าที่วิหารธรรมศาลาควบคู่กันไปด้วย..
ที่มาข่าว – ส.ปชส. นครศรีธรรมราช / ภาพ-คลิป – สำนักข่าวไทย
ศาลจ้าวพ่อตาปะขาว ปากน้ำสิชล