นครศรีธรรมราช – เทศบาลเมืองปากพนัง จ่ายแล้ว 2,000 บาท เยียวยาประชาชนที่กระทบโควิด-19 เกือบ 4,000 ครัวเรือน เป็นเงินเกือบ 8 ล้านบาท
กรณีที่เทศบาลเมืองปากพนัง อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเป็นเงินยังชีพจำนวน 2,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นให้กับประชาชน หลังได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด – 19 ของรัฐบาลและจังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยทางเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองปากพนัง ดำเนินการลงพื้นที่บริการประชาชนถึงที่บ้านเพื่อรับลงทะเบียนและสำรวจข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน – 3 พฤษภาคม 2563 ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดเทศบาลบาลเมืองปากพนัง ได้โอนเงินเยียวยาจำนวน 2,000 บาทต่อครัวเรือน ผ่านบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนไว้ ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับผลกระทบ ที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ไม่มีบัญชีธนาคาร ทางเทศบาลเมืองปากพนังได้อำนวยความสะดวกตั้งโต๊ะที่ศาลาประชาคม ภายในสำนักงานเทศบาลฯ เพื่อจ่ายเช็คเงินสดช่วยเหลือครัวเรือนละจำนวน 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการตั้งจุดคัดกรอง วัดไข้ ล้างมือฆ่าเชื้อด้วยเจล และขอความร่วมมือประชาชนสวมหน้ากากอนามัยทุกคน
นายพิเชษฐ์ กล้าสุคนธ์ นายเทศมนตรีเมืองปากพนัง ระบุว่า มีผู้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา รวมทั้งสิ้น 3,961 ครัวเรือน คิดเป็นเงิน 7,922,000 บาท สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยากับทางเทศบาลไว้ แต่ไม่ได้แจ้งบัญชีธนาคารไว้ สามารถเดินทางมารับเช็คเงินสดจำนวน 2,000 บาท พร้อมนำบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดงที่หอประชุมเทศบาลเมืองปากพนัง ตั้งแต่วันที่ 27 – 28 พ.ค.63 เวลา 13.00 – 16.30 น. ส่วนการที่จ่ายเงินโดยการโอนเข้าบัญชีโดยตรง หรือจ่ายเป็นเช็คเงินสด สำหรับผู้ที่ไม้ได้แจ้งบัญชีธนาคารไว้ ก็เพื่อความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และป้องกันการถูกครหาเรื่องการทุจริตด้วย
นายพิเชษฐ์ กล้าสุคนธ์ นายกเทศมนตรีเมืองปากพนัง กล่าวด้วยว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียน
1. เป็นผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลเมืองปากพนัง ณ วันที่ประกาศ คือ 24 เมษายน 2563 ,
2.ผู้ที่มายื่นแบบคำขอลงทะเบียนต้องเป็นเจ้าของบ้าน หรือตัวแทนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเพียงคนเดียวเท่านั้นและกำหนดให้หนึ่งบ้านเลขที่เป็นหนึ่งครอบครัว
3.เป็นแรงงาน ลูกจ้าง หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ
4.เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
4.1)เป็นผู้ประกอบกิจการ และได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรค ทำให้ต้องหยุดการประกอบกิจการ หรือไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ส่งผลให้ขาดรายได้ หรือรายได้จากการประกอบอาชีพลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ในการดำรงชีพ
4.2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างในสถานประกอบการ ซึ่งถูกเลิกจ้าง ถูกพักงาน หรือลดเวลาทำงาน ทำให้ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้รับค่าจ้างลดลง ส่งผลให้ขาดรายได้ หรือมีรายได้ลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ในการดำรงชีพ
4.3) เป็นผู้มีฐานะยากจน ด้อยโอกาส ประกอบอาชีพด้วยความยากลำบากจากการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ทำให้ประสบปัญหาในการดำรงชีพ
5.) ไม่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานเทศบาล ลูกจ้าง ลูกจ้างประจำ ผู้รับบำนาญ จากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือธนาคาร หรือเอกชน หรือผู้ซึ่งได้รับค่าจ้างรายเดือนจากหน่วยงานของรัฐ นักพรต นักบวช
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ปิดกิจกรรมวันเดย์ทริป นครศรีธรรมราช