“เด็กช่างจิตอาสาเมืองคอน”เยาวชนวิทยาลัยเทคนิคสิชล ผลิตอ่างล้างมือเท้าเหยียบให้ตลาด หนุนพฤติกรรมล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ลดเสี่ยงโควิด-19
เมื่อวันที่ 20 เม.ย.63 กลุ่มเยาวชนวิทยาลัยเทคนิคสิชล เครือข่ายเยาวชนนครศรีดีจังฮู้ จับมือกับ สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน พร้อมกับเครือข่ายงดเหล้า จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกันติดตั้ง อ่างล้างมือแบบใช้เท้าเหยียบ บริเวณทางเข้าตลาดสดเทวดา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งก่อนหน้านี้เครือข่ายได้มาร่วมกันฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในพื้นที่ตลาด และ ประชาสัมพันธ์ ถึงแนวทางการปฏิบัติตัวของผู้ค้า และผู้ใช้บริการ เพื่อให้ตลาดเป็นพื้นที่ตลาดปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 มาแล้ว
นายกนกพล คงสุข (น้องแจ็ก) นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสิชล ผู้ออกแบบตัวเหยียบกดน้ำและสร้างอุปกรณ์ล้างมือแบบง่ายๆ ได้กล่าวว่า ในสถานการณ์นี้ ตนและเพื่อนๆได้ปรึกษากับอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิค สิชล ว่าอยากต่อยอดทำอ่างล้างมือที่ไม่ต้องใช้มือเปิดปิดน้ำ ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด -19 จากการสัมผัสที่เปิดปิด โดยประยุกต์จากโมเดลต้นแบบที่เพื่อนๆจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ได้ทำไว้ แต่ประสบปัญหาเรื่องวาวล์เปิดปิดน้ำแบบเท้าเหยียบที่ต้องสั่งจากจีนและใช้เวลานาน
ทำให้มีการออกแบบและทดลองทำกันเพราะผมและเพื่อนๆก็พอมีทักษะทางด้านช่างอยู่ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยนำอุปกรณ์ที่พอหาได้ เช่น ล้อยางรถเก่า กะละมัง มาติดตั้ง เชื่อมต่อกับเหล็ก ต่อเข้ากับก๊อกน้ำ และออกแบบตัวกดน้ำให้เป็นแบบใช้เท้าเหยียบ ซึ่งเมื่อทดลองทำก็ปรากฏว่าสามารถใช้การได้ดี จึงได้ประสานงานกับเพื่อนๆในเครือข่ายนครศรีดีจังฮู้ เพื่อนำเครื่องล้างมือดังกล่าวไปติดตั้งตามตลาดต่างๆ โดยการจัดทำอ่างล้างมือแบบเท้าเหยียบในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี จากอาจารย์และผู้บริหารวิทยาลัยเทคนิคสิชล จ.นครศรีธรรมราช
“อยากชวนเพื่อนๆเด็กช่าง เพื่อนอาชีวะ ในสถาบันต่าง ให้ชวนกันมาลองทำเครื่องล้างมือแบบเท้าเหยียบ มอบให้กับตลาดในพื้นที่ของตัวเอง หรืออาจคิดค้น ออกแบบ โมเดลใหม่ๆ เครื่องมือหรือนวัตกรรมอย่างอื่น ที่เราพอจะใช้ทักษะทางด้านช่างที่พวกเรามีอยู่ในเกิดประโยชน์กับสังคม โดยเฉพาะการรับมือในสถานการณ์ของการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ และหากทุกๆจังหวัดช่วยกันก็จะเป็นประโยชน์มาก ตอนนี้ทราบมาว่ามีเพื่อนๆจากวิทยาลัยเทคนิคพังงา วิทยาลัยการอาชีพตะกั่วป่า วิทยาลัยการอาชีพท้ายเหมือง ก็กำลังทำอ่างแบบนี้ เพื่อสนับสนุนให้ตลาดในจังหวัดพังงาด้วย” นายกนกพล กล่าวทิ้งท้าย
นายองอาจ พรหมมงคล นายกสมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน กล่าวเสริมว่า พื้นที่ตลาดมีความสำคัญกับชุมชน และเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ดังข้อมูลของกรมอนามัย ระบุว่า กลุ่มอายุ 20-29 ปี 30-39 ปี และ 40-49 ปี เป็นกลุ่มอายุที่ออกไปข้างนอกบ่อยที่สุด เมื่อสำรวจแล้วพบว่า คนส่วนใหญ่ที่ออกไปตลาดอยู่ในช่วงอายุ 30-49 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง สอดคล้องกับอายุผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอายุในช่วง 30-49 ปี มีจำนวนถึง 41.22% ทำให้ตลาดเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง
จึงประสาน ภาคเครือข่าย และชุมชน ในการระดมติดตั้ง จุดล้างมือแบบเท้าเหยียบ และ มีได้รับการสนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ทั้งสปอตเสียงตามสาย ป้าย บอร์ดสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ โดยเราจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนกับ พื้นที่ตลาดนั้นๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเข้าไปหนุนเสริมกันบ้างแล้วเช่นการฉัดพ่นฆ่าเชื้อ การแจกสื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้น หัวใจหลักคือการร่วมกันสร้าง ตลาดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อโควิด 19 เพราะตลาดคือ พื้นที่อาหารของชุมชน มีวิถีชีวิตของชาวบ้านจำนวนมากที่นี่
ด้านนายสรวิชญ์ อิสระวัฒนา ตัวแทนตลาดสดเทวดา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีมากๆที่เยาวชนให้ความสำคัญ และร่วมกันสร้างพื้นที่ตลาดให้ปลอดภัย ซึ่งทางตลาดเองก็มีความเป็นห่วงและมีมาตรการที่ค่อนข้างเข้มงวดมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งการสวมหน้ากาก การรักษาระยะห่าง และ จุดคัดกรอง ตามนโยบายกรมอนามัย และเมื่อมีจุดล้างมือแบบใช้เท้าเหยียบและการประชาสัมพันธ์ที่เข้มข้น ก็จะสร้างความมั่นใจให้ผู้มาจ่ายตลาดได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามอยากขอให้ทุกตลาดตระหนักและตื่นตัวในเรื่องนี้ให้มาก เราควรปรับตัวและทำทุกอย่างเพื่อความปลอดภัย ก่อนที่ตลาดของเราจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ และถูกสั่งปิด ซึ่งเกิดผลกระทบตามมามากมาย การรักษาตลาดให้ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องของทุกคน เราต้องสร้างมาตรฐานใหม่ มิใช่ทำแค่ช่วงสั้นๆและกลับไปแบบเดิม วันนี้ต้องมองเกมยาวมีการปรับตัวจริงจัง สวมหน้ากาก ล้างมือ รักษาระยะห่าง และวางแผนการซื้อของเพื่อใช้เวลาในตลาดให้น้อยที่สุด
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ปิดกิจกรรมวันเดย์ทริป นครศรีธรรมราช