นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงค่าพลังงาน รัฐบาลเราพยายามบริหารความมั่นคงควบคู่ไปกับราคาที่ถูกที่สุด ชี้น้ำมันในประเทศไทยเป็นราคาที่กลาง ๆ ไม่แพงมากนักและพยายามจะให้ราคาแข่งขันในภูมิภาคได้ เพื่อลดภาระประชาชน
หลังนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจใหม่ อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเรื่องเศรษฐกิจ กรณีเสนอให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันลิตรละ 5 บาท และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ผลิต 100% จากเดิมที่ซื้อแค่ 60% แล้วส่วนที่เหลือทิ้งไปเปล่าๆ โดยส่วนเกินที่เดิมไม่ได้ซื้อให้เจรจาซื้อในราคาที่ถูกกว่า ถ้าทำได้จะทำให้ค่าไฟลดลงไปได้ 25-30% ในการอภิปรายวันแรกคืนวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตอบชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ว่าค่าพลังงานที่สมาชิกแนะนำตรงกับทิศทางที่รัฐบาลดำเนินการในปัจจุบัน เพราะต้นทุนพลังงานมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ต้นทุนที่แข่งขันได้นั้นรัฐบาลถือเป็นนโยบายที่สำคัญในการบริหารประเทศ แต่อาจจะมีข้อจำกัดบางประการ
ข้อเสนอแรกที่เสนอให้ลดราคาน้ำมันลง 5 บาทจากราคาปัจจุบัน ขอชี้แจงว่าประเทศเรานำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ดังนั้นต้องมีเรื่องที่พึงระวังหลายเรื่อง เพราะเราไม่มีน้ำมันเอง หากปล่อยให้ราคาไม่สะท้อนตามความจริง จะมีการบริโภคเกินความจริงและรัฐบาลจะต้องแบกรับ สำหรับประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน ราคาน้ำมันของเราไม่ได้แพงเป็นราคากลางๆ เราบริหารราคาให้มีเสถียรภาพ
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเทศเรายังมีโครงสร้างที่แตกต่างจากประเทศอื่น คือ ภาษี โดยภาษีสรรพสามิตที่ทำให้ราคาน้ำมันของเราแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ภาษีนี้จะเป็นรายได้หลักของประเทศ ตรงนี้ทำให้เราไม่สามารถลดลง 5 บาทตามที่เสนอได้ และเมื่อประเทศเราไม่มีน้ำมัน
ต้องเตรียมพร้อมต่อความผันผวนในราคาน้ำมัน เช่นกรณีที่ผ่านมาที่เกิดสถานการณ์ความวุ่นวายในตะวันออกกลาง ราคาผันผวนทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้ผันผวนมากนัก เพราะเรามีวิธีบริหารกองทุนน้ำมัน เราอยากเห็นราคาน้ำมันที่แข่งขันได้ พยายามรักษาเสถียรภาพและเกรดน้ำมัน หลายประเทศในอาเซียนมีเกรดที่ต่ำกว่าเรา เรากำลังไปยูโร 6 แต่หลายประเทศยังอยู่ที่ยูโร 4
นายสนธิรัตน์ กล่าวชี้แจงกรณีที่เสนอให้มีการลดค่ากระแสไฟฟ้าว่า กรณีที่มีผู้สงสัยว่าทำไม่เราไม่ซื้อไฟฟ้าแบบ 100% เพื่อให้ราคาถูกลง เรื่องนี้ขออธิบายว่าไฟฟ้าเราผลิตได้สูงกว่าการใช้งานก็จริง แต่เราต้องบริหารความเสี่ยง คือต้องมีไฟสำรอง ไฟต้องไม่ดับหรือดับแล้วต้องติดให้เร็วที่สุด เรามีเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าหลายประเภท เช่น เขื่อนที่ใช้น้ำ แต่ช่วงที่ไม่มีน้ำหรือน้ำน้อย ตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยง
ส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ก็ไม่สามารถผลิตได้ทั้งวัน นี่คือความเสี่ยงที่เราต้องบริหาร ในแต่ละช่วงเรามีความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่เท่ากัน ช่วงใช้น้อยก็ลดการผลิตลงมา เราใช้ความคิดที่ว่า หากตรงไหนใช้ต้นทุนถูกที่สุดเราจะดึงตรงนั้นมาใช้ เราพยายามบริหารความมั่นคงควบคู่ไปกับราคาที่ถูกที่สุด ซึ่งโครงสร้างราคาพลังงานนั้น เรามีความตั้งใจให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้และเป็นภาระที่ลดลงของประชาชน แต่มีข้อจำกัด
☐ เรื่องน่าสนใจ |
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ปิดกิจกรรมวันเดย์ทริป นครศรีธรรมราช